กลายเป็นประเด็นร้อนซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังบอบช้ำของนานาประเทศในภูมิภาคยุโรป เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรป ในฐานะสหภาพยุโรป (EU) เสนอร่างมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียระลอกใหม่ด้วยการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย จนหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะยิ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อในยุโรปและทั่วโลกขยับพุ่งขึ้นไปอีก
โดยวานนี้ (4 พฤษภาคม) เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) องค์กรบริหารของ EU ได้เสนอให้ชาติสมาชิกระงับการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน โดยประธาน EC ให้คำมั่นว่าการบังคับใช้แผนการคว่ำบาตรดังกล่าวจะดำเนินการในลักษณะที่ช่วยให้ EU และพันธมิตรยังคงสามารถรักษาความมั่นคงในการจัดหาซัพพลายด้านพลังงานต่อไปได้
รายงานระบุว่า การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 6-8 เดือนนี้ โดยฮังการีและสโลวาเกียได้รับอนุญาตให้ยืดเวลาออกไปได้ 2-3 เดือน กระนั้น บางชาติ เช่น บัลแกเรียและสาธารณรัฐเช็กแสดงความจำนงต้องการงดเข้าร่วมการแซงก์ชัน จนอาจเป็นเหตุทำให้มาตรการคว่ำบาตรไม่อาจนำมาใช้งานได้จริง
ข้อเสนอดังกล่าวยังได้รับเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมถึงชาติสมาชิก EU นำโดยเยอรมนี ที่ออกมาเตือนว่าการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลน และเป็นปัจจัยกดดันราคา ทำให้เงินเฟ้อสูงยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำมันที่นำเข้าจากรัสเซียสามารถทดแทนได้จากน้ำมันโลกที่มีอยู่ในตลาด แต่ต้นทุนด้านราคาและการจัดส่งลำเลียงถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายอย่างมาก โดยที่ผ่านมา ชาติสมาชิกส่วนใหญ่ใน EU ต่างรู้สึกไม่มั่นใจว่า ตนเองจะทนต่อการตัดขาดจากรัสเซียในฐานะซัพพลายเออร์ด้านพลังงานชั้นนำได้หรือไม่ โดยปีที่ผ่านมา ยุโรปมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากกว่า 1 ใน 4 ของน้ำมันทั้งหมด
มัลคอม บาร์ และ เกรก ฟูเซซี สองนักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน กล่าวในรายงานถึงลูกค้าว่า แผนของสหภาพยุโรปจะไม่เปลี่ยนแนวโน้มทางเศรษฐกิจ โดยเตือนว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแหล่งพลังงานยังคงมีอยู่ แต่ประเด็นที่น่ากังวลกว่าก็คือแนวโน้มที่ EU จะเดินหน้าใช้มาตรการสุดโต่งด้วยการคว่ำบาตรก๊าซธรรมชาติที่ยากจะหาซัพพลายเออร์มาชดเชยได้ทันภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะก๊าซธรรมชาติส่งผ่านท่อเป็นหลัก
อ้างอิง: