×

วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันอาการป่วยจากโอไมครอนได้แค่ไหน

18.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

Get Boosted Now หรือ ‘ฉีดเข็มกระตุ้นตอนนี้’ คือคำขวัญล่าสุดที่ใช้ในการรณรงค์ฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสหลังจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน เนื่องจากการะบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้

 

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีน 2 เข็มในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแบบมีอาการ ‘ลดลง’ มากเมื่อเทียบสายพันธุ์เดลตา แต่การฉีดวัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 มีประสิทธิผลระหว่าง 70-75% ไม่ว่าวัคซีน 2 เข็มแรกจะเป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ก็ตาม

 

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ทีมรับมือโควิดแห่งอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London COVID-19 Response Team) ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลอีกรูปแบบหนึ่ง* เปรียบเทียบระหว่างการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer 2 เข็ม การฉีดวัคซีน Pfizer เป็นเข็มกระตุ้น โดยแยกตามระยะเวลาหลังได้รับเข็มสุดท้ายสั้นกว่า/นานกว่า 2 สัปดาห์ และตามสายพันธุ์ พบว่า

 

ประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยหลังได้รับเข็มสุดท้ายนานกว่า 2 สัปดาห์

  • AstraZeneca 2 เข็ม: เดลตา 25% โอไมครอน 0%
    • หลังได้รับเข็มกระตุ้น: เดลตา 89.7% โอไมครอน 55%
  • Pfizer 2 เข็ม: เดลตา 55.9% โอไมครอน 19%
    • หลังได้รับเข็มกระตุ้น: เดลตา 88.6% โอไมครอน 54%

 

แสดงว่าวัคซีน Pfizer สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์โอไมครอนได้ (และสายพันธุ์เดลตาได้ดีมาก) ส่วนประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรงทั้งการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตยังต้องรออีกหลายสัปดาห์ถึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ แต่แนวโน้มจากสายพันธุ์ก่อนหน้า วัคซีนจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้มากกว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ

 

ข้อมูลจากรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า เมื่อควบคุมอิทธิพลของการฉีดวัคซีนและปัจจัยอื่นๆ แล้ว โดยก่อนหน้านี้การศึกษาที่ชื่อ SIREN Study เคยคาดการณ์ว่า ‘การติดเชื้อมาก่อน’ จะสามารถป้องกัน ‘การติดเชื้อซ้ำ’ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ 89% แต่สำหรับสายพันธุ์โอไมครอนลดลงเหลือเพียง 19% เท่านั้น

 

“การศึกษานี้ให้หลักฐานเพิ่มเติมที่สำคัญว่า โอไมครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นก่อนหน้าทั้งจากการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีน การหลบหลีกภูมิคุ้มกันในระดับนี้หมายความว่า โอไมครอนเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อสาธารณสุข” ศาสตราจารย์ นีล เฟอร์กูสัน หัวหน้าทีมรับมือโควิดแห่งอิมพีเรียลคอลเลจกล่าวถึงผลการศึกษา ทำให้เราต้องติดตามสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด 

 

หมายเหตุ: *อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ใช้การวิเคราะห์แบบตามรุ่น (Cohort Analysis) ในขณะที่สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร ใช้การศึกษามีกลุ่มควบคุมโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีผลการตรวจเชื้อเป็นลบ (Test-Negative Case-Control Study) ทำให้ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลเข็มกระตุ้นต่างกัน ทั้งนี้ เป็นรายงานเบื้องต้น ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X