×

ลุ้น 2 ผู้ผลิตจีนยักษ์ใหญ่ ตั้งฐานผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ ‘เซลล์แบตเตอรี่ EV’ ในไทย เฟสแรก 3 หมื่นล้านบาท

18.04.2024
  • LOADING...
EV battery cells

ไทยกับโอกาสในการเป็นฮับ EV คงอยู่ไม่ไกล หลังจากบีโอไอโรดโชว์นักลงทุนจีน ล่าสุดอาจมีลุ้นว่า ปีนี้ทุนยักษ์ใหญ่ 2 ราย พร้อมจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย โดยแต่ละรายจะมีกำลังการผลิตประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท 

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังจากที่บีโอไอพบผู้บริหารบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ที่มณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

“มาตรการของไทยให้สิทธิประโยชน์ ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุน ค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร” 

 

เบื้องต้น ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 รายมองว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้านจากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด  

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลายคือ โมดูลและแพ็ก 

 

“ภายในปีนี้คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 รายจะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท” นฤตม์กล่าว

 

CATL เบอร์ 1 ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ 

 

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ร้อยละ 37 

 

บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ล้วนมีเครือข่ายระดับโลก และผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกด้วย เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต

 

ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT มีลูกค้าเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ เช่น BMW และ Stellantis สำหรับ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo

 

ทั้งนี้ บริษัทเหล่านี้อยู่ในห้วงเวลาที่กำลังพิจารณาขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่าง

 

“ขั้วมหาอำนาจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ภูมิภาคอาเซียน ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งดึงการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับบริษัทกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด”

 

กลุ่ม AMATA เนื้อหอม ชี้ปี 2567 ปีทองรับทุนจีนย้ายฐานผลิต

 

โอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA กล่าวว่า ขณะนี้ลูกค้าให้ความสนใจซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้ามาสำรวจที่ดินหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการจากจีน 

 

โดยนิคมอุตสาหกรรมที่กลุ่มนักลงทุนจีนให้ความสนใจเข้ามาสำรวจที่ดินคือ นิคมฯ ไทย-จีน ที่ตั้งอยู่ในอมตะซิตี้ ระยอง ทำให้แนวโน้มความต้องการซื้อที่ดินในจังหวัดระยองจากผู้ประกอบการจีนสูง โดยมีทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ในปีนี้ 2567 คาดว่าสัดส่วนลูกค้าจีนมากขึ้น 

 

“สาเหตุมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต โดยประเทศกลุ่มอาเซียนถือเป็นเป้าหมายสำคัญ”   

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising