×

หลากปัจจัยหนุนลงทุน ‘หุ้นจีน’ สวนตลาด

13.11.2022
  • LOADING...
หุ้นจีน

แม้ในปีนี้ ตลาดหุ้นจีนจะเผชิญกับความผันผวนอย่างหนักจากสารพัดข่าวร้ายที่รุมเร้า แต่เชื่อหรือไม่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังสดใสมากทีเดียว อีกทั้งดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของ Bloomberg จัดให้จีนอยู่ที่อันดับ 5 ในโซนสีเขียว ซึ่งมีความหมายว่าเศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัว เรียกว่าทำเอานักลงทุนกุมขมับ เมื่อจู่ๆ ตลาดหุ้นก็ไม่ไปทางเดียวกับปัจจัยพื้นฐานเสียอย่างนั้น

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2022 ขยายตัว 3.9% จากปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หลังจากทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ลงแล้ว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีหุ้นจีนในสหรัฐฯ และปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


หุ้นจีนร่วงแรง พิษข่าวร้อนการเมืองช่วงระยะสั้น

แล้วทำไมจนถึงตอนนี้ ‘ตลาดหุ้นจีนยังร่วงแรงไม่หยุด’ ทั้งๆ ที่ ตัวเลข GDP ออกมาน่าประทับใจ และไส้ในของการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวดี ไม่ว่าจะด้านภาคการบริโภคสะท้อนผ่านยอดค้าปลีก ยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวสูง บริษัทจดทะเบียนโชว์ผลดำเนินงานออกมาดี และโค้งสุดท้ายปีนี้ เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องด้วย

 

นั่นก็เป็นเพราะปัจจัยการเมืองภายในประเทศจีนนั่นเอง หลังจากที่ สีจิ้นผิง ได้นั่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 สร้างความกังวลให้นานาชาติเกี่ยวกับสัญญาฮ่องกงที่จีนครอบครองเอาไว้ เพราะมีโอกาสที่จีน จะรวมเกาะฮ่องกงเป็นหนึ่งเดียวกับจีนตามนโยบาย One China ที่จีนตอกย้ำอยู่เสมอ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกง Hang Seng (HSI) ปรับตัวลงไปถึง -6.36% ในวันที่ 24 ตุลาคม 2022 และยังส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีนด้วย

 

ผมมองว่าการปรับตัวลงของตลาดหุ้นฮ่องกงและจีนเกิดขึ้นจากข่าวลือเท่านั้น เขตปกครองพิเศษฮ่องกงถือเป็นหน้าด่านเศรษฐกิจที่จีนใช้ค้าขายกับนานาประเทศมานาน และจีนคงไม่ทุบหม้อข้าวตัวเองอย่างแน่นอน

 

ลุยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

ส่วนอีกปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนหน้า หลังจากที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งปีนี้ทางการจีนยังเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจต่างๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตอนนี้จีนกำลังพยายามรักษาสมดุลของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเติบโตและความเสี่ยงครับ

 

ธนาคารกลางจีนเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องอย่างเต็มที่ ล่าสุด อัดฉีดเม็ดเงินอีก 238,000 ล้านหยวน เข้าระบบผ่านตลาด Reverse Repo จนทำให้เม็ดเงินอัดฉีดสุทธิอยู่ที่ 744,000 ล้านหยวน การอัดฉีดในครั้งนี้ตรงกับช่วงชำระภาษีประจำปี รวมไปถึงการออกตราสารหนี้ของรัฐบาลและเอกชน ทำให้มีความต้องการสภาพคล่องสูง จึงเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางจีนต้องอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังมีเครื่องมือที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินมากมาย และคาดว่าจะคงสภาพคล่องระดับสูง ส่งผลดีต่อราคาสินทรัพย์บางประเภทด้วย

 

ฝั่งรัฐบาลจีนก็พร้อมสนับสนุนอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 868,000 ล้านหยวน หรือกว่า 122,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ดำเนินการผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร ประเภทอายุ 7 วัน และ 14 วัน ที่อัตราดอกเบี้ย 2.00% และ 2.15% ตามลำดับ ถือว่าเป็นจำนวนเงินอัดฉีดเข้าระบบที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ยังไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้าอีกจำนวนมหาศาลด้วย การลงทุนโครงการต่างๆ เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นทางการจีนผนึกกำลังกันช่วยปั๊มเศรษฐกิจจีนในโค้งสุดท้ายให้ฟื้นตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก และพร้อมก้าวเข้าสู่ปี 2023 อย่างแข็งแกร่ง โดยมีแผนจะเปิดประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป แน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตได้อย่างสมดุลและมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีต่อๆ ไป

 

อนาคตจีนกับเส้นทางสู่ผู้นำเทคโนโลยีของโลก

ทิศทางการเติบโตของจีนในระยะยาว ภายใต้การนำของ ‘ประธานาธิบดีสี’ จากคำกล่าวสุนทรพจน์ที่ประกาศนำทัพ ‘จีนก้าวขึ้นสู่ความเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก’ ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนเป็นอันดับแรก มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพสูง และชูพัฒนากลยุทธ์เศรษฐกิจแบบ Dual-Circulation พร้อมเน้นความสำคัญให้จีนพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจจีนมีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะยาว

 

บางคนอาจจะยังมีคำถามคาใจว่า จีนจะก้าวแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีของโลกได้จริงหรือ? 

 

เป็นที่รู้กันว่าทุกวันนี้โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และคนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา เพราะคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ใช้บริการหรือถือครองกันอยู่ โดยเฉพาะสินค้าไฮเทคอย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ล้ำสมัย ยิ่งรุ่นสมาร์ทโฟนต้องยกให้กับค่าย Apple พวกซอฟต์แวร์ต่างๆ พัฒนาโปรแกรมสร้างแพลตฟอร์มดังๆ จนมาสู่โซเชียลมีเดียอย่าง Meta (หรือ Facebook ในอดีต) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมภาพยนตร์อย่าง Netflix เป็นต้น

 

แต่วันนี้ ‘จีน’ เป็นม้ามืดที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบางด้านอย่างเต็มตัวแล้ว เช่น พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล รวมถึงส่วนประกอบของเทคโนโลยีเมกะเทรนด์หลายอย่างที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลกในอนาคต

 

แม้ว่าช่วงปีก่อนๆ รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมการทำธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนจนทำราคาหุ้นร่วงอย่างหนักในปีที่แล้ว แต่เบื้องหลังกฎระเบียบอันเข้มงวดนี้ ที่จริงแล้วรัฐบาลจีนมีแผนพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างชัดเจน

 

การพัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลพร้อมทุ่มเทงบประมาณอย่างเต็มที่ในปี 2020 จีนใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 563,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของ GDP จีนในปีนั้น ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และนับเป็นรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่มีสัดส่วน 3 ใน 4 ของงบประมาณ

 

รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีไว้ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 14 ของจีน และถูกบรรจุอยู่ในนโยบาย Made in China 2025 ที่ถือเป็นการฉีกภาพลักษณ์สินค้า Made in China ในสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ท่ามกลางเงินทุนและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ตอกย้ำภาพ ‘เมื่อจีนเอาจริง ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้’ ทำให้เป้าหมายการเป็นมหาอำนาจโลกก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนได้เปรียบ คือการมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ทำให้จีนมีผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกาจในแต่ละแขนงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาไม่กี่ปี โดยในปี 2020 จีนมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์มากถึง 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์จีน 0.78 คน ต่อประชากร 100 คน

 

สาเหตุที่จีนมีนักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นได้เร็วขนาดนี้ ก็เพราะจีนได้ประโยชน์จากภาวะ Brain Gain ซึ่งเป็นผลจากนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่เรียนต่อในระดับสูงและทำงานให้องค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจำนวนมากตัดสินใจกลับมาทำงานในจีน ซึ่งภาวะ Brain Gain เป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับภาวะสมองไหล (Brain Drain) นั่นเอง และผลพวงของการมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จำนวนมาก ก็ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยในจีนด้วย ทำให้จีนมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ Top 100 สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีของโลกอยู่ทั้งหมด 6 มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจีนที่มีอันดับสูงสุด คือมหาวิทยาลัยซินหัว ที่อยู่อันดับที่ 14 ของโลกในด้านนี้ด้วย นี่คือพลังบุคคลากรจีนที่แข็งแกร่งพร้อมนำพาประเทศเติบโต

 

มาดูตลาดของจีนด้วยจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกราว 1,400 ล้านคน แน่นอนว่าขนาดตลาดที่ใหญ่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกอุตสาหกรรมเติบโต ดังนั้น จีนจึงมีข้อได้เปรียบในเรื่องการสร้างเทคโนโลยียุค 4.0 มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ในปี 2021 คนจีนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 1,032 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,084 ล้านคนในสิ้นปี 2022 นอกจากนี้ จีนยังมีโครงข่ายเสาสัญญาณประเภท 5G มากที่สุดในโลก ทำให้คนจีนเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้รวดเร็ว ยิ่งเร่งให้เทคโนโลยีจีนพัฒนาแซงหน้าประเทศอื่นๆ ไปไกล

 

ที่สำคัญ บริษัทเทคโนโลยีจีนสามารถขยายตลาดของเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วตามยอดผู้ใช้งานมหาศาล ซึ่งหมายถึง ตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจที่จะเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และเงินลงทุนที่จะเพิ่มพูนขึ้นพร้อมสำหรับต่อยอดเทคโนโลยีขั้นถัดไป รวมถึงพัฒนานักวิทยาศาสตร์จีนที่เป็นหัวกะทิในด้านต่างๆ จำนวนมาก

 

