×

ขับไล่ประธานฉาว-โค้ชสาวโหด เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในทีมฟุตบอลหญิงฝรั่งเศส?

01.03.2023
  • LOADING...
ฟุตบอลหญิงฝรั่งเศส

หน้าฉากของวงการลูกหนังฝรั่งเศส พวกเขาเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ไม่เฉพาะทีมฟุตบอลชายที่เป็นแชมป์โลกและรองแชมป์โลกในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2 สมัยล่าสุด แต่ทีมฟุตบอลหญิงเองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5 ตามการจัดอันดับของ FIFA Ranking

 

แต่หลังฉากแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมฟุตบอลหญิงฝรั่งเศสนั้นเลวร้ายอย่างน่าตกใจ เมื่อมีกรณีของ ‘การคุกคามทางเพศ’ โดยคนที่เป็นผู้กระทำคือบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานขององค์กรลูกหนังด้วย

 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โนแอล เลอ กราเอ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่ากำลังถูกไต่สวนกรณีแสดงออกถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมอย่างเลวร้ายต่อทีมฟุตบอลหญิงของฝรั่งเศส

 

หรือความจริงควรจะตัดคำว่าร้ายที่ต่อหลังคำว่าเลวออกไปด้วยซ้ำ

 

ประมุขลูกหนังฝรั่งเศสในวัย 81 ปีที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2011 และถือว่ามีส่วนสำคัญในการปฏิวัติพาทีมชาติฝรั่งเศสกลับมายืนแถวหน้าของโลกฟุตบอลอีกครั้ง หลังจากตกไปถึงจุดต่ำสุดกับกรณี ‘แคมป์แตก’ ในฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อทีมฟุตบอลหญิงของฝรั่งเศส และถูก อเมลี อูเดีย-คาสเตรา รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาสั่งสอบสวนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

 

การสอบสวนนั้นมีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนปีกลาย โดยมีการเชิญพยานมาให้ปากคำจำนวนถึง 103 คน และพบเรื่องราวที่น่าตกใจ

 

หนึ่งในสิ่งที่เลอ กราเอ ทำที่มีการเปิดเผยในเอกสารระบุว่า ประธาน FFF เคยขอให้สตาฟฟ์ของทีมหญิง 2 คนควรจะมามีอะไรกับเขาในแบบ ‘Un Plan à Trois’ หรือ ‘ทรีซัม’

 

โนแอล เลอ กราเอ

 

ครั้งหนึ่งที่เขาเคยขอให้เจ้าหน้าที่ในสหพันธ์นุ่งกระโปรงในระหว่างที่เดินทางไปทำงานร่วมกับเขา และยังฉวยโอกาสที่จะ ‘สัมผัสต้นขา’ ของหญิงสาวในระหว่างที่เดินทางบนเครื่องบิน แม้จะถูกขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวแล้วก็ตาม

 

ไม่เฉพาะแค่นักฟุตบอลหรือสตาฟฟ์ แม้แต่เอเจนต์ฟุตบอลที่เป็นผู้หญิงเองก็เป็นเหยื่อของเลอ กราเอ เช่นกัน โดย โซเนีย ซูอิด เอเจนต์ลูกหนังวัย 37 ปี ถูกประธาน FFF ล่อลวงด้วยการให้มานำเสนอแผนงานในการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงของฝรั่งเศสเมื่อปี 2013 หรือในช่วงที่ซูอิดอายุแค่ 24 ปี

 

แต่แทนที่จะนัดกันที่ทำการของสหพันธ์ กลับให้มาที่บ้านของเขา โดยหลอกล่อว่าจะมี บริจิตต์ อ็องริคส์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลหญิงฝรั่งเศส จะมาร่วมรับฟังด้วย

 

ปรากฏว่า เมื่อซูอิดไปถึงแล้วกลับพบแค่เลอ กราเอ เพียงคนเดียว พร้อมกับคำโอ้โลมว่า “ถ้าเราใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่านี้ ผมจะช่วยผลักดันแนวคิดของคุณเอง”

 

ในรายงานยังได้ระบุอีกว่าเลอ กราเอ มุ่งเป้าไปที่การ ‘ทำลายเกียรติของเหยื่อ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เขาเริ่มขาดสติเพราะการดื่มแอลกอฮอล์ จนเจ้าหน้าที่สหพันธ์ถึงกับมีการกำหนดรหัสลับสำหรับในช่วงเวลาที่ประธาน FFF เริ่มเลอะเทอะ

 

และถึงขนาดที่ถูกสอบสวนเขายังคงทำตัวเป็นเฒ่าหัวงูเหมือนเดิม ด้วยการเที่ยวส่งข้อความหานักฟุตบอลหญิงที่ติดทีมชาติด้วยข้อความที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

 

ความร้ายกาจของเลอ กราเอ ที่พนักงานสืบสวนพบ คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างมีการวางแผนเอาไว้เป็นอย่างดีโดยที่ประธาน FFF จะพยายามไม่ทิ้งร่องรอยอะไรก็ตามที่จะถูกใช้เป็นหลักฐานให้มามัดตัวในภายหลังได้

 

เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของเลอ กราเอแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุใดเวลานี้ทีมฟุตบอลหญิงฝรั่งเศสที่เป็นทีมระดับหัวแถวของโลกทีมหนึ่งจึงประสบปัญหาภายในอย่างรุนแรง

 

 

เพราะคนเป็นหัวพยายามที่จะทั้ง ‘กด’ และ ‘ ขี่’ ทีมฟุตบอลหญิงแบบนี้ ข่าวเรื่องบรรยากาศภายในแคมป์ทีมชาติไปจนถึงวิธีการจัดการดูแลของโค้ชอย่าง โกรินน์ ดิอาร์ค ที่ปฏิบัติต่อลูกทีมอย่างเลวร้าย จนถึงขั้นนักเตะในทีมเริ่มบอยคอตต์ จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ว็องดี เรอนาร์ กัปตันทีมจอมแกร่งที่เป็นนักฟุตบอลที่โดดเด่นที่สุดของทีมแม่ไก่สาว ประกาศไม่ขอกลับมาลงเล่นในนามทีมชาติอีกจนกว่าสถานการณ์ภายในทีมจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เธอไม่ลงเล่นให้ฝรั่งเศสในศึกฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่กำลังจะเริ่มที่ประเทศออสเตรเลียในเดือนมิถุนายนนี้

 

“ฉันปกป้องเสื้อสีน้ำเงิน ขาว และแดง มา 142 ครั้งด้วยความรัก ความเคารพ ความมุ่งมั่น และความเป็นมืออาชีพ”​ เรอนาร์กล่าวในแถลงการณ์ “ฉันรักฝรั่งเศสมากกว่าสิ่งใด ฉันอาจจะไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ ฉันห่างไกลจากการจะใช้คำนั้นมาก แต่ฉันก็ไม่อาจทนสนับสนุนระบอบปัจจุบัน ซึ่งห่างไกลจากสิ่งจำเป็นสำหรับการเล่นในระดับสูงสุด

 

“มันเป็นวันที่น่าเศร้า แต่ก็จำเป็นต่อเรื่องการป้องกันปัญหาจิตใจของฉัน”

 

เรอนาร์ไม่ใช่นักเตะทีมชาติคนเดียวที่ประกาศอำลาทีมชาติฝรั่งเศส เพราะยังมี มารี-อองตวน กาโตโต และ คาดิดิยาตู ดิยานี ที่ประกาศไม่ขอรับใช้ทีมชาติฝรั่งเศสในศึกฟุตบอลโลกหญิงด้วยเช่นกัน 

 

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่วงการฝรั่งเศสรับรู้กันคือ รอยร้าวระหว่างเรอนาร์กับโค้ชอย่างดิอาร์คที่ระหองระแหงกันมานาน ครั้งหนึ่งถึงขั้นริบปลอกแขนกัปตันทีมในปี 2017 ก่อนที่เพิ่งจะคืนให้ในปี 2021 ขณะที่กาโตโตเคยถูกตัดชื่อออกจากชุดฟุตบอลโลกหญิง 2019 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพเอง ทั้งๆ ที่เป็นดาวซัลโวของลีกหญิงฝรั่งเศส

 

 

ซาราห์ บูฮาดดี อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติฝรั่งเศส เคยพูดในวันอำลาทีมชาติว่า “การจะคว้าแชมป์กับโค้ชคนนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับฉัน เราเล่นกันในสภาพแวดล้อมที่ติดลบอย่างมาก ฉันมองไม่เห็นภาพที่ฉันจะคว้าแชมป์ใดๆ ได้กับผู้จัดการคนนี้ และมีผู้เล่นอีกจำนวนมากที่คิดเหมือนกันแต่ยังไม่ได้พูดออกมา”

 

เรย์นาลด์ เปโดร อดีตผู้จัดการทีมลียง ก็เคยกล่าววิพากษ์การทำงานของดิอาร์คที่ไม่รู้ดูแลนักฟุตบอลอีท่าไหน แต่ทุกครั้งที่นักเตะกลับมาจากการเล่นทีมชาติ ‘จะได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจเสมอ’ และเป็นภาระหนักของสโมสรในการดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักเตะเหล่านี้

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุด FFF ยืนยันว่า เลอ กราเอ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยไม่ยอมรับผิดในทุกข้อกล่าวหาที่ถูกตั้ง และมีข่าวว่าดิอาร์ค ซึ่งถือเป็นคนของประธาน FFF ที่ได้โอกาสในการคุมทีมชาติฝรั่งเศสในปี 2017 หลังจากที่เคยสร้างชื่อด้วยการเป็นโค้ชหญิงคนแรกที่ได้คุมทีมฟุตบอลชายชุดใหญ่กับสโมสรแกลร์ม็องต์ ที่อยู่ระดับลีกเดอซ์ (ดิวิชัน 2) ในปี 2017 ก็เตรียมที่จะอำลาตำแหน่งด้วยเช่นกัน

 

แม้จะไม่มีใครตอบได้ว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อะไรๆ ในวงการฟุตบอลหญิงฝรั่งเศสดีขึ้นหรือไม่

 

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าจะปล่อยให้มันเป็นไปแบบที่ผ่านมาโดยไม่คิดจะทำอะไรเลย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X