ท่ามกลางวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา นอกจากการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ยังมีหลายประเทศ ที่พุ่งเป้าปัญหาไปที่การจัดการกับข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ถูกเผยแพร่ในหลายช่องทาง โดยเฉพาะสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมองว่าการแพร่ข่าวปลอมท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ทำให้เกิดผลกระทบและความสับสนต่อประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งก่อปัญหาให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะเดียวกันยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความนิยมของรัฐบาล
ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศ ถึงขั้นประกาศใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมอย่างจริงจัง โดยไม่หวั่นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจากประชาชนและองค์กรสื่อต่างๆ ว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก
ขณะที่สถาบันสื่อมวลชนระหว่างประเทศ หรือ International Press Institute (IPI) เปิดเผยข้อมูล พบว่าปัจจุบัน มี 18 ประเทศ ที่ได้ผ่านกฎหมายต่อต้าน Fake News ออกมา ท่ามกลางภาวะโรคระบาดที่กำลังทวีความรุนแรง ได้แก่
ไทย, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, รัสเซีย, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, จอร์แดน, แอลจีเรีย, อาร์เซอร์ไบจาน, ฮังการี, โรมาเนีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, เปอร์โตริโก, บราซิล, โบลิเวีย
ซึ่งข้อมูลจาก IPI แสดงให้เห็นรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมของแต่ละประเทศที่มีระดับหนัก-เบาแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบและควบคุม สื่อและโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยสามารถลบข้อมูลหรือบทความที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ อีกทั้งยังมีโทษตั้งแต่ปรับเงินหรือจำคุกนานหลายปี ตัวอย่างเช่น
ไทย
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2020 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการดำเนินการลงโทษต่อสื่อที่เผยแพร่ข่าวปลอม
ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ห้ามสื่อสิ่งพิมพ์หรืออินเทอร์เน็ตเสนอข้อความเท็จ หรือเจตนาบิดเบือนข่าวสาร จนทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือหวาดกลัว หากพบ ให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบเลขที่อยู่ IP และระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ในทันที
มาเลเซีย
12 มีนาคม 2021 รัฐบาลมาเลเซีย ตัดสินใจกลับมาใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมที่เลิกใช้ในปี 2019 อีกครั้ง โดยใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศใช้กฎหมายใหม่แบบไม่ต้องผ่านการลงมติรับรองในสภา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี สำหรับการเผยแพร่ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิด หรืออำนาจรัฐบาลในภาวะฉุกเฉิน
กัมพูชา
สภากัมพูชาผ่านกฎหมายภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 อนุญาตให้รัฐบาลตรวจสอบ ควบคุม และเซ็นเซอร์สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความไม่สงบในสังคมหรือสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ
เวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามผ่านกฎหมายใหม่เพื่อต่อต้านข่าวปลอม ท่ามกลางสถานการณ์โควิด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 โดยเป็นครั้งแรกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการลงโทษปรับประชาชนที่เผยแพร่หรือแชร์ข่าวปลอม โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับโควิดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 463-920 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,000-30,000 บาท
ฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ลงนามกฎหมายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ให้อำนาจพิเศษลงโทษผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด โดยมีโทษจำคุก 2 เดือนและปรับสูงสุดถึง 19,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 640,000 บาท
รัสเซีย
ผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 มีโทษปรับ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 822,000 บาท และจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด ส่วนสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จมีโทษปรับสูงถึง 127,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.1 ล้านบาท
บราซิล
รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐปาราอีบา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ประกาศใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม ในวันที่ 24 มีนาคม 2020 ด้วยการลงโทษปรับใครก็ตามที่เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิดเป็นเงินกว่า 2,100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 70,000 บาท
อ้างอิง:
- https://ipi.media/covid19-media-freedom-monitoring/
- https://ipi.media/rush-to-pass-fake-news-laws-during-covid-19-intensifying-global-media-freedom-challenges/
- https://www.voanews.com/science-health/coronavirus-outbreak/coronavirus-puts-southeast-asian-anti-fake-news-laws-test
- https://www.aljazeera.com/news/2021/3/12/malaysia-cites-covid-19-misinformation-with-new-fake-news-law
- https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3141696/how-germanys-social-media-law-has-unwittingly-become-model-fake
- https://www.poynter.org/ifcn/anti-misinformation-actions/