เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมพุ่งกลับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปีอีกครั้ง หลังจากที่ย่อตัวลงมาเล็กน้อยในเดือนเมษายน
โดยในช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 8.6% เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.3% ในเดือนเมษายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 8.3%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมการคำนวณราคาน้ำมันและอาหารปรับเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 5.9%
การที่เงินเฟ้อในเดือนล่าสุดกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งสะท้อนว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจยังไม่แตะจุดสูงสุด ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเร็วและความแรงต่อไป
ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นยังสร้างแรงกดดันต่อคะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) ในช่วงปลายปีนี้
ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ปรับเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อถูกรายงานออกมา สวนทางกับดัชนีหุ้นที่ร่วงลง สะท้อนถึงคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดที่มองว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ติดกัน 3 ครั้ง ในการประชุมเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP