×

รู้จักกับประโยชน์จากการลงทุนแบบ Factor Investing เป็นอย่างไร มาดูกัน

27.01.2021
  • LOADING...
รู้จักกับประโยชน์จากการลงทุนแบบ Factor Investing เป็นอย่างไร มาดูกัน

ในปี 2020 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดโลกผันผวนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาดโควิด-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการเมืองไทย ดังนั้นการวิเคราะห์สภาพความเป็นไปของตลาดโดยใช้สัญญาณจากการวิเคราะห์ราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ (Technical Analysis) ในการเลือกซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นๆ หรือจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาศัยความรู้เชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค อาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

 

กลยุทธ์หนึ่งที่นิยมกันมากคือ การเลือกหลักทรัพย์โดยวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินของบริษัท ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินแบบนี้ถูกนักลงทุนที่ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Investment) มาพัฒนาต่อเป็นการลงทุนแบบ Factor Investing หรือที่นิยมเรียกกันว่า Smart Beta ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างแท้จริง 

 

การลงทุนแบบ Factor Investing นั้นเป็นการนำข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลด้านราคาของทุกๆ บริษัทที่อยู่ในขอบเขตการลงทุน เช่น บริษัทใน SET Index แล้วจำแนกหุ้นออกเป็นหลากหลายสไตล์ เช่น กลุ่มหุ้นเน้นคุณค่า (Value) อาจวัดจากบริษัทที่มี Price to Book หรือ Price to Earning ต่ำ, กลุ่มหุ้นเน้นการเติบโต (Growth) อาจวัดจากอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ, กลุ่มหุ้นที่มีคุณภาพของสถานะทางการเงินที่ดี (Quality) อาจวัดจากกระแสเงินสดที่มากหรือ ROE สูง, กลุ่มหุ้นที่ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา (Momentum), กลุ่มหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Volatility) ซึ่งวัดจากความผันผวนของหุ้น, กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Large Capitalization) และกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Small Capitalization) เป็นต้น และเมื่อศึกษาการลงทุนแบบ Factor Investing ต่อไป จะทำให้เราทราบได้ว่าแต่ละ Factor หรือแต่ละสไตล์ สามารถสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วเราสามารถแบ่งสภาวะทางเศรษฐกิจได้เป็น 4 สภาวะด้วยกัน คือ สภาวะขยายตัว (Expansion) สภาวะชะลอตัว (Slowdown) สภาวะหดตัว (Recession) และสภาวะฟื้นตัว (Recovery) โดยเมื่อวิจัยเศรษฐกิจในแต่ละช่วงสภาวะจะพบว่า

 

  • ช่วงสภาวะขยายตัว (Expansion) SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนที่ 2.66% ในขณะที่ Value, Growth และ Momentum ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 3% ต่อเดือน ซึ่งมากกว่าสไตล์การลงทุนอื่นๆ 
  • ช่วงสภาวะชะลอตัว (Slowdown) SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือนที่ 0.91% ในขณะที่ Quality, Growth และ Momentum ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1.2% ถึง 1.4% ต่อเดือน
  • ช่วงสภาวะหดตัว (Recession) เป็นที่แน่นอนว่าตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่เป็นลบ SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -3.49% ต่อเดือน ซึ่ง Quality และ Low Volatility ให้ผลตอบแทนที่ติดลบน้อยกว่าตลาด ซึ่งเฉลี่ยประมาณ -3.17% ต่อเดือน 
  • ช่วงสภาวะฟื้นตัว (Recovery) SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 1.67% แต่ Value และ Small Cap สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4.65% และ 5.36% ต่อเดือน

 

จากผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่า Factor หรือสไตล์ในการลงทุนต่างๆ นั้นจะสร้างผลตอบแทนที่ดีและไม่ดีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าเราสามารถพยากรณ์หรือคาดเดาเศรษฐกิจในอนาคตได้ เราก็จะสามารถเลือกสไตล์การลงทุนที่เหมาะสมได้ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดได้

    

สำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ ต้องบอกว่าเป็นปีที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้จากการลงทุน เนื่องจากมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจได้เข้าสู่สภาวะชะลอตัวและหดตัว สาเหตุจากโรคระบาดโควิด-19 ในเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เริ่มเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงเวลานี้เราจะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่ม Quality, Low Volatility และ Large Cap สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าสไตล์การลงทุนอื่นๆ เนื่องจากบริษัทในกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีงบการเงินที่แข็งแรง มีกระแสเงินสดที่ดี จึงมีภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าบริษัทอื่นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไปในทางที่ไม่ดี

 

เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม ซึ่งอาจบอกได้ว่าเศรษฐกิจน่าจะเข้าสู่ภาวะหดตัวอันเนื่องมาจากสถานการณ์จากโควิด-19 ที่แย่ลง SET Index ได้มีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง เราจะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่ม Value และ Momentum มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีและสร้างผลตอบแทนติดลบมากกว่า SET Index โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Value ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นหุ้นในกลุ่มที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาพื้นฐาน มีสถานะทางการเงินที่ไม่แข็งแรงนัก (Distressed Company) แต่ในทางตรงกันข้าม Quality ยังคงทำผลงานได้ดีกว่าสไตล์อื่นๆ ต่อมาเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ข่าวความสำเร็จในการผลิตวัคซีนมีผลต่ออนาคตของสภาวะทางเศรษฐกิจโดยตรงเป็นอย่างมาก มีความหวังที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในบริษัทที่เสี่ยงมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยงต่ำ หุ้นกลุ่ม Value จึงกลับมาทำผลงานได้เป็นอย่างดี และในทางตรงกันข้าม Quality สร้างผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสไตล์อื่นๆ

 

ส่วนปี 2021 นี้ ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้สามารถเปลี่ยนจากสภาวะการฟื้นตัว เป็นสภาวะการขยายตัวได้ โดยนักลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ดังนั้นหุ้นสไตล์ Value, Growth, Momentum และ Small Cap จึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจและมีโอกาสที่อาจทำผลตอบแทนได้ดีในปีนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising