×

เกาะอีสเตอร์ รูปปั้นโมอาย แดนฉงน ชวนสนเท่ห์

23.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • รูปปั้นโมอายเกือบพันตัวที่เหลืออยู่บนเกาะ ถูกสร้างและลงมือแกะสลักโดยชาวโพลินีเซียนที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อพันกว่าปีก่อน ชาวเกาะเชื่อว่ารูปปั้นโมอายจะช่วยปกปักรักษาจิตวิญญาณของหัวหน้าเผ่าและหัวหน้าครอบครัวเอาไว้ ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะทำให้สิ่งดีๆ อยู่กับเกาะตลอดไป

 

     ไม่รู้ระยะทางจากบางกอกไปหาเกาะอีสเตอร์ (Easter Island) คือเท่าไร รู้แต่ว่าน้ำหนักของความอยากทำความรู้จักกับเกาะอันน่าพิศวงแห่งนี้มันขยับขยายพองตัวมากขึ้นทุกวัน

 

 

     เอาเข้าจริงๆ แล้ว นอกจากรูปปั้นหินโมอาย (Moai) แล้ว ฉันแทบไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำเกี่ยวกับเกาะอีสเตอร์ มีแค่ความกระหายใครรู้ที่แบกมันข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วย

     ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือ เราควรเรียนรู้ทุกๆ อย่างในโรงเรียนแห่งการเดินทาง และ 3,600 กิโลเมตรจากชายฝั่งประเทศชิลี คือระยะการบินในพิกัดที่ใกล้ที่สุดในการมาหาเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ เรียกว่าบินกันยาวเท่ากับบินไป-กลับกรุงเทพฯ-ฮ่องกง จังหวะที่เรือบินกำลังจะร่อนลง ฉันพอได้เห็นรูปพรรณสันฐานของเกาะอีสเตอร์ หรือที่ชาวเกาะเขาเรียกกันว่า เกาะราปานุย (Rapa Nui) แต่ความที่ชิลีใช้ภาษาสเปน เกาะนี้จึงเรียกกันอีกชื่อว่า อิสลา เดอ ปาสกัว (Isla de Pascua)

     เกาะนี้อาจจะไม่ใหญ่มากนัก แต่สภาพภูมิประเทศของเกาะอีสเตอร์เป็นเกาะที่มีภูเขาไฟที่ดับแล้วอยู่ 3 ลูก มองจากองศาเดียวกับวิหคจึงจะเห็นปากปล่องภูเขาไฟที่กว้างมาก

     พูดก็พูดเถอะ มู้ดของการมาเกาะอีสเตอร์เหมือนไปเกาะโบรา โบรา แห่งเฟรนช์โพลินีเซียมากกว่าอยู่อเมริกาใต้ ทั้งผู้คน ทั้งดินฟ้าอากาศ ชวนให้คิดอย่างนั้น ระหว่างที่กรุงซันติอาโกถูกห่มไว้ด้วยลมหนาว แต่ที่นี่มีลมร้อนโกรกเบาๆ แบบอยู่เกาะ หน้าตาของผู้คนก็ไม่ได้ไปทางสเปน แต่ไปทางชาวโพลินีเซียนมากกว่า

 

 

     เรือนพักบนเกาะอีสเตอร์ส่วนใหญ่ เจ้าของเป็นคนท้องถิ่น และราคาที่พักค่อนข้างแพงมาก เรียกว่าจ่ายกันคืนละ 3-4 พันนี่ยังเป็นห้องหน้าตาธรรมดามาก ต้นทุนค่าทำความรู้จักเกาะอีสเตอร์ ถ้านับรวมตั้งแต่ค่าเรือบินมาจนถึงค่าที่พักและค่าใช้จ่ายบนเกาะจึงแพงสะเทือนใจนักเดินทางชั้นประหยัดกันพอสมควร

     พูดถึงเรื่องที่พัก โรงแรมเชนดังๆ ใหญ่ๆ ไม่มีมาเปิดตลาดที่นี่ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนต่างถิ่นจะเข้าไปซื้อที่ดินจากชาวเกาะ แม้กระทั่งคนชิลีเองที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองที่เติบโตมาจากบนเกาะ ก็ไม่มีสิทธิ์ซื้อที่ดินบนเกาะเช่นกัน

พวกเธอมายืนตรงนี้ได้อย่างไรกัน ใครกันที่สร้างรูปปั้นหินเหล่านี้ คนเหล่านี้อยู่บนเกาะนี้ได้อย่างไรกัน ที่สำคัญคืออยู่กันมานานเท่าไรแล้ว

 

     ความจริงจะให้สนุก มาที่นี่แล้วใช้เวลาสัก 4 วันเต็มๆ ค่อยๆ เดินสายเที่ยวไปทีละโซนดูท่าจะดี เพราะเกาะอีสเตอร์นั้นใหญ่พอตัว บ้างปั่นจักรยาน บ้างเช่ารถขับไปให้ทั่วเกาะ บ้างซื้อทัวร์ไปจอยกับชาวบ้าน ส่วนฉันเลือกเช่าแท็กซี่ให้พาวนไปทั่วเกาะ แท็กซี่แบบนี้เขาจะวิ่งคอยหาลูกค้าอยู่แถวฮังกา รัว (Hanga Roa) มุมที่เป็นย่านศูนย์กลางของเกาะ

     จากนั้นรถพาวิ่งลงทางใต้ของเกาะ จุดหมายแรกของเราอยู่ที่ภูเขาไฟราโน คาอู (Rano Kau) มุมนี้มีปากปล่องภูเขาไฟให้เดินเทร็กกันพอหอมปากหอมคอ ที่จริงแถวนี้เป็นหมู่บ้านหินโบราณที่ว่ากันว่ามีชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 เลยมีร่องรอยการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีต ทั้งมุมที่เป็นบ้านพักอาศัย มุมที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวเกาะ นอกจากจะเห็นบ้านก้อนหินกว่า 50 หลังแล้วยังมีพวกภาพสลักบนหินให้ดูด้วย

 

 

     ฉันย่างสองเท้าจรดลงไปบนทางเดินรอบๆ ปากปล่องภูเขาไฟราโน คาอู นี่คือปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว เกิดจากการทับถมของลาวาเมื่อแสนกว่าปีก่อน ปากปล่องมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างมากกว่า 1 กิโลเมตร ทุกก้าวจึงย่ำไปด้วยระดับการดีดของหัวใจที่ไม่ปกติเท่าที่ควรนัก

     จะอ้อยอิ่งก็ไม่ได้ เพราะเส้นทางการตามรอยโมอายรออยู่ โชเฟอร์พาวิ่งเลาะทะเลกินลมชมอากาศไปเรื่อย แต่นั่นทำให้เห็นรูปปั้นโมอายตั้งเรียงรายอยู่ริมทะเลเป็นระยะ

     อาจจะเจอกะปริบกะปรอยในหลายจุด แต่ที่อากาฮังกา (Akahanga) ถือว่าเป็นจุดหลักๆ ที่เจอโมอาย กลุ่มหินขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะมุมนี้เป็นที่ฝังศพของกษัตริย์และคนระดับสำคัญของเกาะ

     น่าแปลกตรงที่มุมนี้ฉันได้เห็นโมอายนอนล้มระเกะระกะเป็นจุดๆ เพราะแถบนี้เกิดสึนามิบ่อยครั้งจนพัดให้รูปปั้นโมอายที่อยู่ริมทะเลล้มกระจัดกระจายไปทั่ว

     มุมนี้นี่ถือว่าเป็นแค่ออร์เดิร์ฟ แต่ย่านทงการิกิ (Tongariki) ถือเป็นฮอตสปอตสำหรับแขกเหรื่อของเกาะอีสเตอร์ นี่คือมุมที่มีรูปปั้นโมอายยืนหันหลังให้ทะเลเรียงรายกัน 15 ตัว

ความสงสัยที่เคยแออัดอยู่ในหัวค่อยๆ คลี่คลายตัวลง แม้ว่าบางเรื่องราวของโมอายยังดูเร้นลับ แต่ปล่อยให้น่าค้นหาแบบนี้ ยิ่งเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนหลั่งไหลมาหาโมอาย

 

     ดูเหมือนฝนกำลังจะมา แต่คณะโมอายยังยืนนิ่งอยู่ที่เดิม ค่อยๆ เดินมาหย่อนก้นลงบนสนามหญ้าสีเขียว สบตากับโมอายทั้ง 15 พวกเธอมายืนตรงนี้ได้อย่างไรกันนะ แล้วใครกันที่สร้างรูปปั้นหินเหล่านี้ คนเหล่านี้อยู่บนเกาะนี้ได้อย่างไรกัน ที่สำคัญคืออยู่กันมานานเท่าไรแล้ว แต่ที่อยากรู้มากที่สุดคือ ทั่วทั้งเกาะอีสเตอร์จะมีมากสักแค่ไหน

     สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า รูปปั้นโมอายเกือบพันตัวที่เหลืออยู่บนเกาะถูกสร้างและลงมือแกะสลักโดยชาวโพลินีเซียนที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อพันกว่าปีก่อน ส่วนเรื่องเหตุผลในการสร้างโมอายนั้นอาจจะมีหลายอย่าง บ้างก็ว่าสร้างเพื่อเป็นตัวแทนถึงคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจจะเป็นผู้นำของเกาะ

     นั่นอาจจะเป็นเพราะพวกชาวเกาะพากันเชื่อว่ารูปปั้นโมอายจะช่วยปกปักรักษาจิตวิญญาณของหัวหน้าเผ่าและหัวหน้าครอบครัวเอาไว้ ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะทำให้สิ่งดีๆ อยู่กับเกาะตลอดไป ทั้งเรื่องข้าวปลาหารและดินฟ้าอากาศ

 

 

     แค่รู้เรื่องของโมอาย จะอะไรก็ช่างเถอะ แต่เมื่อเพ่งดูให้ดีก็จะพบว่ารูปปั้นที่ยืนเรียงรายกันอยู่นั้น หน้าตาก็ไม่ได้เหมือนกันซะด้วยสิ จริงอยู่ที่รูปปั้นพวกนี้ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ ในรายละเอียดนั้นไม่เหมือนกัน บางตัวสมบูรณ์ บางตัวเว้าแหว่ง ขณะที่บางตัวมีหมวกที่วางอยู่บนหัวของโมอาย

     ว่ากันว่าเดิมทีโมอายพวกนี้ไม่ได้ยืนเด่นตระหง่านอยู่อย่างนี้ แต่ล้มระเนระนาดในช่วงสงครามระหว่างชนเผ่า แถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาเจอคลื่นยักษ์สึนามิถล่มอย่างหนักเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมาอีก แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง บริษัทญี่ปุ่นได้ทำโครงการฟื้นคืนชีพโมอายภายใต้การดูแลของพวกนักโบราณคดี ใช้เวลาเกือบ 4 ปี โมอาย 15 ตัวก็ฟื้นคืนชีพมาตั้งอยู่ริมอ่าวทงการิกิได้เหมือนเช่นทุกวันนี้

     ฉันขยับตัวเข้าใกล้ โมอายเกือบทั้งหมดถูกแกะสลักมาจากหินก้อนเดียวกัน และรูปปั้นโมอายที่เห็นอยู่ทั่วเกาะนั้น เกือบทั้งหมดทำมาจากเหมืองหินที่ปากปล่องภูเขาไฟราโน ราราคู (Rano Raraku) ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติราปานุย รู้เท่านี้ ฉันก็รีบถอนสมอจากทงการิกิ แล้วพุ่งไปหาอุทยานแห่งชาติราปานุยอย่างเร็วพลัน

 

 

     นี่คือจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถเจอกับโมอายได้มากที่สุด เพราะตามข้อมูลของอุทยานระบุไว้ชัดเจนว่า โมอายเกือบครึ่งหนึ่งที่พบบนเกาะอีสเตอร์อยู่ที่นี่ รูปปั้นหินโมอายเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยชาวโพลินีเซียนที่เริ่มสร้างโมอายกันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 4 และเริ่มจากแกะหินบะซอลต์เป็นรูปสลักคนนั่งคุกเข่า จะว่าไป โมอายคือประติมากรรมที่ไม่ธรรมดา ทั้งเรื่องของวัตถุดิบ การสร้าง การแกะสลัก ไปจนถึงการเคลื่อนย้ายเมื่อแกะสลักเสร็จ

     การแกะสลักในแต่ละยุคสมัยมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 12 เริ่มแกะรูปสลักโมอายจากหินภูเขาไฟราโน ราราคู แต่เริ่มเป็นลักษณะโมอายครึ่งตัว ส่วนใหญ่จะเหมือนผู้ชาย หน้าตาละม้ายคล้ายกันหมด แต่ส่วนของดวงตาจะใช้วัสดุอื่นฝั่งลงไปในหิน ปลายจมูกเชิดขึ้นเล็กน้อย ปากแบะ มีคางเป็นเหลี่ยม ติ่งหูค่อนข้างยาว มีแขนแนบชิดลำตัว และโมอายทั้งหมดจะตั้งอยู่บนฐานหินที่เรียกว่า อาฮู (Ahu)

     ในแต่ละจุดที่แวะมา ฉันค่อนข้างชอบที่นี่มากที่สุด เพราะเราแทบไม่รู้เลยว่า การเดินไปตามมุมต่างๆ ของอุทยานจะเจอโมอายซ่อนตัวอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ที่ชอบมากกว่าคือ ที่นี่มีทั้งโมอายที่แกะสลักเสร็จแล้ว และถ้าเดินไต่เขาขึ้นไปในบริเวณถ้ำก็จะพบกับโมอายบางตัวที่อยู่ระหว่างการแกะสลัก แต่ยังไม่เสร็จ

 

 

     ที่ชายหาดอนาเคนา (Anakena) ยังมีโมอายมวยผมสีแดงตั้งเรียงติดชายหาด และนี่เป็นหนึ่งในสองหาดทรายบนเกาะอีสเตอร์ที่มีหาดทรายขาวเนียนให้นอนผึ่งแดด

     ความสงสัยที่เคยแออัดอยู่ในหัวค่อยๆ คลี่คลายตัวลง แม้ว่าบางเรื่องราวของโมอายยังดูเร้นลับ แต่ปล่อยให้น่าค้นหาแบบนี้ ยิ่งเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนหลั่งไหลมาหาโมอาย

     ฉันนอนเลื้อยอยู่บนหาดทาไฮ (Tahai) รอดูดวงตะวันค่อยๆ แนบลงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว พลางคิดไปว่า ไม่ใช่ทุกครั้งของการเดินทางที่จบลงแบบหายสงสัย บางทีทริปนั้นจบลงไปแล้ว แต่เรื่องบางเรื่องยังค้างคาใจจนถึงทุกวันนี้ เรื่องของโมอายก็เป็นแบบนั้นแหละ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising