×

‘พาณิชย์’ เผยส่งออก 10 เดือนแรกปี 2563 ติดลบ 7.26% ชี้ 3 กลุ่มหลัก ‘อาหาร-WFH-สินค้ากันโควิด-19’ ยังเติบโต

23.11.2020
  • LOADING...
พิมพ์ชนก วอนขอพร

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.71% ขณะที่ 10 เดือนแรก (มกราคม ถึง ตุลาคม) ปี 2563 การส่งออกไทยมีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.26% ถือว่าหดตัวน้อยลงกว่าช่วงก่อนหน้า เพราะการค้าระหว่างประเทศของไทยฟื้นตัวจากทิศทางเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น

 

ด้านการนำเข้าของไทยมีมูลค่า 169,702.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.61% ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังประเทศต่างๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 

 

ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้ากระเตื้องขึ้น สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ (โต 17%) และออสเตรเลีย (โต 4.2%) รวมถึงตลาดอื่นที่ฟื้นตัว เช่น อินเดีย (โต 13.7% กลับมาบวกในรอบ 15 เดือน) 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่ยังหดตัว ได้แก่ ตลาดจีนหดตัว 6.1% ตลาดอาเซียน (5) หดตัว 27.2% ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 5.3% ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัว 0.4% ขณะที่การค้าชายแดนของไทยโดยเฉพาะประเทศใน CLMV หดตัว 17% จากผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส

 

ทั้งนี้กลุ่มสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี มี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

 

  1. สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร 
  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ 
  3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในระยะนี้

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (-75.0%) ข้าว (-20.1%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-12.4%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-3.0%) และสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันปาล์ม (+183.0%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+17.4%) ยางพารา (+13.1%)

 

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 4.7% (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ทำให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 7.0% เดือนตุลาคม 2563 มีสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ (-27.1%) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-19.8%)  เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (-13.2%) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-12.6%) 

 

ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+25.7%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (+19.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+17.6%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+4.2%) 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X