×

‘ผู้ส่งออก’ อ่วม! ส่อแบกต้นทุนค่าระวางเพิ่ม หลังเรือยักษ์ติดคลองสุเอซ ทำปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนมากขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2021
  • LOADING...
‘ผู้ส่งออก’ อ่วม! ส่อแบกต้นทุนค่าระวางเพิ่ม หลังเรือยักษ์ติดคลองสุเอซ ทำปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนมากขึ้น

ปัญหาเรือสินค้าขนาดยักษ์ที่แล่นขวางคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญที่เชื่อมระหว่าง ‘เอเชีย’ กับ ‘ยุโรป’ กำลังสร้างปัญหาใหญ่ในตลาดการค้าโลก 

 

แม้แต่ผู้ส่งออกสินค้าไทยก็เผชิญปัญหานี้ด้วย เพราะทำให้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเดิมก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว กลายเป็นปัญหาที่หนักมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าระวางเรือ ถือเป็นต้นทุนของผู้ส่งออกที่ต้องจ่ายเพิ่ม

 

กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้ แต่รู้ว่ามีปัญหาแน่ๆ โดยขึ้นกับระยะเวลาของการแก้ปัญหาที่คลองสุเอซ ถ้าใช้เวลาเพียงแต่ 2 วัน ผลกระทบก็คงไม่มาก แต่ล่าสุดมีข่าวว่าอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลโดยตรงต่อค่าระวางเรือที่อาจสูงขึ้น ยิ่งปัจจุบันค่าระวางเรือก็อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว

 

“ที่กระทบแน่ๆ คือค่าใช้จ่ายจากค่าระวางเรือที่เขาอาจเรียกเก็บจะแพงขึ้น เพราะปัญหานี้ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนอยู่แล้วจะหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำเข้าสินค้าผ่านเส้นทางนั้นไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ จึงอาจทำให้ค่าระวางเรือมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก”

 

กัญญภัคกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันผู้ส่งออกสินค้าเผชิญกับปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้นจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน อีกทั้งจีนเองยอมที่จะจ่ายค่าระวางเรือในระดับสูงเพื่อส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาค่าระวางเรือปรับขึ้นต่อเนื่องถึง 4-5 เท่า จากเดิมที่เคยอยู่ระดับเพียง 700-800 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดขยับขึ้นมาสูงกว่าระดับ 4 พันดอลลาร์แล้ว

 

สำหรับเส้นทางการส่งสินค้าผ่านคลองสุเอชนี้ กัญญภัคกล่าวว่า เป็นเส้นทางหลักที่ส่งสินค้าไปขายยังกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกเกือบๆ 30% ของการส่งออกสินค้าทางเรือ

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีกล่าวว่า ผลกระทบน่าจะเป็นระยะสั้น เพียงแต่จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น ซึ่งถือเป็นผลกระทบสองเด้งที่ผู้ส่งออกต้องเจอ 

 

นอกจากนี้อีกผลกระทบที่เราห่วงคือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะโดนผลกระทบในส่วนนี้ไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อซัพพลายเชนอื่นๆ เพราะจะไม่สามารถนำเข้าสินค้ามาผลิตเพื่อการส่งออกได้

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกระทบเพียงช่วงสั้น แต่สิ่งที่ห่วงและต้องจับตาดูเพิ่มเติมคือ ปัญหาดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นไปอีกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันก็ขึ้นมาในระดับที่ค่อนข้างสูงแล้ว ประเด็นนี้จะยิ่งกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าได้

 

สำหรับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในส่วนของเบรนท์ ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งอมรเทพประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มว่าราคาจะขึ้นมาเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ราคาสูงกว่าที่ประเมินไว้ โดยอาจมาอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็เป็นได้ ในกรณีที่ขึ้นมาระดับนี้จริงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง โดยธุรกิจที่โดนผลกระทบหนักคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและสายการบิน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising