ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ด้วยราคาและเทรนด์เทคโนโลยี กระแสยานยนต์ไฟฟ้าจึงมาแรงไม่มีแผ่ว แต่การที่จะมีรถสักคันนั้นก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและความพร้อมหลายๆ ปัจจัย รถยนต์ไฮบริดจึงยังเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของคนที่คุ้นชินกับการใช้รถสันดาป และผู้ที่อาจกำลังตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า แม้ว่ากระแสยานยนต์ไฟฟ้าจะมาแรงในทศวรรษนี้ แต่ก็คงมองข้ามรถไฮบริดไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นผู้ผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหารถยนต์ที่เน้นความสะดวกสบาย ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Toyota อาจได้รับประโยชน์มากขึ้นไปอีกหรือไม่
โดย Toyota เองก็ยังสามารถยึดครองตลาดนี้ไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากหากดูยอดขายปีที่แล้ว รถยนต์ไฮบริดมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในตลาดหลักๆ
นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคกันมากขึ้นก็จริง แต่อาจเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เติบโตไปอย่างช้าๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดมาตรการเว้นภาษีเอาใจค่ายรถยนต์ดั้งเดิม ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด
- Toyota กำลังบุกตลาดไฮบริด? งัดกลยุทธ์ใหม่ ขออินเดียลดภาษีรถยนต์ไฮบริด 21%
- สรุปมาตรการส่งเสริม EV 2567 รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า แบตเตอรี่ ใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง
ยอดใช้รถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้น 30% ใน 14 ประเทศ
หากดูตัวเลขปีที่แล้วจะพบว่า ยอดขายรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้น 30% ในตลาดหลัก 14 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถทำยอดขายได้กว่า 4.21 ล้านคัน ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดมีการเติบโต 28% ด้วยจำนวน 11.96 ล้านคัน โดยรถยนต์ไฮบริดคิดเป็น 7% ของยอดขายทั้งหมด และมีอัตราเพิ่มขึ้น 2% จากปี 2021
โทโมยูกิ ซูซูกิ หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการของ AlixPartners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอเมริกัน กล่าวว่า ผู้บริโภคกังวลถึงความพร้อมในประสิทธิภาพการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นรุนแรง เช่น ในตลาดอเมริกาเหนือก็มักประสบปัญหาในการใช้งาน รวมถึงการแข่งขันด้านราคา ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นของแบรนด์ ต่างก็มีผลต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภค
หากดูในแง่ของราคา สังเกตได้จากแบรนด์ Tesla ซึ่งมีรุ่นขายดีเพียง 4 รุ่น จากที่เคยตั้งราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 44,500 ดอลลาร์เทียบกับปีก่อนหน้า ราคาวันนี้กลับลดลงถึง 15%
ส่วน Toyota เน้นส่งรุ่นไฮบริดมาแข่งขัน ตั้งราคาขายตั้งแต่ 1 ล้านเยน ไปจนถึง 20 ล้านเยน (1 ล้านเยนเท่ากับราวๆ 6,700 ดอลลาร์) มีรุ่นใหม่อย่าง Prius ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 2.75 ล้านเยน ขณะที่ Honda และ Nissan เองก็ส่งรุ่นไฮบริดมาเป็นทางเลือกเข้ามาแข่งขันเช่นกัน
แม้รถยนต์ไฟฟ้า 100% จะมีความสะดวกสบาย แต่คุณสมบัติและประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะการขับขี่ 150 กิโลเมตร จะใช้เวลาชาร์จอย่างน้อย 30 นาที ซึ่งคิดเป็น 10 เท่าของระยะเวลาที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปหรือแม้แต่รถไฮบริดก็จำเป็นต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เทียบกันแล้วผู้ขับขี่รถยนต์ EV เผชิญกับความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จ
“ต้องยอมแลกเวลาด้วยการจอดทิ้งรถไว้เพื่อชาร์จที่ใช้เวลายาวนานอีกด้วย ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฮบริดหรือปลั๊กอินไฮบริดเป็นตัวเลือกต้นๆ แทนที่จะกระโดดไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
รัฐบาลแต่ละประเทศลดเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ด้านเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลก็พบว่า เงินอุดหนุนเพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศต่างทยอยปรับลดลงและสิ้นสุดการอุดหนุนไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีที่โครงการอุดหนุนสิ้นสุดลงก่อนกำหนดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หรือแม้แต่รัฐบาลกลางของจีนก็ยุติการให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาเหนือก็ต้องพิจารณาการลงทุนภายใต้กฎหมายลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ของสหรัฐอเมริกา ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ส่งผลให้ฟากฝั่งของค่ายรถสหรัฐฯ อย่าง Ford เริ่มปรับแผนลดต้นทุนการใช้จ่าย ทั้งเลื่อนการลงทุน EV ใหม่ๆ ราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปีนี้ลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฮบริดของ Ford กลับเพิ่มขึ้นถึง 43%
รายงานข่าวระบุอีกว่า การเติบโตของรถยนต์ไฮบริดดังข้างต้นถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ยังคงเป็นผู้นำตลาดเช่นกัน โดย Toyota สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้น 32% จำนวน 3.44 ล้านคัน และมั่นใจว่าอีกไม่นานจะทำได้ถึง 5 ล้านคันภายในปี 2025 อีกทั้งยังสอดคล้องเป้าหมายที่ปีนี้เป็นปีที่ Toyota ตั้งเป้าเปิดตัวรุ่นไฮบริดใหม่ๆ เพื่อจำหน่ายทั่วโลกมากขึ้นด้วย
ฮิโรกิ นากาจิมะ รองประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ด้านไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จแล้ว ไฮบริดจะยังคงมีบทบาทสำคัญ และความต้องการมีแต่จะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2035
ส่วนทางด้าน Honda เพิ่งเปิดตัวรถซีดาน โดยวางไว้เป็นรุ่นเรือธงในอเมริกาเหนือช่วงซัมเมอร์ ก็น่าสนใจว่ายอดขายรถไฮบริดในตลาดนี้ผลักดันให้ Honda สามารถครองส่วนแบ่งของยอดขายทั่วโลกและเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ขณะที่ Nissan กำลังพิจารณาที่จะเปิดตัวโมเดล เทคโนโลยีไฮบริด e-Power ในตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2026 เข้ามาท้าชิงเช่นกัน
รถยนต์ไฟฟ้ายังโตไปพร้อมไฮบริด
ดังนั้นระหว่างนี้รถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดยังคงเติบโต โดยคิดเป็นประมาณ 20% ของตลาดหลักทั้งหมดใน 14 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ GlobalData สรุปคาดการณ์ว่า ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงปี 2023-2026 ปริมาณมากกว่า 20 ล้านคัน และคาดว่าจะมีการใช้แตะระดับ 50 ล้านคันในปี 2035 ซึ่งมากกว่าครึ่งของความต้องการรถยนต์ทั้งหมด
ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์จึงเร่งพัฒนาโมเดลเพื่อปิดจุดอ่อนของ EV ขณะที่แบรนด์ Suzuki มองว่า บริษัทมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม EV และขณะนี้กำลังวิจัยและพัฒนาหลายๆ ด้าน เพราะท้ายที่สุดมองว่า แนวโน้มการเติบโตของไฮบริดอาจจะไม่คงอยู่ตลอดไป
ภาพ: Sergii Iaremenko / Science Photo Library / Getty Images, Andriy Onufriyenko / Getty Images
อ้างอิง: