ในยุคที่การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วแบบเรียลไทม์ แค่โทรศัพท์กริ๊งเดียวก็สามารถพูดคุยกันได้แล้ว จะส่งข้อความเสียง คลิปวิดีโอ ก็สามารถส่งผ่านโปรแกรมแชตได้ง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก การส่งข้อความทางจดหมายดูจะเป็นเรื่องไกลตัวเราเสียเหลือเกิน ยกเว้นเสียว่าเราอยากพูดคุยกับเพื่อนผ่านวิถีคลาสสิก ฝากโปสต์การ์ดจากแหล่งท่องเที่ยว หรือสั่งของทางออนไลน์แล้วต้องการจัดส่งถึงมือผู้รับ
แต่หากย้อนยุคกลับไปราว 135 ปีก่อน ไปรษณีย์ถือเป็นเรื่องใหม่และสร้างความตื่นเต้นให้ประชาชนสยามไม่น้อย เพราะใครก็สามารถส่งข้าวของและเขียนสื่อสารโต้ตอบกันโดยไม่จำเป็นต้องพบหน้าอีกต่อไป แม้ช่วงแรกจะเริ่มแค่เขตพระนครและธนบุรี แต่สุดท้ายก็ขยับขยายใหญ่โตกลายเป็นกิจการส่งสารของคนทั้งชาติ ในโอกาสครบรอบ 135 ปีของไปรษณีย์ไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา THE STANDARD ขอรำลึกถึงวิธีการสื่อสารสุดคลาสสิก ด้วยหลากแบบ ‘ตู้ไปรษณีย์’ หรือที่เราคุ้นปากกันว่า ‘ตู้แดง’ จุดรับฝากจดหมายตามเขตต่างๆ ว่ากว่าจะเป็นตู้แดงที่เราเห็นในปัจจุบัน ตู้แดงเหล่านี้เคยรูปร่างหน้าตาแบบไหนกันบ้าง
แบบที่ 1: พ.ศ. 2426
ตู้ทิ้งหนังสือเก่าแก่ที่สุดของไทย
ตู้ไปรษณีย์ตู้แรกของกิจการไปรษณีย์ไทยเป็นตู้ที่แปลงมาจากตู้ทิ้งหนังสือเก่า ซึ่งกรมไปรษณีย์สยามได้รับมอบเป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนี เนื่องในโอกาสที่เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ลักษณะตู้จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมและเป็นโลหะหล่อทั้งชิ้นในสไตล์วิกตอเรียน
แบบที่ 2: พ.ศ. 2428
ตู้ไปรษณีย์แบบแขวน
เมื่อกิจการใหญ่โตขึ้น กรมไปรษณีย์ก็หันมาผลิตตู้ไปรษณีย์ขึ้นใช้เอง มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดผนัง ทำด้วยไม้และโลหะแผ่น
แบบที่ 3: พ.ศ. 2454
ตู้เหล็กทรงกลม
จากติดผนังก็กลับสู่แบบฐานตั้งพื้นอีกครั้ง สั่งเข้ามาใช้งานในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 หล่อด้วยโลหะทั้งตู้ มีด้วยกัน 2 รุ่นคือ รุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศอังกฤษ และรุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศสิงคโปร์
แบบที่ 4: พ.ศ. 2469
ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 7
ถ้าไม่นับตู้แบบติดผนัง รุ่นนี้ถือเป็นตู้ไปรษณีย์แบบตั้งรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ และยังเป็นรุ่นแรกที่หล่อด้วยซีเมนต์ หนาประมาณ 20 เซนติเมตร
แบบที่ 5: พ.ศ. 2477
ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 8
ยังคงเป็นตู้หล่อซีเมนต์ โดยใช้รูปทรงและขนาดเดียวกับตู้ในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่แตกต่างกันเล็กน้อยตรงบริเวณส่วนบนของตู้ และตราครุฑที่ปีกจะกางเหยียดตรง
แบบที่ 6: พ.ศ. 2496
ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 9
สร้างขึ้นเพื่อใช้งานในสมัยต้นรัชกาลที่ 9 เป็นตู้ไปรษณีย์หล่อซีเมนต์ทรงกรงนก มีขนาดเล็กและเสาสูง รุ่นนี้ติดตั้งเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณงานน้อยในส่วนภูมิภาค
แบบที่ 7: พ.ศ. 2514
ตู้ไปรษณีย์แบบ ข.
ตู้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ทำด้วยโลหะแผ่น มีช่องใส่ไปรษณีย์เพียงช่องเดียว ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค
แบบที่ 8: พ.ศ. 2516
ตู้ไปรษณีย์แบบ ก.
ตู้ทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะแผ่นขึ้นรูป ฐานเป็นซีเมนต์หนา มีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์ 2 ช่อง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑล กับปลายทางในภูมิภาคหรือต่างประเทศ ติดตั้งตามชุมชนที่มีปริมาณงานมาก
แบบที่ 9: พ.ศ. 2520
ตู้ไปรษณีย์แบบ ค.
ตู้โลหะขนาดเล็ก มีเสาสูง ส่วนบนของตู้จะมีลักษณะโค้งมน ตั้งบนฐานซีเมนต์หล่ออย่างหนา ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อยในภูมิภาค
แบบที่ 10: พ.ศ. 2546
ตู้ไปรษณีย์แบบ ก.
ปรับมาใช้ตู้ไปรษณีย์แบบ ก. หมดทั่วประเทศไทย
แบบที่ 11: พ.ศ. 2561
ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะยุค 4.0 ‘พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง’
ตู้ไปรษณีย์รุ่นใหม่ที่เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ประชาชนและนักท่องเที่ยว ด้วยการให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร แหล่งของฝาก ผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมถึงที่ทำการไปรษณีย์ในแต่ละพื้นที่ เพียงสแกน QR Code เท่านั้นข้อมูลก็พรั่งพรูออกมา
บ้านใครอยู่เขตอำเภอไหน มีตู้ไปรษณีย์รูปทรงต่างจากนี้ อย่าลืมเอามาแชร์ให้เราดูด้วย หรือถ้าใครเบื่อการสื่อสารแบบสังคมโซเชียล ลองหันมาเขียนจดหมายตอบโต้ผ่านตู้ไปรษณีย์ดูบ้าง แล้วคุณจะค้นพบคุณค่าและความสวยงามของการสื่อสารเนิบช้าสมัยรุ่นคุณปู่คุณย่ายังสาว
Photo: Courtesy of Thai Post
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า