และแล้วเหตุการณ์ที่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดหรือ Worst Case Scenario ก็เกิดขึ้นจริงหลังรัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในขณะที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นคน ผู้ที่ต้องพรากจากบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคน และตึกรามบ้านช่องเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์สงคราม การบุกยึดของรัสเซีย การตอบโต้ของยูเครน และปฏิกิริยาของชาติพันธมิตรตะวันตก ไม่ต่างจากที่นักวิเคราะห์รวมถึงเราเคยคาดไว้ก่อนหน้า โดยในฝั่งของสถานการณ์สงคราม กองทัพรัสเซียได้รุกคืบเข้าตอนกลางประเทศขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังตีเมืองสำคัญอย่างกรุงเคียฟ ที่เป็นเมืองหลวง และเมืองคาร์คีฟ ที่เป็นเมืองอันดับสองไม่ได้ก็ตาม ซึ่งทำให้ทางรัสเซียเปลี่ยนยุทธวิธี โดยหันมาโจมตีประชาชนมากขึ้น ทำให้ผู้เสียชีวิตและความเสียหายของบ้านเรือนมากกว่าช่วงเริ่มต้นการบุกยึดมาก
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะจับตา ‘สงครามเศรษฐกิจ’ เกมบีบรัสเซีย ที่อาจดึงทั้งโลกเข้าสู่วิกฤต
- IMF เตือนสงครามยืดเยื้อทำเศรษฐกิจยูเครนเสี่ยงถดถอยหนัก ส่วนผลเจรจาหยุดยิงรอบ 4 ยังไร้ความคืบหน้า
- วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ในฝั่งของชาติตะวันตกได้มีการประกาศคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า กล่าวคือ
- ตัดช่องทาง SWIFT รวมถึงตัดโอกาสที่สถาบันการเงินรัสเซียจะเข้าถึงการทำธุรกรรมรูปดอลลาร์ทุกรูปแบบ โดยประเทศหลักที่ทำมาตรการดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกส่วนใหญ่
- คว่ำบาตรการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินชั้นนำของรัสเซีย
- คว่ำบาตรการค้าระหว่างประเทศกับรัสเซีย โดยล่าสุดทางสหรัฐฯ ได้มีการคว่ำบาตรการค้าในสินค้าหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิง (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) และ
- คว่ำบาตรทางการเงินกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และผู้บริหารระดับสูง รวมถึงชนชั้นสูงของรัสเซีย
เรามองว่าการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาดเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบภายใน 2-3 เดือน (รัสเซียนำเข้าเป็น 20% ของ GDP) และระหว่างที่พัฒนาการสงครามและการคว่ำบาตรดำเนินไป ประธานาธิบดีปูตินจะเปิดการเจรจากับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ โดยทางรัสเซียจะมีโอกาสที่จะสร้างแต้มต่อในการเจรจาต่อรองได้ถึงปลายเดือนมีนาคม
ณ ปัจจุบัน เริ่มมีสัญญาณของการเจรจาเบื้องต้น โดยเรามองว่าน่าจะมีการหยุดยิงภายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ขณะที่การเจรจาอาจดำเนินการต่อไปจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งหากตกลงกันได้จะทำให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครน ขณะที่ซีกโลกตะวันตกจะถอนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ปิดโอกาสที่สงครามจะยืดเยื้อ โดยหากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเข้าช่วยเหลือทางการทหารต่อยูเครน หรือแม้แต่การที่ยูเครนเองยังไม่ยอมรับในข้อเสนอจากทางรัสเซีย เหตุการณ์จะยืดเยื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด เนื่องจากผู้เสียชีวิตชาวยูเครนจะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจรัสเซียจะตกต่ำมากขึ้น รวมถึงจะทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก ทั้งในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมีมากขึ้นจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่จะกระทบกับการผลิตเชื้อเพลิง (โดยในสถานการณ์นี้เราให้ความน่าจะเป็นประมาณ 20%)
เมื่อมุมมองต่อสถานการณ์สงครามเป็นดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้เรามองว่าราคาน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติจะเริ่มปรับลดลงหลังชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยเรามองว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่าสมมติฐานเดิมที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้มากขึ้นที่ราคาน้ำมันในปีนี้อาจอยู่สูงกว่าการคาดการณ์ของเรา เนื่องจากในปัจจุบัน ปริมาณสต๊อกสำรองได้ลดลงมากจากความต้องการที่มีมากกว่าปริมาณการผลิต นอกจากนั้นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายฝ่ายอาจต้องเพิ่ม ‘War Premium’ หรือส่วนเพิ่มจากความเสี่ยงสงคราม แม้สงครามจะยุติลงก็ตาม
ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากการทำ Sensitivity Analysis หรือความอ่อนไหวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ 4 เศรษฐกิจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน เราพบว่า หากราคาน้ำมันมีการปรับขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงสุดเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ โดยอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 0.8% (Percentage Point: p.p.) เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงเกินปกติในปัจจุบัน และเริ่มมีความเสี่ยงของปัจจัยทางจิตวิทยาจาก ‘ความคาดหวังเงินเฟ้อ’ หรือ Inflation Expectation มากขึ้น ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย โดยจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง 0.1% ทำให้เราเชื่อว่าหากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อมากขึ้น โดยในกรณีฐาน (ราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์) Fed อาจขึ้นดอกเบี้ย 5-6 ครั้ง แต่ถ้าราคาน้ำมันขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ หรือมากกว่า Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยถึง 8-9 ครั้งในปีนี้
ในส่วนของเศรษฐกิจยุโรป เรามองว่าผลกระทบของน้ำมันต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยเศรษฐกิจอาจชะลอถึงกว่า 0.5% หากราคาน้ำมันขึ้น 10 ดอลลาร์ แต่เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% ทำให้ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะคงดอกเบี้ยหากราคาน้ำมันขึ้นสูง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สัญญาณล่าสุดจาก ECB กลับส่งสัญญาณพร้อมถอนสภาพคล่องและเตรียมขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ทำให้เรามีมุมมองเดียวกับนักวิเคราะห์จากต่างประเทศมากขึ้นว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและจากการตึงตัวนโยบายการเงิน
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตยูเครนน้อยมาก โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงเพียง 0.1% และทำให้เงินเฟ้อขึ้นเพียง 0.2% เท่านั้น นอกจากนั้นสัญญาณจากรัฐบาลจีนที่พร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ที่จะมีการต่ออายุประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นสมัยที่ 3 (รวมถึงการที่ทางการมีกระสุนพอที่จะกระตุ้น) ก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีภูมิต้านทานจากวิกฤตน้ำมัน
ส่วนกรณีของเศรษฐกิจไทยนั้นได้รับผลจากสถานการณ์สงครามที่กระทบต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยพอสมควร โดยหากราคาน้ำมันขึ้น 10 ดอลลาร์ จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5% ขณะที่เศรษฐกิจชะลอลงประมาณ 0.1% ฉะนั้นหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 70 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.4% จาก 3.6% ขณะที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 3.1% ซึ่งหากขึ้นถึงระดับนั้นเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังเพื่อคุมความคาดหวังเงินเฟ้อ
กล่าวโดยสรุป จากการคำนวณของเรา เศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันมากในแง่ของการขยายตัวเศรษฐกิจจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ จีน และไทย ขณะที่ในแง่เงินเฟ้อที่อ่อนไหวมากไปหาน้อยจะได้แก่ สหรัฐฯ ไทย ยุโรป และจีน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การคำนวณนี้พิจารณาในเชิงเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก แต่ในแง่สังคมรวมถึงประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินเปลี่ยนจากที่คำนวณได้ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์สงครามยังคงอึมครึม ไม่แน่นอน (หรือที่เรียกว่ามี ‘เมฆหมอกแห่งสงคราม’ หรือ The fog of war)
เมฆหมอกแห่งสงคราม คือปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในยุคถัดไป นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายโปรดระมัดระวัง
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD