เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยังคงเกิดขึ้นรายวันและเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ไม่หวังดีมีการใช้กลยุทธ์กลวิธีที่หลากหลายตามแต่ละพื้นที่ เช่น การดักซุ่มยิง การวางระเบิดแสวงเครื่อง เป็นต้น
ขณะที่ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการก่อเหตุร้ายที่ใช้ยุทธวิธีทางสงครามเข้ามาก่อเหตุกับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ นั่นคือกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้มีอุบัติการณ์การใช้ ‘กับระเบิด’ ต่อผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 5 ครั้งภายในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่กับระเบิดเหล่านี้ถูกฝังไว้ในสวนยาง และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์คือเหยื่อของการก่อเหตุครั้งนี้
โดยมีรายงานล่าสุดว่าเมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้ (5 ก.ค) มีผู้กรีดยางพาราเหยียบกับระเบิดในสวนยางพาราได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดที่บ้านทุ่งยามู หมู่ 4 ตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา บริเวณใต้โคนต้นยางพารามีหลุมที่เกิดจากแรงระเบิด เป็นหลุมขนาดตื้นๆ มีเลือดกระจายไปทั่ว
ผู้บาดเจ็บคือ นายจรินย์ จันทร์ลึก อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 79/5 หมู่ 4 บ้านทุ่งยามู ตำบลยุโป ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า ดวงตา แขนขวา ขา และปลายเท้าขวา ยังรู้สึกตัวดี เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา
สาเหตุคาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบประสงค์จะทำร้ายชาวสวนยางพาราที่เจ้าของและลูกจ้างกรีดยางเป็นไทยพุทธ เพื่อสร้างสถานการณ์และหวังให้ญาติพี่น้องของตนรับซื้อสวนยางพาราคนไทยพุทธในพื้นที่ที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ในราคาถูก
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีการใช้กับระเบิดกับผู้บริสุทธิ์ว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกออกมาต่อต้านการใช้กับระเบิดในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธ เนื่องจากความรุนแรงของกับระเบิดจะทำให้ผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเด็กๆ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง หรือผู้ชายต้องเสียชีวิตหรือกลายเป็นผู้พิการ
หากใครมีโอกาสไปที่ทำการสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา จะเห็นประติมากรรมเก้าอี้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารสหประชาชาติที่ขาข้างหนึ่งของเก้าอี้หัก ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหยื่อกับระเบิดในพื้นที่สงครามและพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก
กรณีผู้ก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำการฝังกับระเบิดในสวนยาง ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บหรือพิการจึงเป็นเรื่องที่สมควรถูกประณาม
นางอังคณากล่าวอีกว่า รัฐต้องหันมาตรวจสอบพื้นที่ที่อาจมีการฝังกับระเบิดอย่างจริงจังเพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ตามที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาต้านกับระเบิด (Mine Ban Treaty) ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันให้ต้องขจัดกับระเบิดให้หมดสิ้นไป
สำหรับเหตุระเบิดที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นคนกรีดยางพาราชาวไทยพุทธเกิดขึ้นในห้วง 8 วัน หรือ 2 สัปดาห์ รวมแล้วมีจำนวน 5 รายตามลำดับวันที่ในการก่อเหตุการณ์คือ
28 มิถุนายน: นางนิภาวรรณ ปลอดแก่นทอง อายุ 34 ปี ขาซ้ายขาดขณะกรีดยางในตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
30 มิถุนายน: นายชุติพนธ์ นามวงค์ อายุ 47 ปี โดนระเบิดในตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
2 กรกฎาคม: นายสุทิน แห้วขุนทด อายุ 60 ปี เหยียบกับระเบิดในสวน หมู่ 2 ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
4 กรกฎาคม: นายสุโข คำแก้ว อายุ 45 ปี โดนระเบิดในสวนที่บ้านกาสัง หมู่ 5 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
5 กรกฎาคม: นายจรินย์ จันทร์ลึก อายุ 47 ปี เหยียบระเบิดในสวนที่บ้านทุ่งยามู หมู่ 4 ตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
อ้างอิง: