×

ส่องปรากฏการณ์ EV บนสมรภูมิจีน เมื่อ ‘Mitsubishi’ อาจไม่ใช่แบรนด์เดียวที่ถอนตัวออกจากตลาดแดนมังกร สัญญาใจยุติสงครามราคา 16 แบรนด์ก็ไม่เป็นผล มีผลต่อไทยหรือไม่?

03.10.2023
  • LOADING...
EV จีน

HIGHLIGHTS

  • ไขสาเหตุ ‘Mitsubishi Motors’ ตัดสินใจถอนลงทุนออกจากตลาดจีน และอีกหลายแบรนด์ญี่ปุ่นกำลังลดการผลิต หลังสู้สงครามราคา EV ไม่ไหว บวกกับรัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนแบรนด์ใหญ่เพียงไม่กี่ราย และข้อตกลงยุติหั่นราคา 16 แบรนด์ก็ไม่เป็นผล
  •  จีนมองข้ามช็อตตลาดรถยนต์ มุ่งสนับสนุนนวัตกรรมผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานตลาดรถยนต์อัจฉริยะหรือรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ภายในปี 2025 
  • นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มองแบรนด์ญี่ปุ่นต้องปรับ เพราะอาจไม่ใช่แค่รายเดียวที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน ขณะที่แบรนด์เกาหลีใต้ก็กำลังเผชิญยอดขายที่แผ่วลงในจีนไม่แพ้กัน 
  • อนาคตอันใกล้ แบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะทยอยลดการผลิตออกจากตลาดจีน และส่ง Hybrid เข้ามาเจาะตลาดอาเซียนและในไทยมากขึ้น  

แม้ว่าจีนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จนเกิดสมรภูมิราคาอย่างดุเดือด แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจจีนเองก็กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้ผู้บริโภคในประเทศลดกำลังซื้อลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ถึงรัฐบาลทุ่มควักเงินอัดฉีดก้อนใหญ่ออกมาเรื่อยๆ ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้มากนัก

 

ที่ผ่านมาหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากจีนเองจึงหันไปหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เนื้อหอมขึ้นมาทันตาในระยะหลัง

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ในขณะเดียวกันแบรนด์ต่างชาติอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็แทบหายใจรดต้นคอ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณปรับ ลด ไปจนถึงถอนลงทุน ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ‘Mitsubishi Motors’

 


Tesla-BYD-SAIC ยึดตลาดจีน

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สงครามราคา EV ในจีนยังคงปะทุและกำลังทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กและกลางทั้งในและต่างประเทศต่างต้องดิ้นรนกัดฟันสู้คู่แข่งท้องถิ่น หลังเศรษฐกิจคลี่คลายขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็มาพร้อมกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าในจีนที่ส่งสัญญาณฟองสบู่ ทำให้ขณะนี้ตลาดรถยนต์ในจีนกำลังปั่นป่วน ผู้เล่นหลายรายอย่างแบรนด์ญี่ปุ่นขาดแนวทางในการบุกตลาดอย่างชัดเจน 

 

“และจากเดิมที่เคยมีผู้ผลิตรถยนต์ EV จีนกว่า 500 ราย ก็เริ่มทยอยหายไปจากตลาด เหลือเพียง 100 ราย มีเพียงรายใหญ่ๆ อย่าง Tesla, BYD, SAIC ที่ยังอยู่รอด”

 

โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างออกมาแสดงความเห็นว่า บริษัทสตาร์ทอัพ EV ในจีนเผชิญข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ ทั้งเงินทุน การพัฒนาโปรดักต์ โดยเฉพาะข้อได้เปรียบเรื่องของราคา มักจะพ่ายแพ้ให้กับบริษัทใหญ่ที่มีทุนหนากว่า

 

และตามมาด้วยเหตุผลที่ว่า หรืออาจเป็นเพราะรัฐบาลจีนเองสนับสนุนบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่แบรนด์ เพื่อผลักดันให้ประเทศขึ้นแท่นมหาอำนาจด้านยานยนต์

 

ยกกรณีศึกษาแบรนด์ญี่ปุ่น Mitsubishi Motors เริ่มถอดใจ

ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน ที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจภายในที่ซบเซา จึงไม่ง่ายสำหรับแบรนด์ญี่ปุ่นที่ต้องแข่งขันด้วยการทำราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นจึงเป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไม Mitsubishi Motors จึงตัดสินใจถอนโรงงานผลิตออกจากจีน

 

“เพราะไม่มีหลักประกันว่าเราจะสามารถสร้างผลกำไรในตลาดที่มีการแข่งขันได้เท่ากับจีน” ผู้บริหารของ Mitsubishi Motors ย้ำ 

 

แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทเองก็ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงในการทิ้งตลาดจีนเพื่อตัดสินใจมองหาตลาดใหม่ แต่ก็อาจยากเกินไปสำหรับ Mitsubishi Motors ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์กลับไปใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวในฐานะผู้ผลิตขนาดกลาง โดยจะวางแผนเบนเข็มไปที่ตลาดรถยนต์ Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ

 

Seiji Sugiura นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันวิจัย Tokai Tokyo ระบุว่า “Mitsubishi Motors เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายแรกๆ ที่ถอนตัวออกจากตลาดจีนหลังจากต่อสู้อย่างยากลำบาก 

 

“เพราะผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นต้องดิ้นรนในทุกด้าน แต่ที่ต้องจับตาคือ ไม่แน่ว่าเราอาจเห็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดกลางรายอื่นๆ ถอนการลงทุนตามมาอีกด้วย” เขากล่าว

 

เนื่องจากหากดูยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น 1.5% แต่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของเดือนมกราคม-สิงหาคมในปีที่ผ่านๆ มา ยอดขายรวมขณะนี้ยังไม่กลับมาในระดับปีก่อนโควิด

 

ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและกำลังซื้อก็ลดลง ซึ่งบริษัทต่างๆ พยายามที่จะรักษายอดขายด้วยการลดราคา แต่กลับเป็นความเสี่ยงต่อผลกำไร 

 

Chen Shihua รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน ออกมาระบุว่า ระดับกำไรของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้จะลดลงเหลือระดับ 4% ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติที่ 6-7% เพราะผู้ผลิตรถยนต์หลายรายไม่สามารถทุ่มเงินลงทุนอย่างเพียงพอเพื่อการวิจัยและพัฒนาได้

 

 

ข้อตกลงยุติสงครามราคา 16 บริษัท ไม่ช่วย

แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) สั่งการให้ผู้ผลิตรถยนต์ Tesla และ BYD และ 16 บริษัท ร่วมกันทำข้อตกลงเพื่อความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น FAW Group, BAIC Group, JAC Group, Dongfeng Motor Corp., GAC Group, Li Auto, SAIC, Sinotruk, Great Wall Motor, Changan Automobile, Chery Automobile Co., Nio Inc., Xpeng Inc., Geely ซึ่งคิดเป็น 90% ของตลาดจีน ต่างตกลงกันว่าจะไม่แข่งขันราคาจนเกินไป แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ถูกถอนออกไป เนื่องจากเกิดความกังวลเรื่องการต่อต้านการผูกขาด เลยไม่ได้ช่วยอะไร และมิหนำซ้ำชนวนสงครามราคารอบใหม่ก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง

 

แบรนด์ญี่ปุ่นสู้ไม่ไหว

การแข่งขันที่รุนแรงประกอบกับการเข้ามาของรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) โดยปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ใหม่นั้นรัฐบาลจีนปูทางไว้เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่ ทำให้การผลักดันส่วนนี้กินส่วนแบ่งของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดจีนลดลงจากประมาณ 20% จากช่วง 3 ปี อีกทั้งผู้ผลิตรถยนต์จีนได้ปรับปรุงคุณภาพ ทำให้พวกเขาอยู่ในสนามอันโดดเด่นกว่าแบรนด์ต่างประเทศ

 

ดังนั้น ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันเช่นนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดกลางต่างกำลังลดกำลังผลิต ตลอดจนปรับโครงสร้างการทำตลาดในจีน ไม่ว่าจะเป็น Mazda Motor ที่หยุดจ้างบุคคลภายนอกในการผลิตในท้องถิ่นให้กับ China FAW Group ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การบริหารงานของรัฐ และได้จัดระเบียบโครงสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในประเทศใหม่

 

รวมไปถึงหลังจากถอนตัวจากการผลิตในจีน Mitsubishi Motors วางแผนที่จะให้ GAC Group ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนของรัฐ ใช้เป็นฐานการผลิต EV 

 

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เกาหลีใต้อย่าง Hyundai Motor ตัดสินใจขายโรงงานในฉงชิ่ง

 

 

ไม่เพียงแค่นี้ ผู้ผลิตญี่ปุ่นต่างเริ่มปรับปรุงโครงสร้างเพื่อลดพึ่งพาตลาดจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

 

โดย Makoto Uchida ประธานและซีอีโอของ Nissan Motor กล่าวว่า บริษัทจะปรับเปลี่ยนและจัดการกลยุทธ์ตลาด EV ในประเทศจีน โดยให้บริษัทในเครือของ Dongfeng Nissan ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ Dongfeng Motor Group โดยรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ เพราะหากกลับไปทำทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นในญี่ปุ่นคงเป็นเรื่องยาก

 

ยังไม่นับรวมอีกหลายเหตุการณ์อย่าง GAC และ Toyota ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Toyota Motor และ GAC Group ได้เลิกจ้างพนักงาน 1,000 คนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทญี่ปุ่นยังคงได้เปรียบเรื่องรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินในด้านห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ในตลาดมายาวนาน แต่ปัจจุบันบริษัทจีนมีจุดแข็งควบคุมห่วงโซ่อุปทานสำหรับชิ้นส่วน EV รวมถึงแบตเตอรี่ 

 

“ดังนั้น แม้ว่าเราจะลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า EV แต่ก็ยากที่จะเห็นหนทางที่จะเอาชนะคู่แข่งชาวจีนได้” ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดังรายหนึ่งจากญี่ปุ่นกล่าว

 

อีกส่วนยังมองว่าจีนยังคงเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการวิจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดจะเห็นได้จากตลาดแท็กซี่ไร้คนขับที่เติบโต “ดังนั้น การถอนตัวออกจากตลาดจีนจึงเป็นเรื่องไม่อาจคาดเดาได้” ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากยุโรปกล่าว

 

จีนเป็นต้นแบบเทคโนโลยี

ล่าสุด จีนจะสนับสนุนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานตลาดรถยนต์อัจฉริยะหรือรถยนต์ไร้คนขับภายในปี 2025 โดยวางแผนยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ (ICV) เป็นกลยุทธ์ระยะยาวต่อยอดจากตลาดรถยนต์เดิม เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ 

 

เบื้องต้นจะจัดตั้ง ‘สมาคมนวัตกรรม’ เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตเรียนรู้จากจุดแข็งของกันและกัน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  

 

ดังนั้น ไม่ว่าแบรนด์จากสัญชาติใดที่ทยอยปรับลดการผลิตและปรับโครงสร้างในตลาดจีน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายแบรนด์ยังต้องพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากจีนอยู่ดี

 

ซึ่งจะเห็นว่าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla ก็ไม่หวั่นและพร้อมเปิดตัวโมเดล Y เวอร์ชันอัปเดตในประเทศจีน ด้วยราคาเริ่มต้นของ Model Y ซึ่งเป็นรุ่นขายดีระดับโลก อยู่ที่ 263,900 หยวน (หรือประมาณ 36,146 ดอลลาร์) หรือราว 1.3 ล้านบาทเท่านั้น โดยได้ปรับปรุงสมรรถนะระยะการขับขี่ที่ยาวขึ้น ซึ่งรุ่นนี้จะผลิตที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้เพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ

 

 

ยศพงษ์ ลออนวล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และที่ปรึกษาสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย​ (EVAT) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขอมองในสองส่วน ส่วนแรก กรณีที่ญี่ปุ่นผู้บุกเบิกรถยนต์สันดาป ต้องต่อสู้กับเทรนด์ EV จากกรณีที่รัฐบาลใหม่ของไทยออกมาระบุว่าจะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นนั้น ก็เพื่อที่จะบาลานซ์การลงทุนจากจีน  

 

“แต่ในความเป็นจริง รถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเหมือนดังเดิม และปัญหาที่น่าหนักใจ ไม่ใช่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเดียว หากพิจารณาให้ดี บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มไม่ใช่คำตอบหลักของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นทั่วโลก”

 

แม้แต่บริษัทรถยนต์จีนเองก็เริ่มออกต่างประเทศมาสักระยะ และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาสมเหตุสมผล และมีมาตรฐานที่ดีขึ้น 

 

ส่วนที่สอง กรณีแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi Motors ถอนการลงทุนออกจากตลาดจีน “ถ้าเทียบ YoY ของปี 2022 และ 2021 จะพบว่ายอดขายลดลงต่อเนื่องถึงติดลบคือ -45% ถ้าเทียบบรรดาแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยกัน Mitsubishi Motors หนักกว่าทุกยี่ห้อ

 

“นอกจากต่อสู้ราคา EV ปัจจัยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องโปรดักต์ เพราะแบรนด์ญี่ปุ่นแบรนด์อื่นในจีนยังสามารถขายได้”

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายบริษัทรถยนต์ในจีน รวมทั้ง Mitsubishi Motors เองก็ต้องปรับไปพัฒนารถพลังงานใหม่ หรือ New Energy Vehicle (NEV) ซึ่งแบรนด์ Mitsubishi ก็มีรุ่น EV ด้วย แต่ไม่สามารถทำยอดขายได้ รวมถึงแบรนด์จากเกาหลีใต้ก็ทำยอดขายได้ไม่ดีในตลาดจีนเลย 

 

หากถามว่า จากปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากหลายแบรนด์ต่างมุ่งหน้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Kia แบรนด์ลูกของ Hyundai ก็โยกฐานผลิตส่วนหนึ่งจากจีนมาไทย ยศพงษ์สรุปสั้นๆ ว่า ปัจจุบัน ภาพรวมแบรนด์รถยนต์เกาหลีใต้ในจีนก็เผชิญกับยอดขายที่ไม่ดีอย่างมาก แย่กว่าแบรนด์ญี่ปุ่นด้วย ดังนั้น แบรนด์ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อาจจะกำลังพยายามนำรถยนต์ Hybrid มาทำตลาดในไทยมากขึ้น” 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X