×

สธ. คาด สิ้น ต.ค. ฉีดวัคซีนครอบคลุม 60% ส่งวัคซีนระดม 4 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มภายในสัปดาห์หน้า หลังระบาดหนัก

โดย THE STANDARD TEAM
08.10.2021
  • LOADING...

วันนี้ (8 ตุลาคม) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดว่า วานนี้ (7 ตุลาคม) ฉีดวัคซีนได้ 911,677 โดส รวมฉีดสะสม 58,298,770 โดส เป็น AstraZeneca มากที่สุด 26 ล้านโดส Sinovac 20 กว่าล้านโดส Sinopharm 9 ล้านโดส และ Pfizer 1.7 ล้านโดส คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะฉีดได้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 60% ตามเป้าหมาย

 

สำหรับวัคซีน Pfizer ที่ซื้อ 30 ล้านโดส จะทยอยส่งครั้งละ 1.5-2 ล้านโดส ล็อตแรกถึงเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ได้นำไปฉีดให้นักเรียนแล้ว ล็อต 2 ถึงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ตุลาคม) 1.5 ล้านโดส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยแล้ว อยู่ระหว่างจัดส่งให้ รพ. ทุกอำเภอ และสัปดาห์หน้าจะมาอีก 1.5 ล้านโดส ยืนยันมีเพียงพอสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์ไว้ประมาณ 4 ล้านคน โดยโรงพยาบาลจะประสานกับโรงเรียนเพื่อนัดหมายการฉีดต่อไป ไม่ได้เป็นตามข่าวว่ามีวัคซีนไม่พอต้องจับฉลาก เพียงแต่ในช่วงแรกส่งไปประมาณ 40% ของนักเรียน และจะทยอยส่งให้จนครบ พร้อมเตรียมไว้สำหรับฉีดเข็ม 2 ในอีก 3 สัปดาห์แล้ว

 

นพ.โสภณกล่าวต่อไปว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 47.5% ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด 29 จังหวัด ครอบคลุม 62% สูงสุดที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เป็นการฉีดสูตรหลัก Sionovac ตามด้วย AstraZeneca ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งช่วยให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและเร็ว รับมือกับสายพันธุ์เดลตา

 

ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ ครอบคลุมประมาณ 66% 

 

สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะนี้ฉีดครอบคลุม 30-40% ได้ส่งวัคซีนให้เพิ่มเติมเพื่อระดมฉีดในพื้นที่ระบาดสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันได้เร่งเฝ้าระวังสอบสวน ควบคุมโรค แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและนำเข้าระบบรักษา กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น สงขลา 65% ยะลา 56% นราธิวาส 50% ปัตตานี 48% ขอเชิญชวนให้มารับการฉีดวัคซีนช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

 

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer เข็มแรกแล้วมากกว่า 150,000 คน หรือประมาณร้อยละ 3 ของกลุ่มเป้าหมาย จากการติดตามอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนตั้งแต่เริ่มฉีดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ตุลาคม) พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เจ็บ ปวด ร้อนบริเวณที่ฉีด เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน หลังได้รับการปฐมพยาบาลอาการกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนรวมกันในโรงเรียน เด็กอาจกลัวหรือเกิดอุปทานหมู่ได้ จึงควรจัดพื้นที่ฉีดวัคซีนให้โปร่ง ไม่แออัด หรือเปิดเพลงเพื่อความผ่อนคลาย ครูหรือบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ข้อมูลอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน เช่น ใจสั่น แน่น/เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย เป็นลม หมดสติ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่ผ่านมาประเทศไทยพบ 3 รายที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน อาการไม่รุนแรงและรักษาหาย

 

สำหรับวัคซีนที่จะฉีดให้เด็กอายุ 5-11 ปี ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดมายื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อปรับข้อบ่งชี้ในการใช้วัคซีน มีเพียงผลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศว่าวัคซีน Pfizer ใช้ได้ผลดีในกลุ่มอายุ 5-11 ปีเท่านั้น

 

“สถานการณ์โควิดในประเทศขณะนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงมากกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน วันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตร้อยกว่าราย ถือว่าสถานการณ์ยังคงทรงตัวและยังน่าเป็นห่วง และเนื่องจากขณะนี้มีการเร่งฉีดวัคซีนจำนวนมาก ผู้ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนเข้มงวดการป้องกันตนเองสูงสุดกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ต้องคิดว่าเรายังมีโอกาสที่จะเจอผู้ติดเชื้อได้ จึงควรระมัดระวังตนเองไม่ไปรับเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพื่อไม่ให้โควิดกลับมาแพร่ระบาด ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในรูปแบบ New Normal” นพ.โสภณกล่าวในที่สุด

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising