×

ปตท. และกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2567 อยู่ที่กรอบ 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์ OPEC+ คุมกำลังผลิต

23.11.2023
  • LOADING...
ราคาน้ำมันดิบดูไบ

ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 อยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมจับตานโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจของจีน และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตกในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ชี้ไทยต้องปรับตัวแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

      

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังงานสัมมนา 2023 The Annual Petroleum Outlook Forum ว่า แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้า 2567 ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ กำลังซื้อในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะเดียวกัน อุปสงค์น้ำมันยังคงเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิล 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและกฎหมายรองรับ มีส่วนทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างจำกัด โดยคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปี 2567 อยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  

กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน มองปีหน้าโลกยังคงเผชิญความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  

บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มองว่า ปีหน้าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซียและยูเครน สหรัฐอเมริกากับจีน สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องในประเทศจีนจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยสร้างกฎระเบียบให้เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ ‘Net Zero’ ของประเทศต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานจะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ หรือ ‘Energy Trilemma’ ได้แก่

 

  • ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) คือการจัดหาพลังงานพื้นฐานและความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • ความเป็นธรรมทางพลังงาน (Energy Equity) คือการจัดหาพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม
  • ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นการจัดหาพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำ นับเป็นความท้าทายของกลุ่มบริษัทพลังงานในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

 

ปลัดพลังงาน ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ นั่งประธานบอร์ด ปตท.  

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เพื่อดูแลความยั่งยืนด้านพลังงาน ซึ่งล่าสุดในการเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.ปตท. (บอร์ด ปตท.) นั้นขอย้ำว่า ด้วยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทมหาชน ภารกิจหลังจากนี้จะพยายามใช้บทบาทและอำนาจหน้าที่ในการสร้างสมดุลในการดูแลทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงาน และด้านราคาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

 

“โดยเน้นประชาชนเป็นสำคัญ ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงและทิศทางพลังงานโลก ผมเข้าใจในบทบาทของ ปตท. ที่เป็นทั้งรัฐและบริษัทมหาชน ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในส่วนนี้ผมจะสร้างความสมดุลเพื่อให้ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ดำเนินการตามนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงาน”

 

นอกจากนี้ ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทมหาชนที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผมจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตขององค์กร พัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) มีความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นทุกคน และเพื่อความยั่งยืนต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising