×

ซีอีโอ Spotify กับเพลย์ลิสต์ใหม่ ‘The Gunners’ และบริการล่าสุดช่วยซื้อสโมสรคืนจากนายทุน

27.04.2021
  • LOADING...
The Gunners

HIGHLIGHTS

  • “ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ผมก็เชียร์อาร์เซนอลมาตลอดตั้งแต่ผมจำความได้ ถ้า KSE สนใจอยากขายอาร์เซนอล ผมก็พร้อมที่จะร่วมวงด้วย” ทวีตจาก แดเนียล เอ็ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Spotify ได้จุดความหวังให้แฟนอาร์เซนอลทั่วโลก
  • เอ็กเป็นคอฟุตบอลตัวยง โดยทีมที่เขารักเป็นทีมแรกและทีมเดียวตลอดมาคือ ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล ตั้งแต่ปี 1991
  • เวลานี้เอ็กได้ทำการฟอร์มทีมร่วมกับ 3 นักเตะระดับสุดยอดตำนานอย่าง เธียร์รี อองรี, เดนนิส เบิร์กแคมป์ และ ปาทริก วิเอรา เพื่อเตรียมที่จะยื่นข้อเสนอให้ KSE พิจารณา
  • สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในเรื่องการเสนอตัวขอซื้ออาร์เซนอลของแดเนียล เอ็ก ไม่ใช่อยู่ที่ตัวเลขข้อเสนอ หากแต่อยู่กับคำถามว่า เขามองเห็นอะไรในสโมสรฟุตบอลแห่งนี้?

กลายเป็นกระแสข่าวฮือฮาขึ้นมาในช่วง 2-3 วันนี้ เมื่อชื่อของบริษัทผู้ให้บริการมิวสิกสตรีมมิงพลิกโลกอย่าง Spotify ถูกนำมาเชื่อมโยงกับทีมฟุตบอลดังอย่าง ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล

 

เรื่องเกิดขึ้นจากข้อความสั้นๆ ที่ แดเนียล เอ็ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Spotify (SPOT) ทวีตขึ้นมาด้วยตัวเอง และกลายเป็นประกายไฟแห่งความหวังขึ้นมา

 

“ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ผมก็เชียร์อาร์เซนอลมาตลอดตั้งแต่ผมจำความได้ ถ้า KSE สนใจอยากขายอาร์เซนอล ผมก็พร้อมที่จะร่วมวงด้วย”

 

ข้อความนี้แพร่สะพัดทันทีในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่แฟนอาร์เซนอล ซึ่งอยู่ในภาวะอารมณ์ของความผิดหวังอย่างรุนแรง และความจริงก็เป็นความรู้สึกเดียวกับเอ็กด้วย หลังได้เห็นภาพการเดินขบวนประท้วงของเหล่ากูนเนอร์นับพันคนที่สนามเอมิเรตส์ สเตเดียมในวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนเกมกับเอฟเวอร์ตัน (และยังพ่ายแพ้คาบ้านอีก!) จนเขาเก็บความรู้สึกไม่ไหว และทวีตข้อความดังกล่าวออกไป

 

ความผิดหวังและความโกรธเคืองเกิดจากการโดนเจ้าของสโมสรอย่าง Kroenke Sports and Entertainment (KSE) ของ สแตน โครเอ็นเก้ นักธุรกิจกีฬาชาวอเมริกัน นำทีมรักไปเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏลูกหนังทั้ง 12 สโมสร ก่อตั้งลีกฟุตบอลที่เห็นแก่ได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ‘ซูเปอร์ลีก’​

 

สำหรับแฟนๆ เรื่องนี้ถือเป็นความเสื่อมเสียสูงสุด และจากการบริหารที่ย่ำแย่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยมิได้นำพาให้สโมสรก้าวหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น เหล่ากูนเนอร์จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่โครเอ็นเก้จะเก็บข้าวของกลับไปหาเทพีเสรีภาพได้แล้ว

 

อย่างไรก็ดี การออกมาแสดงตัวของแดเนียล เอ็ก ในครั้งนี้ก็มีเครื่องหมายคำถามตัวโต

 

จะเป็นไปได้หรือที่เขาจะนำ Spotify มาซื้ออาร์เซนอล ซึ่งเป็นโลกคนละใบที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้เลย และถ้าจะเกิดขึ้ดจริง ดีลนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจของมหาเศรษฐีชาวสวีดิชคนนี้?

 

อันเดอร์ส ลิมพาร์ (กลางภาพ) ปีกชาวสวีดิชที่ทำให้ แดเนียล เอ็ก กลายเป็นกูนเนอร์เต็มตัว

 

ผู้ก่อตั้ง Spotify และฮีโร่กันเนอร์คนแรกของเขา

คนเปลี่ยนโลกได้ย่อมมีวิธีคิดและใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนคนอื่น

 

ไม่ต่างจาก สตีฟ จ็อบส์​ หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ช่วงชีวิตของ แดเนียล เอ็ก เองก็มีเส้นทางที่ไม่เหมือนคนทั่วไปสักเท่าไรนัก

 

ประวัติโดยย่นย่อของเขานั้น เขาโตที่เมือง Ragsved ไม่ไกลจากกรุงสตอกโฮล์มมากนัก ในวัยเด็กเป็นช่วงเวลาของความยากลำบาก เมื่อพ่อตัดสินใจละทิ้งครอบครัวไป แต่เพราะเหตุนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ทำให้พ่อหนูน้อยแดเนียลอยากพิสูจน์ตัวเอง 

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาเริ่มศึกษาการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครงานกับ Google แต่เขาก็เดินหน้าตั้งบริษัทจนสามารถจ้างพนักงานได้ถึง 25 คน มีรายได้สูงกว่าแม่ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และพ่อเลี้ยงที่เป็นช่างซ่อมรถ ทั้งๆ ที่เขามีอายุเพียงแค่ 18 ปี

 

ก่อนที่เขาจะทำรายได้มหาศาลจากการขายบริษัทโฆษณาดิจิทัล Advertigo ออกไป

 

จากนั้นเขาเกษียณตัวเองในวัยเพียง 23 ปี โดยมีเงินมากมายมหาศาลและเวลาให้ใช้จ่ายไปอีกยาวนานตลอดชีวิต ซึ่งสิ่งที่เขาทำในช่วงนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่มีไลฟ์สไตล์สุดหรูหราที่คนมากมายได้แต่ฝันถึง

 

เฟอร์รารีสีแดง แมนชันสุดหรู ตระเวนไนต์คลับดังในสตอกโฮล์ม หญิงงามมากมาย และขวดแชมเปญที่ถูกเปิดราวกับไม่มีวันหมด

 

แต่ในระยะเวลาแค่ปีเศษ เขาได้ตระหนักว่าชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตที่เขาพึงพอใจเลย รถเร็วแรงไปก็เท่านั้น ผู้หญิงก็มีแต่หลอกใช้ เพื่อนตายก็ไม่มี มีแค่เพื่อนกิน

 

“ผมไม่แน่ใจว่าผมคือใครกันแน่ และผมอยากจะเป็นใครกันแน่” เอ็กให้สัมภาษณ์กับ Forbes ในปี 2012 “ผมคิดว่าผมอยากจะเป็นคนที่คูลกว่าที่ผมเป็นในตอนนั้น”

 

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นครั้งที่ 2 ในชีวิตของเขา เขาเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริการฟังเพลงแบบออนไลน์ในระบบสมาชิก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก UTorrent หนึ่งในบริการของบริษัทเขา ที่ชื่อว่า Spotify ในปี 2006 ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดนตรีอย่างมากมาย (ในประเทศไทยใครบ้างในยุคนั้นที่ไม่รู้จักแผ่นแวมไพร์, ประเทือง และโปรแกรม Winamp)

 

“ผมบอกกับทีมของผมว่า ‘ถ้าเราสามารถสร้างความรู้สึกว่าทุกคนมีเพลงของทั้งโลกอยู่บนมือตัวเอง เราจะสร้างสิ่งที่ดียิ่งกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์” เอ็กเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2018 

 

ความคิดในการรวมเพลงทั้งโลกเอาไว้ในที่เดียว และให้คนทั่วโลกฟังได้ทุกเพลงเพียงแค่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือน เป็นความคิดที่น่าเหลือเชื่อมากในวันนั้น แต่เวลาผ่านมา 15 ปี เราได้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Spotify ซึ่งมีสมาชิกกว่า 345 ล้านคน และมีคนใช้บริการแบบลงทะเบียน (เสียเงิน) ถึง 155 ล้านคน 

 

ปัจจุบันเขาคือมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินตามรายงานของ Forbes ที่ 3.4 พันล้านปอนด์

 

และนั่นคือเรื่องราวของ แดเนียล เอ็ก ที่หลายคนรู้

 

แต่อีกด้านที่คนไม่ค่อยรู้คือ เขาชอบดูฟุตบอล โดยที่ไม่ได้ดูเป็นครั้งคราวด้วย หากแต่เป็นคอฟุตบอลตัวยง โดยทีมที่เขารักเป็นทีมแรกและทีมเดียวตลอดมาคือ ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล

 

เอ็กทวีตเล่าเรื่องตัวเองเอาไว้ในปี 2018 ว่า เขาปวารณาตัวเองเป็น ‘เดอะ กูนเนอร์ส’ มาตั้งแต่ปี 1991 แล้ว โดยนักเตะที่เป็นฮีโร่ของเขาคนแรกที่ทำให้เขาหลงรักอาร์เซนอลคือ อันเดอร์ส ลิมพาร์ อดีตปีกในยุคทองที่ จอร์จ เกรแฮม เป็นผู้จัดการทีม

 

ก่อนจะซูเปอร์สตาร์อย่าง เธียร์รี อองรี, เดนนิส เบิร์กแคมป์ และปาทริก วิเอรา

 

สเวน คาร์ลส์สัน ผู้ประพันธ์ร่วมหนังสือ The Spotify Play บอกว่า พนักงานของ Spotify รู้กันดีว่าเจ้านายของพวกเขาเป็นแฟนอาร์เซนอล และบ่อยครั้งที่พวกเขาจะดวลเกม FIFA กันเอง เพราะเอ็กเป็นคนที่ชอบเล่นเกมฟุตบอลอย่างมาก

 

ขณะที่ Sky Sports เปิดเผยว่า เขาติดตามอาร์เซนอลทุกเกม ทุกนัด และรู้เรื่องของสโมสรทุกมิติเป็นอย่างดี

 

แต่การที่เขาบอกว่าจะซื้ออาร์เซนอลนั้นไม่ได้เกิดจากเพียงแค่ ‘ความรัก’ หรือ ‘ความหลงใหล’ เพียงอย่างเดียว (ตรงนี้ขีดเส้นใต้เอาไว้ในใจ)

 

คนอย่าง แดเนียล เอ็ก แม้จะเป็นคนที่ใช้หัวใจนำทางคนหนึ่ง แต่เขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เขามองเห็นภาพใหญ่กว่าทุกคนเสมอ

 

และนั่นทำให้เรื่องการซื้ออาร์เซนอลมาเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

 

แดเนียล เอ็ก เอาจริง เหมือนชื่อ Username ของเขา

 

บรรยากาศการประท้วงใหญ่ของแฟนอาร์เซนอลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

 

Fiery Soul

Username ของ แดเนียล เอ็ก ใน Twitter ไม่ใช่ Ek หรือ Daniel.Ek อย่างที่ควรจะจำได้ง่าย หากแต่เป็น ‘eldsjal’ คำที่จำและสะกดได้ยากสำหรับคนทั่วไป

 

คำคำนี้เป็นภาษาสวีดิช ซึ่งเอ็กคิดว่ามันแปลได้ยากและไม่มีคำภาษาอังกฤษคำไหนที่จะแปลได้ตรงตัว

 

ให้ใกล้เคียงที่สุดคือ ‘Fiery Soul’ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้แปลตรงตัวเป๊ะขนาดนั้น เพราะความหมายจริงๆ ของคำว่า eldsjal คือ “คนที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้ากับการทำอะไรบางอย่างและจะทำมันไม่ว่าจะดีหรือร้าย และจะคงอยู่แบบนั้น

 

เดาได้ไม่ยาก ที่เขาเลือกใช้คำนี้ก็เพราะมันตรงกับตัวตนของเขาที่สุด

 

และนั่นอาจเป็นความหวังสำหรับแฟนอาร์เซนอลทั่วโลกที่จะฝากหน้าที่ในการทวงคืนสโมสรอันเป็นที่รักกลับมาจากนายทุนชาวอเมริกัน

 

ตามการเปิดเผยของ Telegraph Sport แดเนียล เอ็ก ‘เอาจริง’ กับการซื้ออาร์เซนอล

 

เวลานี้เขาได้ทำการฟอร์มทีมร่วมกับ 3 นักเตะระดับสุดยอดตำนานอย่าง อองรี, เบิร์กแคมป์ และวิเอรา ซึ่งเป็นแกนหลักของทีมในชุดแชมป์ไร้พ่าย ‘The Invincibles’ ในฤดูกาล 2003-04 เพื่อเตรียมที่จะยื่นข้อเสนอให้ทางด้าน KSE พิจารณา

 

ข้อเสนอนั้นคาดว่าจะมีขึ้นภายในอีก 10 วันนับจากนี้ โดยตัวเลขที่จะยื่นให้ KSE อยู่ที่ 1.8 พันล้านปอนด์ในขั้นต้น

 

ขณะที่มีกระแสข่าวว่า ทางด้านสแตนและจอช โครเอ็นเก้ แม้ยืนยันว่าจะไม่ขาย แต่ก็อาจจะลองฟังดูหากมีข้อเสนอในระดับ 2 พันล้านปอนด์

 

อย่างไรก็ดี หากจะวัด ‘กำลังภายใน’ กันจริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าพ่อ Spotify จะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ ในทางตรงกันข้าม สแตน โครเอนเก้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาร์เซนอลมาตั้งแต่ปี 2011 นั้นมีทรัพย์สินมากถึง 5.89 พันล้านปอนด์ เรียกว่ามีมากกว่าเอ็กอีกพอสมควร

 

อย่าว่าแต่เอ็กเลย ขนาด อลิเชอร์ อุสมานอฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ซึ่งเคยรบรากับทางด้านโครเอนเก้ในการแย่งการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอาร์เซนอลก็ยังสู้ไม่ไหว และยอมยกธงด้วยการขายหุ้นที่เขามีอยู่ทั้งหมดให้ในราคา 550 ล้านปอนด์

 

KSE มีความตั้งใจที่จะลงทุนกับอาร์เซนอลไปอีกเป็นระยะเวลายาวนาน และการประท้วงของแฟนฟุตบอล หรือกระแสข่าวของผู้ร่วมก่อตั้ง Spotify ก็ไม่อาจสั่นคลอนได้โดยง่าย

 

เพียงแต่ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แน่นอน สิ่งที่จะต้องจับตากันคือสถานการณ์ในช่วง 10 วันข้างหน้าว่า หากเอ็กยื่นข้อเสนอจริง แล้ว KSE จะมีท่าทีอย่างไร

 


ปฏิเสธหรือแบ่งรับแบ่งสู้

 

และท่าทีของเอ็กหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

 

3 ตำนานสโมสรยุคไร้พ่ายถูกชวนมาร่วมลงแรงด้วยในงานนี้

 

อาร์เซนอลในอุดมคติ

สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดในเรื่องการเสนอตัวขอซื้ออาร์เซนอลของแดเนียล เอ็ก ไม่ใช่อยู่ที่ตัวเลขข้อเสนอ หากแต่อยู่กับคำถามว่า เขามองเห็นอะไรในสโมสรฟุตบอลแห่งนี้?

