สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า เว็บไซต์ของกลุ่มแฮ็กเกอร์ได้เผยแพร่ข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 533 ล้านบัญชีทั่วโลก โดยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดที่บอกครบทั้ง ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ วันเกิด อีเมล รหัสเฟซบุ๊ก และสถานะความสัมพันธ์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยคุกคามไซเบอร์แสดงความกังวลว่า อาจจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ Hudson Rock บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อมูลด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในจำนวนข้อมูลที่รั่วไหล มากกว่า 32 ล้านบัญชีอยู่ในสหรัฐฯ อีก 11 ล้านบัญชีอยู่ในอังกฤษ และ 6 ล้านบัญชีอยู่ในอินเดีย ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยข้อมูลที่รั่วออกมานี้ ยังมีข้อมูลของคนดังในแวดวงเทคโนโลยี อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กด้วย
หลังจากที่ Business Insider รายงานเกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวเป็นรายแรก สื่ออื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ ก็มีการเกาะติดและรายงานข่าวเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทาง CNN ได้ตรวจสอบกับทาง Hudson Rock แล้วพบว่า ข้อมูลที่รั่วไหลออกมาเป็นข้อมูลจริง เห็นได้จากการที่หนึ่งในข้อมูลเหล่านั้นมีของผู้สื่อข่าวอาวุโสของ CNN สองรายด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ทาง แอนดี้ สโตน โฆษกของเฟซบุ๊กได้ออกมาชี้แจงทันทีด้วยการยืนยันชัดเจนว่า ข้อมูลผู้ใช้ที่รั่วออกมานี้เป็นข้อมูลที่นานมากแล้ว อีกทั้งเฟซบุ๊กเองก็ได้ดำเนินการแก้ไขระบบไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2019 เรียบร้อยแล้ว
แม้จะยืนยันหนักแน่น แต่ เอลอน เกล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี (CTO-Chief Technology Officer) ของ Hudson Rock มองว่า ต่อให้เป็นข้อมูลเก่า แต่ลักษณะเนื้อหาข้อมูลที่รั่วออกมานี้ ล้วนทำให้บรรดาอาชญากรรมไซเบอร์สามารถขโมยตัวตนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กรั่วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยหากย้อนกลับไปในช่วงเดือนตุลาคมปี 2018 ก็มีข่าวที่ทางการอังกฤษเล็งปรับเฟซบุ๊กสูงสุด 500,000 ปอนด์ กรณีปล่อยให้ Cambridge Analytica นำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก 87 ล้านบัญชีไปใช้อำนวยประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ในเดือนเมษายนปี 2019 มีข้อมูลรั่ว 540 ล้านบัญชี ส่วนเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก็มีรายงานข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรั่วถึง 267 ล้านบัญชี
อ้างอิง: