ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแต่มีส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนมากทั่วโลกอีกด้วย ในส่วนของประเทศไทย รากฐานกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนมาจากธุรกิจครอบครัวเช่นกัน ดังนั้นธุรกิจครอบครัวน่าจะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตการณ์โควิด จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะต้องให้การสนับสนุนธุรกิจครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิดนี้ไปได้ เพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกให้สำเร็จ
ซีรีส์ ‘การกลับมาอย่างผู้เชี่ยวชาญ: ธุรกิจครอบครัวมีชัยเหนือโควิดได้อย่างไร’ นี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิดต่อธุรกิจครอบครัว ไปจนถึงกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวได้นำมาใช้ และคาดว่าจะนำมาใช้เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวของตนสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เราจะพูดคุยกันได้รวบรวมจากธุรกิจครอบครัวทั่วโลก โดย STEP Project Global Consortium และ KPMG Private Enterprise ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์ในการปรับใช้กับธุรกิจครอบครัวของไทยเรา
สำหรับตอนที่หนึ่งนี้ จะมาพูดคุยกันถึงผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิดต่อธุรกิจครอบครัว และสิ่งที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวได้ดำเนินการโดยทันที ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ระยะสั้น เพื่อรักษา ปรับตัว หรือแม้กระทั่งขยายธุรกิจในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจากธุรกิจครอบครัวไทยและธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวหรือไม่
ผลกระทบของโควิดต่อธุรกิจครอบครัว (Impact of COVID-19 to Family Business)
ข้อบ่งชี้หลักจากผลกระทบของโควิดต่อภาคธุรกิจทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว จะสะท้อนให้เห็นได้จากรายได้ของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในตลาด และความจำเป็นในการใช้มาตรการลดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของรัฐบาล โดยพบว่าร้อยละ 69 ของธุรกิจครอบครัวมีรายได้ลดลงในช่วงแรก ร้อยละ 22 มีรายได้เท่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 9 ได้รับผลกระทบในเชิงบวก ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นหลังการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ ในแต่ละภูมิภาคมีแนวโน้มสอดคล้องกับภาพรวมระดับโลก แต่พบว่าร้อยละ 84 ของธุรกิจครอบครัวในตะวันออกกลางและแอฟริการายได้ลดลง สาเหตุหลักที่แต่ละครอบครัว และแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เป็นผลจากอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจได้รับประโยชน์ หรือได้ผลกระทบเชิงลบที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินการโดยครอบครัว
การจ้างแรงงานเป็นอีกข้อบ่งชี้หลัก โดยการจ้างงานในระดับโลกของธุรกิจครอบครัวลดลงร้อยละ 8.56 ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวลดลงมากกว่าถึงร้อยละ 10.24 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของธุรกิจครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน ดังนั้นการเลิกจ้างงานจะเป็นทางเลือกหลังๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโควิด ทั้งนี้ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกามีการลดลงของการจ้างงานสูงสุดถึงร้อยละ 20.07 ในขณะที่ยุโรปมีการจ้างงานที่ลดลงน้อยที่สุดคือร้อยละ 4.31 จะเห็นได้ว่าที่ตั้งของธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงกับการลดลงของการจ้างงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและการคุ้มครองของกฎหมายการจ้างงานที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่มีธุรกิจอยู่ในหลายอุตสาหกรรมและหลายภูมิภาค จะต้องพิจารณาผลกระทบและเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะสม
ผลกระทบของโควิดต่อธุรกิจครอบครัวในระดับโลกและระดับภูมิภาค
จากผลกระทบสู่การลงมือแก้ไข (From Impact to Action)
เจ้าของธุรกิจครอบครัวมีกลยุทธ์ระยะสั้นในการรับมือกับโควิดหลายวิธี แนวทางหลักคือลดค่าใช้จ่ายหรือเลื่อนการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายทั่วไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าใช้จ่ายทางการตลาด เป็นต้น แล้วจึงลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน โดยการลดชั่วโมงการทำงานหรือลดค่าจ้าง และลดจำนวนพนักงาน
นอกจากนี้ หลายครอบครัวมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจทั้งชั่วคราวและถาวร อาจเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าเจ้าของธุรกิจครอบครัวเลือกที่จะลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก่อนมาตรการอื่นๆ
แนวทางในการรับมือกับโควิดที่ธุรกิจครอบครัวเลือกใช้
จากผลกระทบสู่การลงมือแก้ไขในแต่ละภูมิภาค
ลักษณะพิเศษของธุรกิจครอบครัวกับการเลือกกลยุทธ์ (Family Business Characteristic vs. Strategy Selection)
- หลายธุรกิจครอบครัวประกอบด้วยหลายเจเนอเรชัน วิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วม และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น
- สมาชิกครอบครัวอาวุโสบางครอบครัวที่ได้ถ่ายโอนธุรกิจให้กับสมาชิกรุ่นถัดไปแล้วกลับมาร่วมแก้ปัญหา โดยการนำประสบการณ์ที่เคยใช้ในอดีตมาทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวรุ่นอื่นๆ หรือผู้บริหารของกิจการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในครอบครัว
- คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากสมาชิกรุ่นคุณพ่อและคุณแม่ต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว แต่หากเริ่มศึกษาด้วยตัวเองใหม่อาจไม่ทันเวลา
- การบริหารงานโดยสมาชิกในครอบครัวมีความยืดหยุ่น สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว เนื่องจากกระบวนการในการตัดสินใจมักไม่ยาวนัก จึงทำให้ธุรกิจครอบครัวมีความคล่องตัว และสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า
- การมีบทบาทของสมาชิกครอบครัวอาวุโส ส่งผลให้ครอบครัวได้ทบทวนจุดมุ่งหมายและค่านิยมของครอบครัว ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาของธุรกิจครอบครัวจะมีการพิจารณาปัจจัยอื่นนอกจากปัจจัยเชิงตัวเงินหรือการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว เช่น การสืบทอดกิจการสู่รุ่นถัดไป ภาพลักษณ์ การยอมรับจากสังคม การดำรงชื่อเสียงที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ได้สร้างสมมายาวนาน ธรรมาภิบาล รวมถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ระยะสั้นที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอื่นก่อนลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ตลอดจนการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และชุมชน
จะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดไม่ต่างจากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมและภูมิภาคใด และที่สำคัญคือเจ้าของธุรกิจสามารถปรับตัวได้รวดเร็วเพียงใดที่จะแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น และสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจที่อยู่ตรงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่น ความคล่องตัวของโครงสร้างธุรกิจครอบครัว และประสบการณ์ที่หลากหลายของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยหลายเจเนอเรชัน ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของธุรกิจครอบครัว ที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวผ่านวิกฤต และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้
บทความ ‘การกลับมาอย่างผู้เชี่ยวชาญ: ธุรกิจครอบครัวมีชัยเหนือโควิดได้อย่างไร’ ตอนที่หนึ่งนี้ ได้นำเสนอข้อมูลของธุรกิจครอบครัวและกลยุทธ์ระยะสั้นในการจัดการผลกระทบของโควิดในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจธุรกิจครอบครัว ในตอนหน้าจะนำเสนอกลยุทธ์ระยะยาวที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวได้เลือกใช้ และคาดว่าจะเลือกใช้เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีชัยเหนือโควิดได้ ซึ่งหวังว่าจะมีประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจ ทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัวไม่มากก็น้อย