×

กำลังซื้อทองคำในจีนแกร่ง ปัจจัยหนุนราคาทองคำไตรมาส 4

30.09.2023
  • LOADING...
ราคาทองคำ

นับตั้งแต่ที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ 2,078 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นเป็นต้นมา ราคาทองคำโลกมีการเคลื่อนไหวในทิศทางค่อยๆ ปรับตัวลง โดยในปัจจุบันราคาทองคำปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือน ซึ่งมีปัจจัยกดดันที่สำคัญมาจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางของประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รวมไปถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ที่อาจมีผลให้กำลังซื้อทองคำในจีนชะลอตัวลงตาม 

 

ทว่า ราคาทองคำในจีนกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาที่ซื้อขายทองคำในตลาดเซี่ยงไฮ้นับว่าสูงกว่าในตลาดลอนดอนและตลาดนิวยอร์ก ส่วนต่างของราคาดังกล่าวเรียกว่า ‘พรีเมียม’ ซึ่งพรีเมียมของราคาทองคำในจีนนั้นมีการพุ่งขึ้นแตะระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเดือนกันยายน นับว่าเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดเซี่ยงไฮ้ในปี 2002 ซึ่งค่าพรีเมียมสามารถสะท้อนภาวะอุปสงค์และอุปทานทองคำของจีน 

 

ค่าพรีเมียมราคาทองคำในจีน

ค่าพรีเมียมราคาทองคำในจีน

 

 

หมายเหตุ: 

  1. ก่อนเดือนเมษายน 2014 ส่วนต่างถูกคำนวณด้วย Au9999 และ LBMA Gold Price AM ขณะที่หลังช่วงเวลาดังกล่าว Shanghai Benchmark Gold Price PM ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ 
  2. ภาพจาก The Chinese gold premium: has the dust settled on the record surge? โดย GOLDHUB, 2023. (https://www.gold.org/goldhub/gold-focus/2023/09/chinese-gold-premium-has-dust-settled-record-surge)

 

เศรษฐกิจจีนส่อแววชะลอตัว – Fed ส่งสัญญาณค้างดอกเบี้ยสูงและยาวนาน ปัจจัยหนุการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

 

ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2023 อาจเติบโตเพียงอัตรา 5.0% นับเป็นการปรับลดประมาณการลงมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณที่ไม่สู้ดี ผ่านตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาย่ำแย่นับตั้งแต่ช่วงเข้าไตรมาส 2 ของปีนี้ 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนอย่างยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นดีกว่าคาดการณ์ในเดือนที่ผ่านมา แต่กระนั้น เศรษฐกิจจีนยังคงมีความเปราะบางจากความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตที่รุนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ และความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ของทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและภาคธุรกิจ โดยความเสี่ยงทั้ง 2 ประเด็นนี้อาจลุกลามไปยังภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคสถาบันการเงิน ทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจึงอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจดังกล่าวถูกประเมินว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าว Reuters ที่ระบุคาดการณ์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2024 และปี 2025 ไว้ที่เพียง 4.5% และ 4.3% ตามลำดับ  

 

มุมมองเชิงลบดังกล่าวสวนทางกับฝั่งสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจได้รับมุมมองเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ประกอบกับภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและยาวนาน สอดคล้องกับการส่งสัญญาณผ่านตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ Fed โดยทำการคงตัวเลขดังกล่าวไว้ที่ 5.6% ในปีนี้ ขณะที่ในปี 2024 มีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.6% สู่ระดับ 5.1% นับเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงและยาวนานมากกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ 

 

ทิศทางเศรษฐกิจที่สวนกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลต่อระดับอัตราแลกเปลี่ยน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีมุมมองเชิงบวกมากกว่า ประกอบกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่กล่าวไปในข้างต้นของ Fed ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวขึ้น กดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง ขณะที่หากเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณเชิงลบ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินหยวนเพิ่มเติม ซึ่งจะมีส่วนหนุนต่อค่าเงินดอลลาร์ 

 

นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจึงมีแนวโน้มสร้างผลกระทบต่อไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น มุมมองเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนมีส่วนทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มไม่สู้ดีตามไปด้วย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้มุมมองเชิงบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบ ค่าเงินดอลลาร์จึงมีแนวโน้มได้รับแรงซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนค่าเงินหยวนมีการร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 16 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 

 

อย่างไรก็ดี ทางการจีนพยายามออกมาตรการเพื่อสกัดการร่วงลงของค่าเงินหยวน ไม่ว่าจะเป็นการให้ธนาคารของรัฐเทขายเงินดอลลาร์ และอีกมาตรการที่สำคัญคือ การจำกัดโควตานำเข้าทองคำของสถาบันการเงินในประเทศ เนื่องด้วยธนาคารกลางจีน (PBOC) มีบทบาทในการควบคุมปริมาณทองคำในตลาดซื้อขายภายในประเทศ โดยการจำกัดโควตาการนำเข้าทองคำดังกล่าว คาดว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุน เพราะปริมาณทองคำในจีนราว 60% เป็นทองคำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น มาตรการจำกัดโควตาทองคำจึงสามารถช่วยสกัดการร่วงลงของเงินหยวนได้ 

 

ขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อทองคำนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน ทำให้มาตรการกำจัดโควตาทองคำนั้นสร้างความไม่สมดุลให้กับระดับอุปสงค์และอุปทานทองคำในจีน สะท้อนผ่านค่าพรีเมียมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 121 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงกลางเดือน หลังมีการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว  ซึ่งค่าพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่า ทองคำในจีนนั้นถูกซื้อขายด้วยราคาที่สูงกว่าในตลาดต่างประเทศ 

 

ราคาทองคำในจีนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อในไตรมาส 4 คาดช่วยหนุนราคาทองคำในตลาดโลก 

 

แม้ว่าราคาทองคำในตลาดเซี่ยงไฮ้จะสูงกว่าตลาดแห่งอื่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน แต่กระนั้นกลับพบว่า ความต้องการซื้อทองคำในจีนยังคงเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น จากการศึกษาประเด็นค่าพรีเมียมราคาทองคำในจีนของนักวิเคราะห์จากสภาทองคำโลก พบว่า โดยปกติแล้วในไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่ปริมาณความต้องการซื้อทองคำและค่าพรีเมียมจะเพิ่มสูงขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกไตรมาส โดยคาดได้ว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงช่วงสิ้นปี จะมีการซื้อทองคำในรูปแบบเครื่องประดับจากรายย่อยที่เพิ่มมากขึ้น  

 

นอกจากนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้ดี รวมถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยปะทุขึ้นอาจยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ช่วยกระตุ้นการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ กำลังซื้อทองคำของจีนจะยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยหนุนราคาทองคำ อีกทั้งหาก Fed ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน ก็ส่งเสริมให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ที่กำลังจะมาถึงนี้ 

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X