×

สรุปกรณี ‘ผลบวกปลอม’ โรงเรียนใน จ.มุกดาหาร

05.11.2021
  • LOADING...
ผลบวกปลอม

จากกรณีข่าวคลัสเตอร์โควิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ต้องกักตัวนักเรียนกว่า 1,000 คน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา วันนี้ (5 พฤศจิกายน) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวในประเด็นนี้ว่า ผลการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ไม่พบผู้ติดเชื้อ

 

THE STANDARD สรุปกรณี ‘ผลบวกปลอม’ ที่เกิดขึ้น และรวบรวมความเห็นจากนักวิชาการ ดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โรงพยาบาลนิคมคำสร้อย อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดในโรงเรียนแห่งหนึ่ง พบครูมีผลบวกจากชุดตรวจ ATK จำนวน 14 ราย และสุ่มตรวจนักเรียนในโรงเรียนมีผลบวกจำนวน 3 ราย รวมเป็น 17 ราย

 

2. ต่อมา เวลา 13.00 น. หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มุกดาหาร จึงร่วมกันออกคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมด 4 ยี่ห้อ ทั้งนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนจำนวน 1,106 คน พบผลบวก 87 ราย

 

3. ผลบวกทั้ง 87 รายมาจากชุดตรวจ ATK ที่โรงเรียนจัดซื้อเอง คือยี่ห้อ Dvot (SARS-CoV-2 Antigen Test Kit) (ไม่พบในรายการที่ อย. อนุมัติ) จึงสุ่มตรวจ 2 ราย จาก 87 ราย ด้วยชุดตรวจ ATK ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สสจ. พบว่าผลเป็นลบ

 

4. หน่วยงานในพื้นที่จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR จากผู้ที่ตรวจพบผลบวกด้วยชุดตรวจ ATK และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติมรวม 160 คน และแยกกักขณะรอผลตรวจ ณ โรงพยาบาลสนามวัดภูด่านแต้ สรุปผลการตรวจไม่พบเชื้อทุกราย

 

5. ผลการตรวจเป็นบวกจากชุดตรวจ ATK ดังกล่าว จึงเป็นผลบวกปลอม (False Positive) ซึ่งทางจังหวัดจะดำเนินการสอบสวนสาเหตุที่เกิดความผิดพลาดครั้งนี้ต่อไป ส่วนผู้ที่ตรวจพบผลบวกให้กลับบ้านและเฝ้าสังเกตอาการตนเอง 

 

6. ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ‘ผลบวกปลอม’ หมายถึง ไม่ได้ติดเชื้อแต่ผลการทดสอบเป็นบวก อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น

    • การปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบ อุปกรณ์ที่ใช้ 
    • การติดเชื้อไวรัสหรือจุลชีพอื่นๆ
    • ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด
    • สภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม

 

7. ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กสรุปได้ว่า ผลการตรวจยังขึ้นกับบริบทการติดเชื้อในพื้นที่ ถึงแม้ชุดตรวจจะมีความไวหรือความจำเพาะ 99% ก็ตาม 

    • หากอัตราการติดเชื้อต่ำ เช่น 1 ในหมื่นคน เมื่อผลการตรวจเป็นบวก จะพบว่าติดเชื้อจริงเพียง 0.99%
    • ในทางกลับกัน หากอัตราการติดเชื้อสูง เช่น 1 ใน 5 คน เหมือนช่วงที่มีการระบาดหนักในประเทศไทย เมื่อผลการตรวจเป็นบวก จะพบว่าติดเชื้อจริงเกิน 96%

 

8. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปว่าจากการตรวจยืนยันพบว่าไม่มีการติดเชื้อ ส่วนผลการตรวจที่ผิดพลาดจะมีการสอบสวนสาเหตุต่อไป โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติและมีความปลอดภัย เนื่องจากนักเรียนและบุคลากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมากกว่า 70% แล้ว

 

9. ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่พบยี่ห้อ Dvot ในรายชื่อชุดตรวจที่ได้รับอนุญาตจาก อย.

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising