ธปท. ขยายอายุมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่ออีก 1 ปี ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 หลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง แต่ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ โดยให้โอนวงเงินคงเหลือมารวมภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และติดตามผลการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง
โดยความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566 ธปท. ได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ให้แก่ลูกหนี้แล้วจำนวน 61,073 ราย รวมทั้งสิ้น 222,324 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 90% ของวงเงินที่ตั้งไว้ ซึ่งมีการกระจายตัวดีทั้งระดับขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,676 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ 476 ราย รวมยอดสินทรัพย์ที่ตีโอนทั้งสิ้น 72,057 ล้านบาท คิดเป็น 72% ของวงเงินที่ตั้งไว้ และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,943 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งสองจะครบกำหนด 2 ปี ในวันที่ 9 เมษายน 2566
ทั้งนี้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงเห็นควรดำเนินการดังนี้
- ขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ต้องการปรับตัว
- ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้
- โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต่อไป ซึ่งจะทราบวงเงินคงเหลือดังกล่าวในวันที่ 9 เมษายน 2566
โดยหวังว่าการขยายเวลาให้กับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับสภาพคล่องและความช่วยเหลือเพิ่มเติม ตลอดจนเอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สอดรับกับ New Normal ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68