 

เพราะเชื่อได้ว่าเขาคงไม่คิดจะใช้เงินมหาศาลร่วมครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่มีในการลงทุนเพียงเพราะเรื่องของความรักที่มีต่อสโมสร

 

มองแบบพื้นฐาน การลงทุนกับสโมสรฟุตบอลนั้นถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่ดี ซึ่งเห็นได้จากการที่นายทุนจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาซื้อสโมสรระดับชั้นนำของอังกฤษไปครองถึง 3 สโมสร ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ครอบครัวเกลเซอร์), ลิเวอร์พูล (FSG) และอาร์เซนอล (KSE) โดยที่มูลค่าของสโมสรนั้นมีแต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อให้จะมีตัวเลขติดลบในบัญชีก็ตาม

 

สำหรับอาร์เซนอล สนามเอมิเรตส์ สเตเดียมที่เคยก่อสร้างด้วยราคา 390 ล้านปอนด์และเปิดใช้เมื่อปี 2006 (จุดเริ่มต้นความตกต่ำของสโมสร) ปัจจุบันมูลค่าของสนามและที่ดินก็ไปไกลแล้ว

 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เอ็กจะได้มาเป็นพื้นฐานหากทางครอบครัวโครเอนเก้ยอมเปิดทางให้ แต่สิ่งที่เขาจะต่อยอดได้นั้นยังเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการตามได้ทันโดยง่าย

 

แต่คิดง่ายๆ ว่าปัจจุบันอาร์เซนอลมีจำนวนผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด 71.1 ล้านคน (นั่นหมายถึงเอ็ก (และ Spotify) ได้ฐานลูกค้าในอนาคตเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมาก ไม่นับในเรื่องของแบรนดิ้ง ที่การได้มีชื่อปรากฏในพรีเมียร์ลีกนั้นมีมูลค่ามากมายมหาศาล

 

คนระดับเขาน่าจะคิดหาทางทำรายได้ได้อีกมาก

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดที่จะคิดได้หากอาร์เซนอลเปลี่ยนเจ้าของใหม่เป็นชาวสวีดิชคนนี้คือ การที่สโมสรแห่งนี้จะได้กลับมาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีและน่าภาคภูมิใจอีกครั้ง

 

จุดยืนที่เอ็ก ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนคือ การที่เขายินดีที่จะให้ที่นั่งในเก้าอี้บอร์ดบริหารของสโมสรแก่แฟนฟุตบอลที่จะเข้ามาเป็นเสียงสะท้อนในการบริหารและตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ไม่ให้ผิดไปจากครรลองคลองธรรม และคุณค่าของสโมสรที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

 

การที่เขาเชิญและได้รับการตอบรับจากบุคคลระดับตำนานอย่าง เธียร์รี อองรี, เดนนิส เบิร์กแคมป์ และปาทริก วิเอรา เองก็เป็นท่าทีที่น่าสนใจ

 

นั่นหมายถึงเขาอยากได้คนที่รู้ รัก และเข้าใจอาร์เซนอลอย่างแท้จริงมาเป็นคนบริหารสโมสร ซึ่งฮีโร่ทั้ง 3 คนนี้น่าจะนำคืนวันเก่าๆ และความรู้สึกที่เคยหายไปกลับมาได้

 

ถ้าเป็นความจริงทั้งหมด เราอาจเรียกได้ว่านี่คือสโมสรอาร์เซนอลในอุดมคติ ที่มีเจ้าของเป็นแฟนฟุตบอล มีแฟนบอลคอยส่งเสียงสะท้อนในบอร์ดบริหาร มีผู้บริหารที่เป็นตำนาน

 

แต่แน่นอนว่าความฝันกับความจริงนั้นเป็นคนละเรื่องครับ และไม่ใช่ว่าเอ็กจะมีชื่อเสียงแต่ด้านดีเสียเมื่อไร เมื่อ Spotify ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกศิลปินนักร้องก่นด่ามาเสมอในเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบ แบ่งรายได้ให้อย่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาได้รับ

 

การบริหารสโมสรฟุตบอลเป็นโลกใบใหม่ที่เขาไม่รู้จักมาก่อน

 

และเพราะเป็นโลกที่เขาไม่รู้จัก มันจึงเป็นความสดใหม่และความท้าทายที่น่าลองดูสักตั้ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising