การเปิดประเทศของจีน และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้หุ้นเอเชียในปีหน้ากลับมาสร้างผลตอบแทนได้ดีอีกครั้ง หลังต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยลบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
Bloomberg ได้สำรวจมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์เอเชียจาก 11 สถาบันการเงินชั้นนำ โดยพบว่าผู้เชี่ยวชาญ 10 จาก 11 รายมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นเอเชียในปีหน้า และคาดการณ์ว่าโดยเฉลี่ยดัชนีหุ้นในเอเชียจะปรับเพิ่มขึ้นที่ 9%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก
“หุ้นเอเชียจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทำผลงานได้ดีขึ้นในปีหน้า โดยคาดว่าผลตอบแทนจะเริ่มรีบาวด์กลับมาตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป” Frank Benzimra หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตราสารทุนในเอเชียของ Societe Generale SA กล่าว
นับจากต้นปีที่ผ่านมา ดัชนี MSCI Asia Pacific ไม่นับรวมญี่ปุ่น ปรับลดลงไปแล้ว 19% ซึ่งเป็นการติดลบเป็นปีที่ 2 หลังจากที่ในปี 2021 ปรับลดลง 4.9% โดยเฉพาะในปีนี้เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้ถูกถอนออกจากตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชีย ไม่รวมจีน ไปแล้วมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี การที่ปัจจัยลบต่างๆ เช่น การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ การล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิดของจีน และปัจจัยการขาดแคลนชิป จะเริ่มคลี่คลายลงในปีหน้า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีมุมมองต่อหุ้นเอเชียในเชิงบวกมากขึ้น
ผลสำรวจของ Bloomberg ระบุว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้หุ้นเอเชียกลับมาทำผลงานได้ดีคือการเปิดประเทศของจีน ซึ่งจะช่วยให้ GDP จีนในปีหน้าขยายตัวได้ใกล้เคียง 5% และส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้าของจีนในภูมิภาค ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเงินดอลลาร์ที่เริ่มมีทิศทางอ่อนค่า
“เราคิดว่าเอเชียจะสามารถทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2023 นักลงทุนทั่วโลกจะย้ายเงินทุนจากสหรัฐฯ มายังเอเชีย ด้วยอัตรากำไรที่เหนือกว่า และรอบการทำกำไร ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และการปรับ EPS ที่พลิกกลับมาเป็นบวก” Dan Fineman หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตราสารทุนในเอเชีย-แปซิฟิกของ Credit Suisse Group AG กล่าว
Tina Teng จาก CMC Markets ระบุว่า หุ้นจีนจะกลับมาน่าลงทุนอีกครั้งในปีหน้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจาก Allianz SE, Morgan Stanley และ Goldman Sachs มองว่าเกาหลีใต้และไต้หวันจะได้รับประโยชน์จากการสั่งซื้อสินค้ากลุ่มเทคฯ ฮาร์ดแวร์เข้าคงคลัง ทำให้หุ้นของทั้งสองประเทศนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น
อ้างอิง: