×

เอ็กซิตโพลชี้ โมดีจ่อคว้าชัยเลือกตั้ง นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอินเดียสมัยที่ 3

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2024
  • LOADING...

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ตามรายงานของเอ็กซิตโพล 

 

แม้นักวิเคราะห์เตือนว่า ผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวต่างๆ มักผิดพลาดและไม่เป็นกลาง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคภารติยะชนตะ (Bharatiya Janata Party: BJP) ของโมดีจะคว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ โดยพรรคที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลต้องรวบรวมคะแนนเสียงในรัฐสภา (โลกสภา) ให้ได้อย่างน้อย 272 ที่นั่ง จากทั้งหมด 543 ที่นั่งใน 543 เขต ซึ่งเอ็กซิตโพลคาดการณ์ว่า พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA) ซึ่งเป็นแนวร่วมที่นำโดยพรรค BJP จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยน่าจะกวาดที่นั่งได้ประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด

 

สำหรับผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจะประกาศในวันที่ 4 มิถุนายนนี้

 

ทันทีหลังจากที่การเลือกตั้งมาราธอนนานหลายสัปดาห์สิ้นสุดลงวานนี้ (1 มิถุนายน) โมดีได้ออกมาประกาศชัยชนะโดยไม่ได้กล่าวอ้างถึงเอ็กซิตโพลแต่อย่างใด

 

“ผมพูดได้อย่างมั่นใจว่า ประชาชนชาวอินเดียออกมาลงคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์เพื่อเลือก NDA เป็นรัฐบาลอีกสมัย” โมดีโพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X 

 

กลุ่มพันธมิตร NDA จ่อคว้าชัยครั้งใหญ่

 

ผลรวมของเอ็กซิตโพล 6 สำนัก คาดการณ์ว่า พรรค BJP อาจได้ที่นั่งประมาณ 327 ที่นั่ง ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมาย 370 ที่นั่งของพรรค แต่เมื่อรวมคะแนนเสียงกับบรรดาพรรคแนวร่วม คาดว่ากลุ่มพันธมิตร NDA จะกวาดที่นั่งได้ระหว่าง 355-380 ที่นั่ง 

 

ขณะที่คาดว่า กลุ่มพันธมิตร Indian National Developmental Inclusive Alliance (INDIA) ซึ่งนำโดยพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress: INC) จะได้คะแนนราว 125-165 ที่นั่ง

 

ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1.4 พันล้านคน และมีผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถึงประมาณ 969 ล้านคน ซึ่งเท่ากับประชากรของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ บราซิล ฝรั่งเศส และเบลเยียมรวมกัน ส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสสำหรับอินเดีย

 

การเลือกตั้งในอินเดียจึงเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แบ่งออกเป็น 7 ระยะ กินเวลายาวนานหลายสัปดาห์ โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

ประเด็นหาเสียง

 

แม้นายกรัฐมนตรีโมดีมีคะแนนนิยมอย่างล้นหลาม แต่คู่แข่งหลักของเขาอย่าง ราหุล คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส และแนวร่วมของพรรคฝ่ายค้าน ก็พยายามรณรงค์หาเสียงกันอย่างเต็มที่เพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงมาจากโมดีและพรรครัฐบาล

 

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการหาเสียง บรรยากาศเป็นไปอย่างร้อนแรง ทั้งการกล่าวปราศรัยอันดุเดือดของนักการเมือง การชุมนุมประท้วง การกล่าวโจมตีกัน และการโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่บรรดาพรรคการเมืองพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ทั้งการลงพื้นที่และทางออนไลน์

 

โดยฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาล BJP ว่าพยายามปิดปากคู่แข่ง และขัดขวางพรรคอื่นไม่ให้ลงสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน จากกรณีการจับกุม อาร์วินด์ เกจริวัล มุขมนตรีกรุงเดลี ในคดีคอร์รัปชันเกี่ยวกับนโยบายสุรา ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งเริ่มเปิดฉาก ทั้งนี้ศาลให้ประกันตัวเกจริวัลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เพื่อออกมาทำกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเขาจะต้องกลับเข้าคุกในวันที่ 2 มิถุนายน 

 

นอกจากนี้ ในระหว่างการเลือกตั้งยังมีรายงานว่านักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคยุ่งเกี่ยวกับเครื่องลงคะแนนเสียง ชาวมุสลิมในบางพื้นที่ถูกปฏิเสธสิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองละเมิดต้นแบบประมวลจรรยาบรรณ (Model Code of Conduct) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย (ECI) เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรมและมีเสรีภาพ 

 

ทั้งนี้ คาดว่าพิธีเปิดวัดพระราม หรือรามมณเฑียร (Ram Mandir) ศาสนสถานของศาสนาฮินดูในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ และโครงการสวัสดิการของรัฐบาล จะช่วยดึงคะแนนเสียงให้กับพรรครัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

 

ขณะที่อัตราว่างงานที่สูงและราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารและเชื้อเพลิง ก็เป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากให้ความสนใจ 

 

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหว และองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกว่า ประชาธิปไตยของอินเดียกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม ซึ่งคาดว่าอาจเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงของชาวอินเดียเช่นกัน

 


บทความที่เกี่ยวข้อง: 


 

ภาพ: Debajyoti Chakraborty / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising