×

นักดาราศาสตร์เผยภาพหลุมดำครั้งแรก มวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า

11.04.2019
  • LOADING...
Event Horizon Telescope

โลกได้เห็นภาพของหลุมดำเป็นครั้งแรก หลังทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติจากโครงการ Event Horizon Telescope ได้เผยแพร่ภาพถ่ายหลุมดำขนาดมหึมา ซึ่งอยู่ใจกลางกาแล็กซีที่มีชื่อว่า Messier 87 (M87) ห่างจากโลกราว 55 ล้านปีแสง

 

เชป โดเลแมน ผู้อำนวยการโครงการ Event Horizon Telescope แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกาศข่าวดีเมื่อเวลา 20.00 น. วานนี้ (10 เม.ย.) ตามเวลาประเทศไทย ว่า “เรายินดีที่จะรายงานให้คุณทราบในวันนี้ว่า เราได้พบเห็นสิ่งที่เราคิดว่าไม่สามารถมองเห็นได้ เราเห็นและได้ถ่ายรูปหลุมดำเอาไว้”

 

ภาพถ่ายเผยให้เห็นเงาของหลุมดำขนาดยักษ์สีดำ ห้อมล้อมด้วยกลุ่มก๊าซร้อนที่รวมตัวกันภายใต้แรงโน้มถ่วงใกล้กับพื้นที่รอบหลุมดำ หรือที่เรียกว่า ‘ขอบฟ้าเหตุการณ์’ (Event Horizon)

 

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทย (NARIT) ระบุว่า หลุมดำนี้อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ห่างจากโลกประมาณ 55 ล้านปีแสง นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เพราะเป็นหลุมดำที่มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยวิจัยมา นอกจากนี้ยังตอกย้ำทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ด้วย

 

หลุมดำที่ค้นพบมีมวลมหาศาลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40,000 ล้านกิโลเมตร ด้วยขนาดอันมหึมาของมัน จึงทำให้มันถูกขนานนามว่า ‘หลุมดำมวลยวดยิ่ง’ (Supermassive Black Hole) โดยนักดาราศาสตร์บันทึกภาพหลุมดำได้โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุช่วงความถี่สูงจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ 8 แห่งทั่วโลก โดยข้อมูลมหาศาลประมาณ 1 ล้านกิกะไบต์ ที่ได้จากการสังเกตการณ์ครั้งนี้ ถูกนำมาประมวลผลด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังก์ ประเทศเยอรมนี และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

โดเลแมนกล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ โดยมาจากทำงานอย่างหนักผ่านโครงการ Event Horizon Telescope เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีความคมชัดสูงสุดจากพื้นผิวโลก และในที่สุด เมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 กล้องโทรทรรศน์วิทยุในโครงการ Event Horizon Telescope ก็หมุนไปรอบๆ และจับจ้องไปที่แกนกลางของกาแล็กซี M87 จากข้อมูลเหล่านั้น ทำให้เราได้ภาพที่เผยแพร่ในวันพุธที่ผ่านมา (10 เม.ย.)

 

ภาพ: Event Horizon Telescope Collaboration

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising