×

ธุรกิจครอบครัวฝ่าวิกฤตโควิด-19: สร้างคุณค่าธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี

30.04.2021
  • LOADING...
ธุรกิจครอบครัวฝ่าวิกฤตโควิด-19: สร้างคุณค่าธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี

วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถาโถมมาหลายระลอก คงสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจไม่มากก็น้อย เจ้าของธุรกิจครอบครัวทุกคนมีความหวังและความต้องการให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นและสืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนานสามารถส่งต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน 

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่มีโรคระบาดโควิด-19 ก็มีปัจจัยอีกหลายประการที่อาจมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างธุรกิจ หลายครอบครัวจึงต้องมีการทำ Business Transformation กันยกใหญ่ ไม่เพียงแค่นั้น เคยได้ยินหรือไม่ว่า ‘การบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นก็ว่ายากแล้ว แต่การบริหารครอบครัวยากยิ่งกว่า’ เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะความสำเร็จของการบริหารครอบครัวอาจมีความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัวมีความยั่งยืนได้

 

การทำให้การกำกับดูแล ‘เหมาะสมกับเป้าประสงค์’ (‘Fit for Purpose’ Governance Management)

อาจมีคำถามว่าในฐานะเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และสมาชิกในครอบครัว ต้องดำเนินการอย่างไร ธุรกิจครอบครัวถึงจะประสบความสำเร็จได้

 

หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ธุรกิจครอบครัวมีวิวัฒนาการ จากเดิมเป็น ‘ครอบครัวที่เป็นเจ้าของและผู้เป็นเจ้าของบริหารงานเอง’ ซึ่งพบได้บ่อยในบริษัทหรือครอบครัวรุ่นที่หนึ่ง (Generation 1) และรุ่นที่สอง (Generation 2) ไปสู่การเป็น ‘ครอบครัวที่เป็นเจ้าของ แต่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้บริหารงานเอง’ โดยสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของหรือเป็นเพียงคณะกรรมการเท่านั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันอาจไม่ได้มีเพียงแค่สมาชิกในครอบครัวทำงานร่วมกันเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้โครงสร้างการกำกับดูแลจำเป็นที่จะต้องถูกปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ รูปแบบในการกำกับดูแลจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของธุรกิจ โดยมุ่งไปสู่รูปแบบที่เป็นทางการมากขึ้น ทั้งในด้านโครงสร้าง การบริหารจัดการ การตัดสินใจทางธุรกิจ และความความสัมพันธ์ในครอบครัว 

 

ใครมีบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจครอบครัว (Whose role is it govern?)

หลายครอบครัวอาจประสบปัญหาว่าเจ้าของธุรกิจรุ่นที่หนึ่งหรือสองซึ่งเป็นรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ของเรา รักและหวงแหนธุรกิจที่สร้างขึ้นมากับมือ ทำงานมาอย่างหนักจนประสบความสำเร็จแม้จะเริ่มต้นจากศูนย์ ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ได้เห็น แม้ว่าจะได้รับการศึกษาที่สูงมา เมื่อคนต่างรุ่น ต่างแนวทาง ต่างทัศนคติมาทำงานร่วมกัน จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น

 

ธุรกิจครอบครัวจึงจำเป็นต้องหาทางออกที่ลงตัวกับทั้งสองฝ่าย ครอบครัวทุกรุ่นร่วมกันวางแผนและใช้ระบบในการกำกับดูแล เพื่อให้สมาชิกอาวุโสในครอบครัวมีโอกาสไตร่ตรองถึงสิ่งที่สร้างขึ้นและส่งต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์และคอนเน็กชันที่มีไปยังสมาชิกรุ่นถัดไป ในขณะเดียวกัน สมาชิกรุ่นถัดไปของครอบครัวก็สามารถนำมุมมองใหม่ๆ มาใช้ในการรับมือกับความท้าทายที่คนรุ่นปัจจุบันกำลังเผชิญทั้งในครอบครัวและในการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของคนรุ่นถัดไป ทำให้พวกเขามีโอกาสร่วมสร้างระบบการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่พวกเขาจะดูแลในท้ายที่สุด ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทบทวนเป้าหมาย ค่านิยมหลักของครอบครัว วัฒนธรรม และวิสัยทัศน์ของธุรกิจด้วย

 

กลไกการกำกับดูแลครอบครัว (The Mechanisms of Family Governance)

เป้าหมายของการกำกับดูแลครอบครัวที่ดีคือ เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกในครอบครัวมีการติดต่อ และมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นตลอดจนความกังวลร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้อย่างมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยภายในครอบครัวบางครั้งเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินธุรกิจ

 

กลไลการกำกับดูแลครอบครัวที่แข็งแรงอาจรวมถึง ‘สภาครอบครัว’ และการจัดทำ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ โดยมีแนวทางในการตัดสินใจที่ชัดเจนโดยสมาชิกครอบครัว เพื่อครอบครัวและเพื่อธุรกิจครอบครัว และช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกครอบครัว กรอบแนวคิดนี้ก่อให้เกิดความเป็นมืออาชีพของธุรกิจและการทำงานร่วมกันภายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มก้าวไปสู่รุ่นลูกและรุ่นหลาน โดยธรรมนูญครอบครัวอาจรวมถึงการตกลงในเรื่องการจัดการทรัพย์สิน เนื่องจากในบางครอบครัว ขนาดธุรกิจและจำนวนทายาทอาจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อลดปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ กลไกการกำกับดูแลครอบครัวยังช่วยสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและเป้าหมายทางครอบครัว เป็นศูนย์กลางและช่วยในการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับครอบครัว 

 

การส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ความยืดหยุ่นและการสื่อสาร (Promoting Cohesion, Flexibility and Communication)

ในอดีตที่ผ่านมา อาจพบเห็นความขัดแย้งในหลายครอบครัวที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือล่มสลายของธุรกิจครอบครัวได้ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและคาดเดาไม่ได้ การหลีกเลี่ยงไม่ถือเป็นกลยุทธ์ในการแก้ไขความขัดแย้ง แต่ความยืดหยุ่นและการเปิดใจรับฟังต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของสมดุลระหว่างความมั่นคงและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจครอบครัว 

 

ระบบการกำกับดูแลครอบครัวที่มีประสิทธิผลจะเป็นแกนหลักของครอบครัว ที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว และช่วยให้เกิดการสื่อสารที่สามารถป้องกันความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความเป็นกลางและส่งเสริมความสามัคคีในครอบครัวได้ ทั้งนี้ การสื่อสารอย่างเป็นทางการอาจผ่านรูปแบบการประชุมครอบครัวและสภาครอบครัวที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ความโปร่งใสและตรงไปตรงมาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพูดคุยภายในครอบครัวได้

 

ลงทุนในทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของครอบครัว (Investing in the Family’s Most Valuable Assets)

ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดที่ควรลงทุนคือ สมาชิกในครอบครัวรุ่นถัดไปที่จะนำพาธุรกิจและครอบครัวไปข้างหน้าได้ การนำแนวคิด ‘ครอบครัวแห่งการเรียนรู้’ มาใช้ โดยการตั้งคณะกรรมการการศึกษาและอาชีพในครอบครัวขึ้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการกำหนดแนวทางการให้การศึกษาแก่สมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ อาจกำหนดหลักเกณฑ์การให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาและเงินสวัสดิการ ตลอดจนที่มาของเงินสนับสนุนดังกล่าวไว้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งของสมาชิกในครอบครัว หลักสูตรเฉพาะสำหรับครอบครัวอาจรวมถึงค่านิยม ประเพณี และเจตนารมณ์ของครอบครัวด้วย 

 

การศึกษาของสมาชิกในครอบครัวไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่ยังรวมถึงโอกาสในการเรียนรู้นอกระบบภายในธุรกิจ หลายครอบครัวเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ให้แก่สมาชิกในครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย โดยการฝึกงานหรือมีส่วนร่วมในคณะกรรมการรุ่นเยาว์ หรือเป็นผู้สังเกตการณ์ของสภาครอบครัวหรือคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการสืบทอดธุรกิจและการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งต้องมีการวางแผนและสื่อสารร่วมกันอย่างเป็นทางการ อาจทำได้โดยการกำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัวแต่เนิ่นๆ เพื่อกำหนดตัวผู้สืบทอดไว้ล่วงหน้า ทั้งเพื่อให้มีการเตรียมตัวและลดปัญหาแรงเสียดทานของสมาชิกในครอบครัว ความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการวางแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นระบบ

 

การเลือกที่จะมีธรรมาภิบาลที่ดีในธุรกิจครอบครัวเป็นส่วนผสมที่สำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ธรรมาภิบาลของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ และเป็นเครื่องมือในการก่อตั้งกลไลในการควบคุม กระบวนการธรรมาภิบาลครอบครัวและโครงสร้างมีประโยชน์ในหลายวัตถุประสงค์ ไม่เพียงแค่เป็นการสนับสนุนการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่แข็งแรง แต่ยังช่วยในการกำหนดว่าใครคือสมาชิกในครอบครัวและสิ่งที่ครอบครัวต้องการบรรลุ ซึ่งจะเป็นแนวทางพื้นฐานให้กับครอบครัวในการฝ่าฟันกับปัญหาหรือวิกฤตการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแค่วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X