SMOGO ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำจากจีน เลือกปักหมุดตั้งฐานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ EEC ตั้งเป้าผลิต 150,000 คันต่อปี จำหน่ายในไทยและส่งออกต่างประเทศ หลังมอเตอร์ไซค์ EV เทรนด์ใหม่มาแรงไม่แพ้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า ได้หารือกับบริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าชั้นนำจากประเทศจีน นำโดย หวังหย่งเจีย ประธานกรรมการ SMOGO
และบริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีน ได้ตัดสินใจร่วมมือกับบริษัท Gi-Power New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
- ปีทอง EV ไทย! ‘MG’ ไม่รอช้า เร่งเดินสายพานผลิตประกอบแบต Cell-To-Pack กำลังผลิต 50,000 แพ็ก/ปี ป้อนรถยนต์ไฟฟ้าแสนคัน
เบื้องต้น SMOGO เลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์ EV, การผลิตแบตเตอรี่, การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ EV (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ด้วย
บริษัทจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยคาดว่า SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์ EV ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี เกิดการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566-2571)
ทั้งนี้ EEC และ SMOGO ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน เช่น ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร ฝึกอบรม การศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการและต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต