ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 2% นับเป็นเดือนที่อ่อนแอที่สุดนับแต่ทศวรรษที่ 50
“นักลงทุนและตลาดต่างกำลังอยู่ในอาการประหม่าอย่างมาก” Victoria Greene ผู้ร่วมก่อตั้ง G Squared Private Wealth ซึ่งคาดว่าดัชนี S&P 500 อาจจะลดลงไปต่ำกว่า 3,400 จุด หรืออาจจะลดลงไปอีก 12% จากปัจจุบัน “ตอนนี้ยังเร็วเกินไปมากที่จะเข้าช้อนซื้อหุ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้เชี่ยวชาญเตือน การปรับ ขึ้นดอกเบี้ย ครั้งต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่เกมที่อันตราย
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
นักลงทุนจำนวนมากซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดพีคไปแล้ว อาจตกใจอย่างมากกับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้ และกดดันให้ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก และทำให้ดัชนี S&P 500 เผชิญกับสัปดาห์ที่ปรับตัวลดลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นักเก็งกำไรต่างกำลังเตรียมตัวเพื่อรับกับการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หรืออาจจะเป็น 1% สำหรับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายนนี้
Mark Newton นักกลยุทธ์ด้านเทคนิคของ Fundstrat Global Advisors กล่าวว่า ตัวเลข CPI ที่ถูกรายงานออกมากลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป พร้อมประเมินว่าดัชนีน่าจะปรับตัวไปทำจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม
จากข้อมูลของ Stock Trader’s Almanac ระบุว่า ช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนกันยายนมักจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับตลาดหุ้น ดัชนี S&P 500 โดยเฉลี่ยจะลดลง 0.75% นับแต่ปี 1950
โดยมีการตั้งข้อสังเกต 2-3 ประการเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ประการแรกคือ เป็นเพราะว่านักลงทุนเพิ่งจะกลับมาจากช่วงวันหยุดยาวในฤดูร้อน และมักจะประเมินพอร์ตของตัวเองอย่างระมัดระวัง ประการถัดมาคือ บริษัทต่างๆ เริ่มเตรียมงบประมาณสำหรับปีถัดไป และพูดถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย อีกประการหนึ่งคือ กองทุนรวมต่างๆ มักจะขายหุ้นที่ขาดทุนออกไปก่อนจะเข้าสู่การปิดงบ
ด้าน Stephanie Lang หัวหน้าสายงานการลงทุนของ Homrich Berg กล่าวว่า Fed ต้องการที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อลดลงมากใกล้เป้าหมายที่ 2% แต่ตอนนี้ยังคงห่างไกลอย่างมาก ทำให้นักลงทุนควรจะเน้นการลงทุนในกลุ่มสินค้าจำเป็นและกลุ่มการแพทย์
หากดูต่อเนื่องไปถึงเดือนตุลาคม มักจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก ข้อมูลจาก CFRA ระบุว่า นับแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความผันผวนเฉลี่ยในเดือนตุลาคมสูงถึง 36% มากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วง 11 เดือนที่เหลือของปี
นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนแห่งความผันผวนแล้ว เดือนตุลาคมยังได้ฉายาว่า ‘Bear Killer’ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา นักลงทุนมักจะยอมแพ้หลังจากที่ตลาดดิ่งลงมาอย่างหนักในเดือนตุลาคม ทำให้ตลาดพบกับจุดต่ำสุด
“เมื่อนักลงทุนกลัวถึงขีดสุด ตลาดหมีก็มักจะจบลง” Newton กล่าว
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP