×

ทิศทางการส่งออกปี 2023 และความเสี่ยงที่ต้องติดตาม

09.03.2023
  • LOADING...
การส่งออกปี 2023

เริ่มต้นปี 2023 กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณบวก ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวขยายตัวดี รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง แต่ที่ยังเป็นกังวลคงไม่พ้นตัวเลขการส่งออกที่ติดลบมาเป็นเดือนที่ 4 และมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยจะหดตัวตลอดไตรมาสแรกของปี 2023 สำหรับในระยะต่อไป เราคงต้องติดตามทิศทางการส่งออก จะสามารถรักษาการเติบโตได้หรือไม่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและยังคงมีปัจจัยเสี่ยง แม้มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากการที่จีนเข้าสู่โหมดฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเปิดประเทศเร็วขึ้น และกำลังซื้อในตลาดโลกปรับดีขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลง 

 

มองการส่งออกของไทยปี 2023 อาจเผชิญการหดตัวเป็นปีแรกหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ภาพรวมปี 2022 มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวที่ 5.5% ชะลอลงจากปี 2021 ที่เติบโต 17.4% โดยเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2022 ต่อเนื่องมาในเดือนมกราคม 2023 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อ บวกกับการผลิตโลกชะลอตัว ทำให้มีการนำเข้าลดลง 

 

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมการส่งออกจะลดลง แต่สินค้าสำคัญหลายรายการยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ไก่สดแช่แข็ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตลาดส่งออกที่กลับมาขยายตัว ได้แก่ สหภาพยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย แอฟริกา และอาเซียน นอกจากนี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มทุนและวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่านำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้

 

สำหรับในครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกจะปรับดีขึ้น แม้ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่บั่นทอนกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงกว่า 26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด 

 

อีกทั้งห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขั้นต้นและกลางของไทยที่ส่งออกไปตลาดจีนก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าฟุ่มเฟือย ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงตามวัฏจักรขาลงของตลาดโลก นอกจากนี้บรรยากาศการค้าโลกที่ยังตึงเครียดจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันยังคงมีปัจจัยบวก โดยเฉพาะการที่เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว เป็นแรงหนุนพยุงการส่งออกไม่ให้ทรุดตัวลงมาก การเปิดประเทศของจีนที่เกิดขึ้นเร็วตั้งแต่ต้นปี 2023 โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5.2% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% ของรัฐบาลจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้น และช่วยขับเคลื่อนภาพรวมการส่งออกของโลก 

 

สำหรับการส่งออกของไทยไปยังจีน (สัดส่วน 12% ของการส่งออกรวม) ประเมินว่าจะกลับมาขยายตัวได้ราว 4% ในปี 2023 จากที่หดตัว 7.7% ในปี 2022 โดยสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป กลุ่มผลไม้สด กลุ่มอาหารสุขภาพ นอกจากนี้ ตลาดอาเซียน (สัดส่วน 25% ของส่งออกรวม) ยังคงเป็นตลาดที่เติบโตดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะอาเซียน-5 ที่ IMF คาดว่าจะเติบโตที่ 4.3% 

 

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงสถานการณ์โควิดที่คาดว่าจะคลี่คลายมากขึ้นในปีนี้ เป็นอีกปัจจัยบวกสนับสนุนการส่งออก โดยค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลงใกล้เคียงระดับปกติ โดยในช่วงปี 2017-2019 ก่อนสถานการณ์โควิด มูลค่าระวางสินค้าเฉลี่ยต่อปีที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบหลายปีที่ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2022 ค่าระวางสินค้ายังคงปรับสูงเฉลี่ยที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันในปี 2021 

 

สำหรับปี 2023 ราคาพลังงานในตลาดโลกนำโดยกลุ่มน้ำมันดิบดูไบที่มีแนวโน้มลดลงจาก 97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ในปี 2022 มาที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับต่ำเท่ากับก่อนสถานการณ์โควิดก็ตาม แต่จะส่งผลกระทบทำให้ราคาค่าขนส่งปรับตัวลดลง จากการส่งผ่านด้านต้นทุนราคาพลังงานมาสู่ค่าระวางเรือ 

 

จากปัจจัยหลากหลายที่กล่าวมา ทำให้ทั้งปี 2023 มองภาพรวมการส่งออกจะอยู่ในทิศทางหดตัวเล็กน้อยในกรอบ 0 ถึง -1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.5% ซึ่งนับเป็นการหดตัวเป็นปีแรกนับตั้งแต่ยอดมูลค่าการส่งออกกลับสู่ภาวะปกติก่อนสถานการณ์โควิด และทำสถิติใหม่เร่งตัวสูงเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันจนกลายเป็นฐานการส่งออกที่สูงมาก โดยเฉพาะในปี 2021

 

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากตลาดการเงินที่ยังมีความผันผวนอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนเป็นไปในทิศทางอ่อนค่าลงจากการเคลื่อนไหวแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ภายในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทย ณ สิ้นปี 2023 อยู่ที่ระดับ 2.00-2.25% จะเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น ณ สิ้นปี 2023 คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วง 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2022

 

กล่าวโดยสรุป ปี 2023 เป็นปีที่ภาคการส่งออกของไทยมีทิศทางไม่สดใส หลังจากทำสถิติโตสูงสุดหลังวิกฤตโควิด ภายใต้ความท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงินบาท ผู้ประกอบการส่งออกจึงควรรับมือด้วยการเน้นตลาดที่ยังคงมีศักยภาพเติบโต เจาะตลาดใหม่ๆ รวมทั้งใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผันผวนของค่าเงินบาท เช่น ทำการค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X