ยิ่งไปกว่านั้น จีนมีงานวิจัยด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก ล่าสุด งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน เพิ่มขึ้นจนแซงหน้างานวิจัยของสหรัฐฯ ไปแล้ว และถูกอ้างอิงมากที่สุดในโลกอีกด้วย ในปี 2019 จีนมีจำนวนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึง 407,181 ชิ้น และมีงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงมากถึง 26.6% ของงานวิจัยทั้งหมด ตามมาด้วย อันดับ 2 ‘สหรัฐฯ’ มีจำนวนงานวิจัย 293,434 ชิ้น และมีการอ้างอิงอยู่ที่ 21.1% ของงานวิจัยทั้งหมด ด้วยแนวโน้มงานวิจัยที่สูงและมีคุณภาพมากขนาดนี้ จึงเป็นไปได้ว่าจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากจีนมากกว่าสหรัฐฯ ในอนาคต

 

‘ธุรกิจเทคโนโลยีจีน’ ลมใต้ปีกที่ดันจีนขึ้นแท่นผู้นำโลก

จีนมีความพร้อมทั้งเงินทุนและบุคลากรที่จะก้าวขึ้นไปท้าชิงเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจเทียบเคียงกับสหรัฐฯ และหัวหอกในการพาพญามังกรให้บินสูง นั่นก็คือธุรกิจเทคโนโลยีจีน หรือเทคจีนนั่นเอง

 

ผมขอยกตัวอย่าง 3 ตลาดเทคโนโลยีเมกะเทรนด์ที่บริษัทจีนมีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุดในโลก และยังมีแนวโน้มเติบโต ที่ดีอย่างต่อเนื่องจนทิ้งห่างคู่แข่งจากประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จีนเป็นผู้นำในธุรกิจอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Haier ผู้ผลิตเครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศที่สร้างรายได้จากทั่วโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลกเลยทีเดียว

 

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer: PC) ในอดีตคนจะไม่ค่อยซื้อ PC แบรนด์จากจีนเพราะห่วงเรื่องคุณภาพการใช้งาน แต่ปัจจุบันนี้แบรนด์ Lenovo สามารถพัฒนา PC ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ วันนี้เป็นแบรนด์ PC ที่ครองใจผู้ใช้งานทั่วโลกสูงถึง 24.7% ทีเดียว

 

พลังงานสะอาด ซึ่งกระแสพลังงานสะอาดเป็นประเด็นสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชัดเจน ตอนนี้จีนก็เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดโลกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด คือ บริษัท LONGi Green Energy Technology Co. Ltd. มีส่วนแบ่งตลาดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 25% 

 

บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกสูงถึง 16.9% กลายเป็นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกแล้ว ล่าสุดโชว์รายได้ 117,080 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึง 115% และกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เติบโตกว่า 350% ขณะที่ 9 เดือนแรก มียอดขายรถยนต์พลังงานสะอาดอยู่ที่ 1.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 255% และตั้งเป้าปีนี้ทำยอดขายได้ 2 ล้านคัน ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทรถยนต์พลังงานสะอาดที่มียอดขายมากที่สุดในโลกทันที

 

และบริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนทั่วโลกสูงถึง 34.8% นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตลาดเทคโนโลยีที่เป็นเบอร์ 1 อย่างเงียบๆ โดยเฉพาะในด้านการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีต้นน้ำ

 

นี่คือตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของพญามังกรที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีบางด้านของโลกแล้ว และเป็นลมใต้ปีกที่ดันจีนไต่อันดับขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างเต็มตัวตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 14 กับนโยบาย Made in China 2025 หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นจีน รวมถึงหุ้นประเทศต่างๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม ได้ที่นี่ครับ https://jitta.co/3zmEEoA

 

ผมมีความเชื่อมั่นว่าจีนกำลังเดินไปสู่เป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ ด้วยความพร้อมในหลายๆ ด้านอย่างที่ฉายภาพไป ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีจีนได้ปรับตัวร่วงแรงตามภาพรวมตลาดหุ้น ผมจึงมองเป็นโอกาสในการเลือกลงทุน ‘หุ้นเทคโนโลยีจีนคุณภาพดี ราคาเหมาะสม มีโอกาสเติบโตสูง’

 

ผมได้ลองทำ Back Test เพื่อดูผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นเทคจีน ผ่านแผน Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีจีน พบว่า Back Test ช่วง 10 ปี (2012-2021) ก็ทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยได้ที่ 19.02% ต่อปี สูงกว่าดัชนี SHSZ300 Total Return ที่ทำได้ 10.06% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผมขอบอกก่อนว่า สถิตินี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลตอบแทนในอนาคตนะครับ

 

เพียงแต่ว่าหากคุณเชื่อในศักยภาพของจีนที่เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในอนาคตได้ โอกาสลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีน ผู้นำโลกได้มาถึงแล้ว ผมก็แนะนำให้เริ่มต้นลงทุนแบบปังๆ ได้แล้วในวันนี้กับหุ้นจ่าฝูงเศรษฐกิจ เพื่อติดปีกพอร์ตบินสูงเติบโตระยะยาวดั่งพญามังกร   

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X