×

หุ้นส่งออกเด่นครึ่งปีแรก! ทั่วโลกเร่งเติมสต๊อกสินค้า แต่ต้องระวังเงินบาทแข็งค่า

24.01.2021
  • LOADING...
หุ้นส่งออก

จากตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเปิดเผยออกมาล่าสุด และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยพลิกกลับมาเติบโต 4.71% สูงสุดในรอบ 22 เดือน 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคมที่ออกมาเติบโต 4.7% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ -1.4% ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2563 ติดลบ 6% 

 

สำหรับสินค้าส่งออกที่สูงกว่าคาด ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16% ยาง +30% และรถยนต์ +4.9% โดยประเทศเป้าหมายที่ส่งออกไปหลักๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน 

 

สำหรับแนวโน้มปี 2564 เชื่อว่า การส่งออกจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มยางพารา จากความต้องการใช้ในส่วนของถุงมือยาง รวมถึงกลุ่มยานยนต์ ซึ่งเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 

 

“การส่งออกที่ฟื้นตัวทำให้เห็นคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมากในหลายบริษัท อย่าง KCE ซึ่งปัจจุบันต้องสั่งซื้อล่วงหน้า 4 เดือน จากปกติที่เป็นการผลิตตามคำสั่งที่เข้ามา และบริษัทเองก็มีแผนจะขยายกำลังการผลิตอีก 30-40% ในปีนี้ โดยรวมมองว่า การส่งออกน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องตลอดครึ่งปีแรกนี้ หลังจากดีมานด์ฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่สต๊อกสินค้าอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นภาพของการ Restocking ให้กลับขึ้นมาเท่ากับระดับปกติ”

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของครึ่งปีหลังยังไม่แน่ว่าจะดีต่อเนื่อง ด้วยฐานที่สูงขึ้นในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของหุ้นกลุ่มส่งออกคาดว่า จะเป็นภาพคล้ายกันกับการส่งออกจริงคือ ครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตได้ แต่อาจต้องระมัดระวังในครึ่งปีหลัง 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคมที่ออกมาดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แต่สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้นคือเรื่องของค่าเงินบาท เพราะจะเข้ามาบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน โดยคิดว่าเงินบาทน่าจะยังคงแข็งค่าในระดับนี้ต่อเนื่อง 

 

“ส่วนตัวมองว่า ธปท. น่าจะบริหารค่าเงินได้ค่อนข้างลำบาก ทั้งจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่อเนื่อง และไทยเองอยู่ในลิสต์ของประเทศที่ต้องจับตาเรื่องแทรกแซงค่าเงิน ทำให้หุ้นในกลุ่มส่งออกอาจจะทำกำไรดีมากได้ค่อนข้างยาก” 

 

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในการส่งออก (ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน) ถือว่าอยู่ในระดับกลาง คือ มี 5 ประเทศที่ค่าเงินแข็งมากกว่า ได้แก่ จีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และฮ่องกง และมีอีก 5 ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่ามากกว่า ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ 

 

“เรื่องของค่าเงินอาจต้องดูว่าสินค้านั้นๆ เราแข่งขันกับประเทศใด หากแข่งกับประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ อย่าง KCE ได้ประโยชน์จากที่จีนแข็งกว่าเรา ต้องดูว่าสินค้าไหนเราแข่งกับใคร ถ้าแข่งกับคนที่แข็งค่าน้อยกว่าเรา ก็อาจจะเสียเปรียบ และทำให้บริษัทไม่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

 

ส่วนหุ้นในกลุ่มส่งออกอาจจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดเท่านั้น โดยอาจจะยังเห็นรายได้ของหุ้นกลุ่มนี้เติบโตได้เรื่อยๆ แต่หุ้นกลุ่มที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมา น่าจะให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในส่วนของ Hard Commodities อาทิ กลุ่มน้ำมัน ปิโตรเคมี รวมถึง Soft Commodities อย่างกลุ่มสินค้าเกษตร นอกจากนี้หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ก็น่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาด 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising