กระทรวงพาณิชย์เผย ส่งออกไทยเดือนสิงหาคมขยายตัว 2.6% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน คาดเดือนหน้าอาจกลับมาติดลบจากฐานสูง แต่ไตรมาส 4 แนวโน้มสดใส ลุ้นทั้งปีอาจไม่ติดลบ
กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม 2566 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% พลิกโผจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะติดลบ 3.5-5.0% โดยตัวเลขที่ออกมาถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือนของการส่งออกไทย ขณะที่การนำเข้าในเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ หดตัว 12.8% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรก (เดือนมกราคม-สิงหาคม) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 187,593.1 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.5% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 195,518.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.7% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 7,925.4 ล้านดอลลาร์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตัวเลขส่งออกและดุลการค้าที่พลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนสิงหาคม เป็นผลมาจากภาคการผลิตโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน อยู่ที่ 2.5% สินค้าหมวดเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 4.2% ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมเกษตรยังคงหดตัว 1.5%
สำหรับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีประเมินว่า มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า
โดยคาดว่าตลาดหลักในการส่งออกของไทยอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
“การส่งออกในเดือนกันยายนยังมีโอกาสกลับมาติดลบได้จากฐานที่สูงในปีก่อน แต่ตลอดช่วงไตรมาส 4 เชื่อว่าการส่งออกจะเป็นบวก ทำให้ภาพรวมส่งออกไทยในปีนี้อาจติดลบเพียง 1% หรือขยายตัวเป็น 0% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ การที่เงินบาทในปัจจุบันอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีส่วนช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้นด้วย” กีรติกล่าว
ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยอีกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก โดยยังคงให้รักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ 1-2% และมีนโยบาย ‘เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก’ ใน 4 ด้าน ได้แก่
- ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว
- จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ
- แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
- ผลักดันและสร้างระบบนิเวศในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค
นอกจากนี้มีนโยบาย ‘ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA’ โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SDGs เป็นต้น