จากการเปิดเผยของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงว่าโปรเจกต์ลับๆ ที่เฟซบุ๊ก (Facebook) กำลังซุ่มพัฒนาอยู่อาจจะเป็นบล็อกเชน หรือสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีของตัวเองจริงๆ ตามที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้
ถ้ายังจำกันได้ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้วเคยมีข่าวว่า ทีมพัฒนาของเฟซบุ๊กยูนิตบล็อกเชน นำโดยหัวหน้าทีมอย่าง เดวิด มาร์คัส อดีตประธานบริษัท PayPal กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาความเป็นไปได้ของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาเป็นของตัวเอง
ล่าสุดแหล่งข่าววงในของเฟซบุ๊กเปิดเผยกับ Bloomberg ว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการเงินของเฟซบุ๊กตัวใหม่นี้อาจจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสหน้า โดยมีแนวโน้มว่าจะเป็นเงินดิจิทัลชนิด Stablecoin ที่มีความแน่นอนในแง่ของมูลค่าที่ไม่ผันผวน ต่างจากคริปโตฯ ทั่วๆ ไป ตั้งเป้าเริ่มทดสอบการใช้งานจริงกับตลาดอินเดียก่อน เนื่องจากมีโอกาสทางการเติบโตที่สูง พร้อมพัฒนาให้เชื่อมต่อกับ WhatsApp Pay ที่ตอนนี้เริ่มทดสอบการใช้งานในบางประเทศแล้ว คล้ายกับว่าจะปูทางหันไปคลุกวงในบล็อกเชนและตลาดเพย์เมนต์เต็มตัว
อีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่าทีมพัฒนาบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กไม่ได้มาเล่นๆ คือ การที่ปัจจุบันยูนิตบล็อกเชนในบริษัทเฟซบุ๊กมีทีมงานร่วม 50 คนแล้ว เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อตั้งถึงกว่า 40 คน
แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของเฟซบุ๊กดูจะขัดกับเจตนารมณ์และความตั้งใจเดิมของตัวเองพอสมควร เพราะเมื่อต้นปี 2018 พวกเขาเคยออกนโยบายที่ค่อนข้างเข้มงวดในกรณีการซื้อสื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการหลอกลวงผู้บริโภค
ขณะที่ล่าสุดนอกจากจะพัฒนา Stablecoin ของตัวเองขึ้นมาแล้ว เฟซบุ๊กยังได้ออกมาเปิดเผยอีกด้วยว่า เตรียมจะผ่อนปรนกฎระเบียบข้อบังคับการซื้อโฆษณาและบูสต์โพสต์ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน, คริปโตเคอร์เรนซีและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เข้มงวดน้อยลง โดยจะตัดขั้นตอนการตรวจสอบก่อนอนุญาตบูสต์โพสต์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน, ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม, ข้อมูลความรู้และงานอีเวนต์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ ออก แต่ยังคงแบนการซื้อโฆษณาที่มีเนื้อหาเชิญชวนผู้ใช้งานมาระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) เพื่อป้องกันการฉ้อโกงของผู้ไม่ประสงค์ดีตามเดิม
ส่วนในกรณีที่เจ้าของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนหรือพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลต้องการจะโปรโมตของผลิตภัณฑ์ของตัวเองก็สามารถทำได้ แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่มาที่ไปโดยเฟซบุ๊กก่อนเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงการใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในทางที่ผิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: