การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารในร้านอาหารของเกาหลีใต้ 7.4% เมื่อเดือนที่แล้วเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 24 ปี ส่งผลให้ ‘อาหารกลางวัน’ กลายเป็นภาระของคนทำงานแทน
ตามรายงานของหน่วยงานด้านการเกษตรของสหประชาชาติ ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้น 23% เมื่อเดือนที่แล้วจากปีที่ผ่านมา โดยสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่ออุปทานธัญพืชจากทั้งที่นั่นและรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลาออกแล้วไปใช้ชีวิต! แนวคิดจากกลุ่ม F.I.R.E ในเกาหลีใต้ ที่มองหาอิสระทางการเงินก่อน ‘แก่ตัวลง’ ในโลกที่โหดร้าย
- หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้กำลังต่อสู้กับการกลับมาของ ‘Hoesik’ การบังคับให้ไปสังสรรค์หลังเลิกงานหรือวันหยุด เพราะมองเป็น ‘การทำงานล่วงเวลา’
ในการสำรวจจากบริษัททรัพยากรบุคคลอย่าง Incruit เมื่อเดือนที่แล้วพนักงานออฟฟิศ 96% จาก 1,004 คนกล่าวว่าพวกเขาพบว่าราคาอาหารกลางวันเป็น ‘ภาระ’ และเกือบครึ่งกำลังมองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันของตน
แต่ในเกาหลีใต้ ช่วงอาหารกลางวันถือได้ว่าเป็นเวลาอัน ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ในหมู่พนักงานออฟฟิศ ซึ่งมักจะคุยกับเพื่อนร่วมงานเป็นเวลานานในร้านอาหารที่มีลูกค้าพลุกพล่าน
“มันถูกกว่าการไปร้านอาหารมาก แต่ข้อเสียคือเราไม่สามารถกินข้าวกลางวันด้วยกันที่นี่ (ร้านสะดวกซื้อ) ได้” คูดงฮยอนในวัย 28 ปีกล่าว
ตอนนี้ร้านสะดวกซื้อกำลังได้ความนิยมจากการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาถูก แซนด์วิช และ ‘คิมบับ’ ข้าวปั้นห่อสาหร่ายจากเกาหลี ในราคาไม่ถึง 5 ดอลลาร์ (ประมาณ 180 บาท) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี
โดยร้านสะดวกซื้อในเครือ GS25 ของเกาหลีใต้ มียอดขายอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
เพื่อตามให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น GS25 ได้เปิดตัวบริการสมัครสมาชิกอาหารสำหรับพนักงานในสำนักงาน ซึ่งมาพร้อมกับส่วนลดราคาและการส่ง (อาหาร) ตรงไปยังสำนักงานของผู้บริโภค
ทั้งนี้ร้านสะดวกซื้อในแวดวงเดียวกันอย่าง CU (ซึ่งได้รับใบอนุญาตมาจาก FamilyMart ในญี่ปุ่น นำมารีแบรนด์ใหม่จาก FamilyMart เป็น CU ที่ย่อมาจาก ‘Convenience Store for You’ ซึ่งบริหารโดยกลุ่ม BGF Retail) และ 7-Eleven ต่างก็มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงในเกาหลีอย่าง Emart24 ก็มียอดขายข้าวกล่องอาหารกลางวันเพิ่มขึ้น 50% ในพื้นที่สำนักงานด้วย
โดยข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า ราคาอาหารยอดนิยมอย่าง ‘คัลบีทัง’ (ข้าวสตูเนื้อ) พุ่งขึ้น 12.2% และ ‘แนงมยอน’ (บะหมี่เย็น) ขึ้นราคา 8.1%
แม้ว่าอาหารกลางวันในร้านสะดวกซื้อจะไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ราคาโดยรวมที่ต่ำกว่ามากก็ช่วยให้พวกเขาได้รับความนิยม ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายกล่าวว่าผู้บริโภคควรคาดหวังว่าจะมีการขึ้นราคามากขึ้น
“อันที่จริงผมต้องตั้งราคาให้สูงขึ้น” อีซังแจ ผู้บริหารร้านอาหารคัลบีทังในย่านกลางกรุงโซลกล่าว และได้ขึ้นราคาไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 12,000 วอน จาก 10,000 วอน “แต่ผมยอมสละกำไรบางส่วนไป เพราะผมคิดถึงกระเป๋าเงินอันเบาหวิวของพนักงานออฟฟิศในทุกวันนี้”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP