×

อินโดนีเซียจ่อขึ้นแท่นฮับกักเก็บคาร์บอนอาเซียน หลังบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ExxonMobil, BP และญี่ปุ่น หลั่งไหลทุ่มลงทุนโครงการขนาดใหญ่

05.06.2024
  • LOADING...

สภาวะโลกร้อนทั่วโลกมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage หรือเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้หลายๆ ประเทศต้องอาศัยการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี 

 

นำมาสู่โอกาสของอินโดนีเซียที่จ่อขึ้นแท่นฮับปิโตรเคมีและโรงงานดักจับและกักเก็บคาร์บอนของอาเซียน! หลังบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ExxonMobil และ BP รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หลั่งไหลเข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง

 

หลังจากที่ช่วงปลายปีที่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียชุดที่ผ่านมา นำโดยอดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เผยว่า บริษัท ExxonMobil ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันจากสหรัฐฯ เตรียมทุ่มเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 5 แสนล้านบาท ในอินโดนีเซีย

 

ล่าสุด วานนี้ (4 มิถุนายน) รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาระบุว่า ขณะนี้ ExxonMobil บริษัทน้ำมันรายใหญ่สัญชาติสหรัฐ และ BP บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่สัญชาติอังกฤษ ต่างอยู่ระหว่างวางแผนก่อสร้างโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในอินโดนีเซีย ซึ่งสอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่ผลักดันให้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชีย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โครงการดังกล่าวนำโดย Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ลงนามข้อตกลงกับ ExxonMobil และ Korea National Oil Corp. และพันธมิตร ร่วมกันพัฒนาพื้นที่กักเก็บคาร์บอนใกล้กับแหล่งน้ำมันในเกาะสุมาตรา โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ และจะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 3 พันล้านตัน 

 

นิคเก วิดยาวาตี ประธานผู้อำนวยการของ Pertamina กล่าวว่า อินโดนีเซียมีความพร้อมและศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการนี้จะช่วยผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการลดการปล่อยคาร์บอนภาคอุตสาหกรรม 

 

นอกจากนี้ BP และพันธมิตรก็อยู่ระหว่างวางแผนเปิดตัวโรงงานดักจับคาร์บอนแห่งแรก (CCS) ในอินโดนีเซีย ที่จังหวัดปาปัวตะวันตก (West Papua) โดยโครงการนี้มีการลงทุนสูงราวๆ 2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2026) 

 

โรงงานแห่งนี้จะสร้างขึ้นจากโครงการก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะมีความจุ 1.8 พันล้านตัน

 

ทั้งนี้ โรงงานดักจับคาร์บอนไม่เพียงแต่แยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตก๊าซในบริเวณใกล้เคียงได้เท่านั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีรายได้จากการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลงทุนในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย

 

ด้านกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแหล่งน้ำมันและก๊าซในอินโดนีเซีย สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4.8 หมื่นล้านตัน เมื่อรวมชั้นหินอุ้มน้ำเค็มแล้วจะมีศักยภาพรองรับความจุซึ่งจะสูงถึง 5.7 แสนล้านตัน

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ด้วยศักยภาพทรัพยากรของอินโดนีเซีย รัฐบาลจึงต้องการใช้จุดแข็งเหล่านี้ผลักดันเป็นศูนย์กลางการดักจับคาร์บอนของเอเชีย 

 

โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลออกกฎหมาย อนุญาตให้จัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่นำเข้าได้ และภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะสามารถรองรับการกักเก็บคาร์บอนทั่วโลกที่ประมาณ 69 ล้านตันต่อปี  

 

สำหรับอินโดนีเซียมีนโยบายด้านพลังงาน ตั้งเป้าจัดเก็บคาร์บอนที่ผลิตในประเทศอยู่ที่ 70% ของกำลังการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่วนอีก 30% สามารถจัดเก็บจากต่างประเทศ 

 

นอกจากโครงการข้างต้นจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ยังสามารถสร้างบุคลากรและองค์ความรู้ในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีจากธุรกิจที่นำเข้าคาร์บอนได้ ส่งผลให้อินโดนีเซียอาจเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต 

 

ทุนต่างชาติหลั่งไหล สร้างโรงงานดักจับคาร์บอนอินโดนีเซีย

 

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อินโดนีเซียและสิงคโปร์ตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาภาคขนส่งและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะเจรจากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกี่ยวกับการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Cross-Border Carbon Transport)

 

ทำให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นต่างกำลังมองหาพื้นที่ศักยภาพจากอินโดนีเซียที่มีแผนผลักดันการเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บคาร์บอนระดับโลก ซึ่งเมื่อไม่นานนี้จะเห็นว่า กลุ่มพลังงาน INPEX จากญี่ปุ่น วางแผนที่จะพัฒนาโรงงานดักจับคาร์บอนที่โครงการก๊าซธรรมชาติ Abadi ของอินโดนีเซีย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2030

 

ด้าน เคนจิ ฮาเซกาวะ ผู้อำนวยการบริษัท INPEX Masela (จาการ์ตา) กล่าวว่า บริษัทยังพิจารณาจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต่างประเทศด้วย  

 

อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการกักเก็บคาร์บอนในประเทศยังไม่ชัดเจนมากนัก มีเพียงโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่เท่านั้นที่อยู่ภายใต้กฎการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแผนการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับบริษัทต่างๆ ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากอุปสงค์ในประเทศไม่ลดลง อาจมีผลต่อการเติบโตของการนำเข้าคาร์บอน จึงต้องกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น

 

มาเลเซียจ่อใช้กฎหมายจัดเก็บคาร์บอน 

 

ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน นอกจากไทยที่อยู่ระหว่างวางแนวทางจัดเก็บภาษีคาร์บอน มาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ก็กำลังเตรียมที่จะเสนอกรอบกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติในปีนี้สำหรับภาษีการจัดเก็บคาร์บอนเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า มากกว่า 80% ของการใช้ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันยังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ด้วยอนาคตคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นแนวทางลดการปล่อยคาร์บอน เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นกุญแจสำคัญของนานาประเทศ ดังนั้น การลงทุนของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อาจผลักดันให้อินโดนีเซียก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในไม่ช้า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X