แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า การไล่รื้อถิ่นที่อยู่อาศัยที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันครอบครัวในเขตนครวัด แหล่งมรดกโลกของ UNESCO ที่ตั้งอยู่ในกัมพูชา เป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้เผยแพร่งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งชี้ให้เห็นถึงวิธีที่ทางการกัมพูชาบังคับให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานโดยอ้างถึงการอนุรักษ์ และเรียกร้องให้ UNESCO ประณามการบังคับขับไล่รื้อดังกล่าวที่ดำเนินการในนามขององค์กรตนต่อสาธารณะ
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ทางการกัมพูชาเริ่มขับไล่ผู้คนที่ตามรายงานมีจำนวนถึง 10,000 ครอบครัว ออกจากพื้นที่ศาสนาสถานที่กว้างใหญ่ในเมืองเสียมราฐ โดยอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องสถานที่อายุประมาณพันปีจากความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของนครวัด
งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คน การลงพื้นที่ด้วยตนเอง 9 ครั้งในพื้นที่บริเวณนครวัด และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ 2 แห่ง แสดงให้เห็นว่า ทางการกัมพูชา ‘ล้มเหลว’ ในการแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเพียงพอ รวมถึงขาดการปรึกษาหารืออย่างจริงใจก่อนที่จะมีการไล่รื้อ นอกจากนี้ยังข่มขู่หลายคนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการไล่รื้อครั้งนี้ และให้ย้ายไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่มีทั้งที่พักอาศัยและน้ำที่เพียงพอ รวมถึงขาดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยและการเข้าถึงการดำรงชีพอื่นๆ
มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการกัมพูชาได้ไล่รื้อขับไล่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนครวัดมาหลายชั่วอายุคนออกไปอย่างโหดร้าย บังคับให้พวกเขาต้องมีชีวิตอย่างแร้นแค้นในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ ทางการต้องยุติการบังคับไล่รื้อหรือขับไล่ผู้คนซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยทันที
“หาก UNESCO มุ่งมั่นที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการทั้งหมด ก็ควรประณามการบังคับไล่รื้อที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มีการสอบสวนสาธารณะที่เป็นอิสระ”
แม้ว่าจะทราบดีถึงการไล่รื้อและสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ UNESCO ก็ยังไม่ได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณนครวัดต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าไม่ได้ดำเนินการสอบสวนสาธารณะเกี่ยวกับข้อค้นพบของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
รัฐกัมพูชาอ้าง UNESCO เป็นเหตุผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับโครงการ ‘ย้ายถิ่นฐาน’ โดยมีอย่างน้อย 15 กรณีที่ครอบครัวบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ทางการระบุว่า UNESCO คือสาเหตุที่ทำให้ผู้คนต้องย้ายออกจากนครวัด
ผู้นำชุมชนพยายามยื่นคำร้องต่อสำนักงาน UNESCO ในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับการไล่รื้อ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า UNESCO ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน
สืบเนื่องจากสิ่งที่ค้นพบในรายงานที่ UNESCO แจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าไม่เคยเรียกร้องให้มี ‘การโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร’ เมื่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหาว่ามีการไล่รื้อในนามของ UNESCO ศูนย์มรดกโลกของ UNESCO ได้ตอบกลับมาว่า การกระทำของรัฐภาคีไม่ใช่ความรับผิดชอบของ UNESCO “แม้ว่ารัฐสมาชิกจะอ้างความชอบธรรมในการดำเนินการในนามขององค์กรก็ตาม”
แต่ความจริงที่ว่าการบังคับไล่รื้อในปัจจุบันกำลังดำเนินการโดยอ้างการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของ UNESCO ดังนั้น UNESCO ควรจะต้องมีการตอบสนองที่ชัดเจนและเข้มแข็ง
มอนต์เซยังระบุอีกว่า “หากไม่มีการตอบสนองอย่างจริงจังจาก UNESCO ความพยายามในการอนุรักษ์อาจกลายเป็นอาวุธของรัฐต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ของตนเองเพิ่มมากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านสิทธิมนุษยชนได้”
แฟ้มภาพ: Tang Chhin Sothy / AFP
อ้างอิง: