×

สรุปแล้ว AI ของ Facebook ฉลาดจริงไหม? ทั้งที่บอกว่า 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกด้วย AI แต่ปัญหา ‘บัญชีปลอม’ ยังมีเต็มฟีดแถม Boost Post ได้ด้วย

26.10.2023
  • LOADING...
Facebook AI

สิ่งที่น่าตกใจวันนี้คือข้อมูลที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ระบุว่า คนไทยแจ้งความเรื่องโดนมิจฉาชีพโกงเงินมากถึงวันละ 600-700 คดี รวมแล้วปีละกว่า 136,000 คดี ทว่าหากนับกันจริงๆ ตัวเลขน่าจะมากกว่านี้ เพราะหลายคนก็เลือกที่จะไม่แจ้งความเพราะมีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลา

 

ตามสถิติเรื่องที่คนไทยโดนโกงเยอะที่สุดคือซื้อของออนไลน์ ตามด้วยหลอกให้โอนเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหลอกให้ลงทุนโดยให้ผลตอบแทนเยอะ ซึ่งบางคนที่มีความรู้ก็มักตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

หนึ่งในแพลตฟอร์มที่เรามักจะพบเห็น ‘บัญชีปลอม’ ปลอมจำนวนมากคือ Facebook ซึ่งเห็นบัญชีที่ปลอมเป็นคนดังหรือเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นมาว่า Facebook ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

 

เฮเซเลีย มาร์กาเรตา ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ในรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ 

 

ในเดือนธันวาคม 2565 Meta ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเทคโนโลยี AI

 

นอกจากนี้ Meta ยังใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Meta ประกอบด้วย

 

  • ใช้เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
  • ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
  • ตรวจสอบบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่างๆ อย่างเข้มข้น
  • จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
  • ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

 

แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งเฮเซเลียยอมรับว่า “วันนี้มิจฉาชีพฉลาดขึ้นมากๆ และมีวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาตลอด ทำให้แม้จะมี AI ที่ตรวจสอบอยู่แล้วก็ไม่อาจครอบคลุมได้หมด”

 

Facebook ระบุว่า นอกเหนือจาก AI แล้ว ยังมีการใช้พนักงานในการตรวจสอบบัญชีปลอมอีกด้วย โดยแต่ละประเทศจะมีคนท้องถิ่นในการดูแล แต่เมื่อถามว่ามีคนที่ดูเรื่องนี้อยู่เท่าไร รวมถึงกระบวนการในการจัดการต้องใช้เวลาเท่าไรก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน โดยตอบแค่ว่าอาจจะ 1 วัน 2 วัน หรือ 3 วัน แล้วแต่กระบวนการ

 

ที่สำคัญเหล่ามิจฉาชีพยังถึงขั้น Boost Post ใช้เงินลงโฆษณาเพื่อให้คนทั่วไปเห็นจำนวนมาก ซึ่งแม้บางครั้งถูกรายงานว่าเป็นบัญชีปลอมก็ถูก AI ตอบกลับว่า ไม่ได้ผิดมาตรฐานชุมชนเลยไม่สามารถจัดการให้ได้

 

เรื่องนี้เฮเซเลียตอบว่า บางครั้งมิจฉาชีพจะใช้วิธีที่หลอก AI เพื่อให้สามารถ Boost Post จนตรวจจับไม่ได้ แม้จะถูกรายงานแล้วก็ตามดังนั้น “ผู้ที่พบเห็นสามารถรายงานซ้ำๆ เข้ามาได้เลย” แต่เมื่อถูกถามว่าต้องรายงานมากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนอยู่ดี

 

กลายเป็นที่มาของคำถามว่า สรุปแล้ว AI ของ Facebook ฉลาดจริงไหม? เพราะข้อผิดพลาดเพียง 1% กว่าๆ ที่หลุดรอดไปอาจกลายเป็นเงินเก็บทั้งชีวิตของใครหลายคน ซึ่งเฮเซเลียก็ตอบได้แต่เพียงว่า “อนาคต AI จะเรียนรู้และฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้รู้ทันเหล่ามิจฉาชีพ”

 

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของ Facebook คือร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยในแคมเปญ #StayingSafeOnline ซึ่งเป็นแคมเปญที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับสแกมที่ดำเนินอยู่ใน 15 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน รวมถึงในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

 

โดยแคมเปญดังกล่าวนำเสนอแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ในภาษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสแกมออนไลน์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง โดยแคมเปญ #StayingSafeOnline ได้เข้าถึงผู้คนภายในภูมิภาคเป็นจำนวนกว่า 429 ล้านแล้วในปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising