งานหนัก เครียด ท้อแท้ จิตตก อยากลาออก แต่คิดหาเหตุผลสวยๆ ไม่ได้ หรือไม่กล้าพอที่จะยื่นจดหมายและบอกเจ้านายตรงๆ
ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ประชากรขึ้นชื่อเรื่องบ้างานกำลังประสบปัญหานี้จริงๆ และมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ช่วยหาทางออกให้กับมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้แล้ว
เพียงแค่คุณจ่ายเงิน 50,000 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 14,700 บาท ให้กับบริษัทที่ชื่อ Exit จากนั้นสตาร์ทอัพแห่งนี้จะช่วยประสานกับต้นสังกัดและลาออกให้คุณเสร็จสรรพ โดยที่คุณไม่ต้องกลับเข้าที่ทำงานให้รู้สึกลำบากใจอีกเลย
ยูอิชิโร โอกาซากิ และโตชิยูกิ นิอิโนะ เพื่อนซี้ในวัยเด็ก เป็นสองคู่หูผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Exit เพื่อตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือนที่ไม่อยากเหยียบเข้าออฟฟิศอีก โดยบริษัทแห่งนี้จะช่วยคุณลาออกจากงานประจำด้วยเงิน 50,000 เยน
ส่วนคนที่ทำงานพาร์ตไทม์ ถ้าอยากลาออกแต่ไม่กล้าหรือลำบากใจ ก็สามารถจ้างบริษัทนี้ได้เช่นกัน เพียงจ่ายเงิน 40,000 เยน หรือราว 11,700 บาท
สำหรับลูกค้าประจำที่ใช้บริการเกิน 1 ครั้งจะได้รับส่วนลด 10,000 เยน หรือเกือบ 3,000 บาท
บริษัท Exit เพิ่งก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และเริ่มมีผลกำไรจากการดำเนินงานแล้ว ซึ่งสะท้อนดีมานด์ในตลาดแรงงานญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญภาวะตึงตัวได้เป็นอย่างดี
นิอิโนะและโอกาซากิเผยว่านับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท มีลูกค้าจากทั่วประเทศมาใช้บริการลาออกแล้วประมาณ 800 ราย ขณะที่ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
สองผู้ก่อตั้งกล่าวว่าลูกค้ามองบริการนี้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะหลายคนต้องการความสงบทางใจ แม้มีคนเห็นต่างว่าอัตราค่าบริการควรขึ้นอยู่กับระดับความท้อแท้หรือสิ้นหวังมากกว่า
ปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังติดหล่มภาวะเงินฝืด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงานเกิดภาวะตึงตัว ซึ่งเป็นโอกาสดีที่พนักงานจะหางานใหม่ที่ได้ค่าตอบแทนน่าดึงดูดกว่าและมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่าในปีที่แล้วมีแรงงาน 5.05 ล้านคนที่ลาออกจากงานและหางานใหม่ เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ประมาณ 270,000 คน โดยจำนวนนี้มี 36.3% ที่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น
แม้ตัวเลขคนเปลี่ยนงานในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 7 ปีติดต่อกัน แต่ยังถือว่าต่ำมากเมื่อดูจากจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งบ่งบอกว่าพนักงานจำนวนมากอาจประสบปัญหาในการลาออก
อาจกล่าวได้ว่าปัญหาการลาออกในญี่ปุ่นอาจมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการทำงานในอดีต ซึ่งเคยมีแนวคิดว่าคนญี่ปุ่นควรเป็นพนักงานหรือลูกจ้างที่จงรักภักดีต่อองค์กรเพียงองค์กรเดียว แต่ปัจจุบันแรงงานในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเปลี่ยนงานมากขึ้น เพราะมีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากตัวเลขอัตราว่างงานในญี่ปุ่นที่ต่ำมาก ซึ่งทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองมากกว่าแต่ก่อน
“ที่ญี่ปุ่นมีความต้องการใช้บริการลาออก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมสงสัยว่าทำไมคนถึงลาออกกันได้ยากเย็นนัก แต่ผมรู้สึกได้ว่าบรรยากาศน่าอึดอัดแบบนี้มีอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น” โอกาซากิกล่าว
เพราะกว่าจะผ่านด่านนี้ได้ มีเอกสารกองบนโต๊ะรอให้กรอก ขณะที่เจ้านายก็พยายามซักไซ้ลูกน้องถึงสาเหตุที่ออกจนเกิดบรรยากาศที่เงียบเชียบและน่าอึดอัดใจในที่ทำงาน
นอกจากนี้การลาออกยังต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน (ตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่นต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์) และต้องบอกแผนในอนาคตกับผู้จัดการในระหว่างประชุมเครียดแบบตัวต่อตัว
และโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว การลาออกจะต้องทำเป็นจดหมายทางการ และเพื่อเป็นการจากลาแบบมีเยื่อใย พนักงานที่ออกควรซื้อของขวัญให้เพื่อนร่วมงานเพื่อขอบคุณในวันสุดท้ายด้วย
แต่บริการของ Exit ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องวิตกเรื่องการลาออกและตัดกระบวนการเหล่านั้นทั้งหมด อีกทั้งช่วยขัดขวางเจ้านายที่พยายามจะเกลี้ยกล่อมให้อยู่ต่อด้วย
นิอิโนะเคยทำงานให้กับบริษัท 3 แห่ง ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเสียเอง เขาเข้าใจสภาพจิตใจของคนที่ไม่อยากทนกับกระบวนการที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้
“การออกจากงานควรจะเป็นเรื่องดีสิ” นิอิโนะให้ความเห็น
“มันดีต่อบริษัทเองด้วย พนักงานที่คิดลาออกแปลว่าพนักงานคนนั้นอาจไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับบริษัทได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาการจับคู่ที่ผิดพลาดระหว่างตำแหน่งงานกับพนักงานตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย”
เว็บไซต์ของ Exit ระบุว่าพวกเขาช่วยลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่อายุ 20 ต้นๆ ถึง 30 ปลายๆ ให้ลาออกจากตำแหน่งพนักงานขาย เว็บโปรดักชัน ไปจนถึงเชฟร้านอาหาร โดยลูกค้าหลายคนให้เหตุผลว่าไม่เหมาะกับงานเหล่านั้น ขณะที่บางคนมีปัญหากับหัวหน้า หรือลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว
ธุรกิจของ Exit จึงดูมีแววเฟื่องฟูไม่น้อย เพราะช่วยทลายกำแพงทางจิตวิทยาของผู้คนในญี่ปุ่นได้มาก
ในโลกที่แข่งขันสูง ใครจับเทรนด์ธุรกิจได้ก่อนย่อมได้เปรียบ บริษัทรับจ้างช่วยลาออกก็เช่นเดียวกัน ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่งได้แสดงความประสงค์ขอเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท Exit แล้ว
แต่ในขณะที่ธุรกิจของคู่หูนิอิโนะและโอกาซากิกำลังไปได้สวยอยู่นี้ พวกเขาก็จะชะล่าใจไม่ได้เช่นกัน เพราะสื่อชั้นนำอย่าง The Japan Times รายงานว่า Exit กำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: