×

คุยกับ F.HERO ในวันที่เปลี่ยนหลักคิดของ T-Pop มาเป็นธุรกิจสตรีทแวร์ในชื่อ ‘PLY’

08.02.2022
  • LOADING...
คุยกับ F.HERO ในวันที่เปลี่ยนหลักคิดของ T-Pop มาเป็นธุรกิจสตรีทแวร์ในชื่อ ‘PLY’

ใครหลายคนคงรู้จัก F.HERO หรือ กอล์ฟ-ณัฐวุฒิ ศรีหมอก ในบทบาทของแรปเปอร์ผู้เป็นศิลปินเจ้าของเพลงฮิต และเจ้าของชื่อต่อท้ายเพลงในฐานะศิลปินผู้ร่วมฟีเจอริงร้องท่อนแรปให้เพลงดังกว่าครึ่งหนึ่งของไทย เป็นพี่ใหญ่ในวงการที่คอยมอบโอกาสให้แรปเปอร์รุ่นน้องได้ก้าวขึ้นมามีที่ทางในวงการเพลง 

 

แต่ตั้งแต่มีโควิด ชีวิตของเขาก็ต้องพลิกบทบาท ในช่วงไร้งานแสดง แทนที่เขาจะถือโอกาสหยุดพัก กอล์ฟลงมือปลุกปั้นธุรกิจขึ้นมาหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แถมยังทำด้วยความสนุก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 

 

หนึ่งในความสนุกที่ว่า ก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ทั้งจับต้องและสวมใส่ได้อย่าง ‘PLY x ขายหัวเราะ’ การคอลแลบกันของแบรนด์รองเท้าที่เขาก่อตั้งขึ้นมาด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์อีกสองฝั่งอย่าง หนึ่ง-ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน จาก CPL ผู้ผลิตรองเท้าเพื่อความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม และ เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ ผู้บริหารแบรนด์กระเป๋าหนังอย่าง 31 Thanwa มาร่วมกันสร้างสรรค์สตรีทแวร์ที่จะเปลี่ยนความเป็นไทยให้ดูร่วมสมัย 

 

และล่าสุดทางแบรนด์ก็ได้ชวน ‘ขายหัวเราะ’ การ์ตูนที่อยู่คู่เด็กไทยมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นการ์ตูนที่มีส่วนสำคัญที่สร้างให้เขาเป็น F.HERO ทุกวันนี้ มาร่วมต่อยอดความเป็นไทยนั้นด้วยกัน 

 

กอล์ฟ F.HERO ในบทบาทที่ไม่ได้อยู่บนเวทีนั้นเป็นอย่างไร THE STANDARD POP ชวนไปทำความรู้จักอีกด้านของเขาพร้อมกัน

 

 

นอกจากความชอบด้านการแรปที่ฉายชัด มีสัญญาณอะไรส่งมาให้คุณรู้บ้างว่าอนาคตจะจับพลัดจับผลูมาเป็นนักธุรกิจ

ไม่มีเลย ตอนเด็กทั้งไม่สนใจและไม่มีแววจะเป็นเจ้าของธุรกิจอะไร ตอนทำ ‘หม่าล่าสะโบมั้ย’ กับเพื่อนคือเริ่มสนใจบ้าง แต่พาร์ตเนอร์เขาเก่งอยู่แล้ว เราก็เลยไม่ได้เข้าไปดูอะไรเท่าไหร่ 

 

มาเริ่มสนใจมากขึ้นก็ตอนโควิดนี่แหละ เหมือนพอมีวิกฤตเลยทำให้คิดได้ว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนั้นร้องเพลงไม่ได้ แสดงคอนเสิร์ตไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าต้องหยุดงานไปถึงเมื่อไหร่ ไหนจะร้านหม่าล่าที่เปิดให้คนมานั่งกินที่ร้านไม่ได้อีก จากที่เคยคิดว่ารายได้ที่มีอยู่มันพอแล้ว กลายเป็นไม่ใช่แบบนั้น เราเลยหันมาทำหมูปิ้งขายด้วย  

 

เคยคุยกับป๊อก จิราธิวัฒน์ แล้วคำพูดเขามันสะท้อนใจเรามาก เขาบอกพี่ นี่แหละมันเป็นสิ่งที่สอนเราเลยว่าไม่ควรมีรายได้ทางเดียว เราควรมีรายได้จากหลายๆ ช่องทาง แล้วดูว่าแต่ละอย่างจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง ควรจะต้องเป็นธุรกิจที่วางเอาไว้ว่าเราจะสามารถทำอะไรได้ในอนาคต 

 

นอกจากหมูปิ้งที่เปิดตอนปี 2019 ปี 2021 เราเลยทำธุรกิจไปทั่วเลย ต่อยอดจากอาหารมาสู่สิ่งที่เราสนใจคือเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ทำรองเท้า PLY ทำเสื้อผ้าสำหรับคนบิ๊กไซส์ ทำเครื่องใช้ไฟฟ้า ALTEC แล้วก็เปิดค่ายเพลง High Cloud ด้วย 

 

 

ทั้งหมดดูต้องอาศัยความรู้กันคนละศาสตร์

ใช่ เราเป็นคนอย่างนี้ เป็นคนไม่รู้ แต่ลองเลย ล้มให้เจ็บแล้วเรียนรู้ มันจะได้เป็นเร็วๆ ปี 2021 มันเลยเป็นปีแห่งการล้มมาโดยตลอด เปิดค่ายเพลงมา เราก็คิดแค่ว่าเรามีศิลปินที่ดีคือ Txrbo มีเงินลงทุนจากพิมรี่พาย มีทีม เราก็เอาเงินเหล่านั้นไปต่อยอด สร้างผลงาน มันจะไปยากอะไร แค่ปล่อยเพลงใน YouTube สตรีมมิง แล้วรอขึ้นโชว์ ปรากฏว่าปีนั้นโควิดกลับมาระบาดหนักอีกรอบ จากที่คิดว่าจะได้เงินจากการโชว์ศิลปิน ปรากฏว่าจนป่านนี้ยังไม่มีโชว์เลย 

 

แถมช่วงกลางปีรัฐบาลยังมาออกประกาศห้ามไม่ให้รวมกลุ่มกันเกิน 6 คนอีก เอ้า แล้วจะถ่ายเอ็มวีอย่างไร (หัวเราะ) สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหา มีปัญหาหมด 

 

หนึ่งปีที่ผ่านมามันเหมือนได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจแบบ Intensive Course อะไรที่เปิดไว้แล้วยังอยู่ก็เหมือนเราสอบผ่านปีหนึ่ง ถึงจะผ่านแบบฉิวเฉียดก็เถอะ ซึ่งแน่นอนว่าที่ไม่ผ่าน ติดเอฟและดรอปไปก็เยอะ อย่างธุรกิจเสื้อโอเวอร์ไซส์นี่ก็มีอันเป็นไป เพราะเราดูแลได้ไม่ทั่วถึง มันเลยทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจจะเอาแพสชันนำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรู้และความถนัดด้วย

 

 

PLY นำสิ่งที่คุณเพิ่งได้เรียนรู้นั้นมาปรับใช้ด้วยไหม 

PLY เริ่มมาจากแพสชันก่อน เราเป็นคนชอบแต่งตัว ชอบสตรีทแวร์ และเรามักจะเจอปัญหาว่าหาไซส์รองเท้าที่พอดียาก มันคือปัญหาเดียวกันกับตอนที่เราทำเสื้อโอเวอร์ไซส์ เป็นปัญหาที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีแค่เราคนเดียวที่เจอสิ่งนี้ มันต้องมีคนมีปัญหาแบบเราบ้างล่ะ เลยเป็นความคิดที่อยากจะทำสนีกเกอร์มาตั้งนานแล้ว

 

เคยคุยกับเก๋ (บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, 31 Thanwa) เรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้ทำสักที จนวันหนึ่งเขาก็ไปรู้จักกับเฮียหนึ่ง (ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน, CPL) ที่ถนัดเรื่องรองเท้าเซฟตี้สำหรับใช้ในโรงงานซึ่งอยากจะทำสนีกเกอร์พอดี เลยกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ฝ่ายหนึ่งแข็งเรื่องแฟชั่นเครื่องหนัง นอกจากแบรนด์กระเป๋า ที่บ้านเขาก็เป็นโรงงานทำรองเท้าหนังมาอยู่แล้ว เรื่องความประณีต การเก็บงานไม่ต้องเป็นห่วง ขณะเดียวกันพี่หนึ่งก็แข็งเรื่องธุรกิจรองเท้าผ้าใบ เข้าใจเรื่องการทำสนีกเกอร์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เซียนในด้านนี้อยู่แล้ว พอมาเจอเรากับทีมที่น่าจะได้เรื่องพีอาร์ มันเลยช่วยเติมรสชาติ เกิดเป็นรองเท้า PLY ที่มีคอนเซปต์ว่า Beautifully Tough เป็นการเอาแฟชั่นมาเจอกับข้อดีของ CPL กลายเป็นรองเท้าที่จะใส่สวยๆ ก็ได้ ใส่ลุยก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติกันของมีคม ชื่อ PLY ก็มาจากช้างพลาย มันมีความอึด ถึกของมัน

 

 

คอลเล็กชันก่อนหน้าดูจะเน้นความออกไปกล้า ออกไปซ่า ใช้ชีวิตให้คุ้ม กับคอลเล็กชันล่าสุดอย่าง ‘PLY x ขายหัวเราะ’ มีอะไรแนวๆ นั้นไหม 

มันเป็นความ Nostalgia มากกว่า คอลเล็กชันนี้มันคือการคอลแลบ ต่อยอดความเป็นไทยไปด้วยกันกับการ์ตูนที่เราผูกพัน แรกเริ่มเดิมทีคือเราสนใจการบริหารงานของน้องนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่นที่ 3 ของบันลือกรุ๊ป) ที่เอาความคลาสสิกมาต่อยอดไปเป็นอะไรต่างๆ เยอะมากเลย 

 

เรามอง PLY ในลักษณะเดียวกันกับ T-Pop คือจะต่อยอดความเป็นไทยอย่างไรให้ดูไม่เชย มันคือสิ่งเดียวกับที่ High Cloud อยากจะทำ คือทำอย่างไรให้มันมีเอกลักษณ์ มีลายเซ็น แต่ก็ยังสามารถไประดับโลกได้ ซึ่งเรามองว่าน้องนิวเองก็กำลังพยายามทำแบบนั้นผ่านการ์ตูนไทย 

 

ถ้าไปดูเพจขายหัวเราะจะเห็นเลยว่ามันยังเอามุกต่างๆ มาต่อยอดไปกับยุคสมัย เรายังสนุกกับแก๊กที่เขาเอามาเล่นอยู่เลย เลยสนใจอยากทำงานด้วยกัน จนสุดท้ายก็เกิดเป็นโปรเจกต์ ‘PLY x ขายหัวเราะ’ ขึ้นมา

 

 

คุณเป็นคนรักการอ่านอยู่แล้ว ขายหัวเราะถือเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของคุณหรือเปล่า

เราผูกพัน โตมากับขายหัวเราะเลยนะ น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ เลยด้วยซ้ำที่ทำให้รักการอ่านหนังสือ

 

บ้านเราจนเนอะ พ่อเป็นยามอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย เด็กๆ พอพ่อไปรับจากโรงเรียน เราก็ต้องนั่งเล่นอยู่ที่ธนาคารเพราะพ่อต้องกลับไปทำงาน ทีนี้ที่ธนาคารเขาก็จะมีหนังสือขายหัวเราะตั้งไว้ให้ลูกค้าอ่าน เราก็เอามานั่งอ่าน อ่านแล้วก็มีความสุข เริ่มจากการ์ตูน 3 ช่องไปอ่านการ์ตูนเรื่องยาว สองเกลอ สาวดอกไม้ จนพอไม่รู้จะอ่านอะไรก็เริ่มอ่านนิยายในนั้น อ่านซ้ำไปซ้ำมา จนมันปลูกฝังให้เราเป็นคนรักการอ่านไป เลยเริ่มต่อยอดไปนิยายจีนต่างๆ

 

มุกในการ์ตูนก็ทำให้เรารู้ข่าวสาร ตอนเป็นเด็กนี่เข้าใจเรื่องพฤษภาทมิฬจากขายหัวเราะเลย ถ้าสังเกตมุกต่างๆ มันคือจดหมายเหตุ เวลาเขาม็อบอะไรกัน เขาก็จะมาเขียนเป็นการ์ตูน 3 ช่อง ล้อเลียนสถานการณ์ จิกกัดการเมืองตลอด 

 

 

ทำไมถึงเป็น 4 ลายนี้

ตอนแรกที่คิดมีตั้งแต่แก๊กเมียถือสากกะเบือ ผัวกลับบ้านมาแล้วรอตี แก๊กหมอผีโอมจงลงๆ เลย คิดเยอะมาก แต่คัดแล้วก็คิดว่าต้องเป็น 4 ลายนี้ คือแก๊กจอมยุทธ์หมูออมสินกับนินจาเงาดำ เพราะส่วนตัว Respect พี่หมู นินจา เรื่องกระบี่หยามพิภพนี่เป็นเรื่องที่เราชอบมาก แก๊กโจรมุมตึกกับเหยื่อ เราก็จะเห็นตลอดอยู่แล้วว่าเป็นแก๊กคลาสสิกที่นักเขียนทุกคนต้องวาดมาโดยตลอด อีกแก๊กก็ไอคอนของขายหัวเราะ อย่างบอกอวิติ๊ดที่เขาเป็นคู่ปรับกันกับไก่ย่างวัลลภ และสุดท้ายก็คือลายขายหัวเราะกับ PLY เพื่อสื่อว่านี่คือการคอลแลบกัน

 

 

ศิลปินดูจะขับเคลื่อนทุกอย่างโดยใช้อารมณ์ แต่กับการทำธุรกิจบางครั้งอาจต้องใช้เหตุผลมาประกอบด้วย คุณบาลานซ์สองสิ่งนี้อย่างไร 

สิ่งที่เราเรียนรู้คือ บางอย่างทำให้ดีได้ด้วยการไม่ทำ 

 

การเป็นเจ้าของไม่ได้หมายความว่าเราต้องมานั่งทำเอง ผู้บริหารที่ดีบางทีต้องรู้ด้วยว่าเราไม่ควรทำอะไร เราต้องเรียนรู้ที่จะปล่อย หาคนที่เหมาะมาทำให้เรา แต่เราก็ต้องไม่ปล่อยในเรื่องของภาพรวม เพราะอย่างไรมันก็คือสิ่งที่เราสร้างมา เรายังต้องควบคุมดูแลอยู่เพื่อไม่ให้ภาพต่างไปจากสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ 

 

 

มองภาพตัวเองเป็นนักธุรกิจแบบไหน

เอาจริงๆ เราไม่น่าจะเก่งเรื่องธุรกิจ (หัวเราะ) สิ่งที่เราเหมาะน่าจะคือการเป็นเจ้าของอะไรสักสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ดูแล้วน่าจะเป็นได้แค่ Owner หรือ Founder แต่ไม่ใช่ CEO 

 

ไม่ว่าจะในบทบาทไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วมันคือการทำสิ่งที่เรามีความสุข อะไรที่ทำแล้วฝืนหรือทุกข์ก็อย่าไปฝืนมัน ทำในสิ่งที่รู้สึกว่าถนัดและมีความสุขแค่นั้นเอง ซึ่งสุดท้ายเราพบว่าสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่สุดก็คือการนั่งอยู่ในสตูดิโออยู่ดี มันหนีตัวเองไม่พ้นเลย เพียงแต่ว่าธุรกิจที่ขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องดูแล คุมภาพรวมทำให้มันทำงานไปได้ต่อ

 

 

ถ้าปีที่แล้วคือ Intensive Course ด้านธุรกิจ ปีนี้จะเป็นอย่างไร

ปีนี้เป็นปีของการเข้าใจและปรับแผน ที่ผ่านมาเราเป็นเหมือนผู้จัดการทีมที่วางนักเตะไว้ไม่ค่อยถูกตำแหน่งเท่าไหร่ แต่พอปีนี้เราเรียนรู้ที่จะถอยออกมา มันเลยเห็นกว้างขึ้น ได้ผ่านความยากลำบากของปีก่อนมาแล้วก็ทำให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น 

 

มันเหมือนเป็นนักเรียนที่เข้าปี 1 ใหม่ เพิ่งเริ่มได้ 1-2 ปีเอง ก็ค่อยๆ ทำคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ถึงเกียรตินิยมเลยไหมก็ไม่ได้คิดขนาดนั้น คงเป็นปีที่เราจะเอาธุรกิจทั้งหมดนี่แหละเป็นตัวไดรฟ์ชีวิต มันเหมือนเราลงมือปลูกไปแล้ว ปีนี้ก็จะเป็นปีแห่งการรดน้ำพรวนดิน 

 

ติดตามข่าวสารของ PLY ได้ที่ https://www.facebook.com/plysneakers 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X