ไม่ว่าจะอยากจดจำหรือไม่ วานนี้ (19 เมษายน) เป็นวันประวัติศาสตร์ของโลกฟุตบอลครับ
นี่คือวันที่เราได้เห็นการ ‘ก่อกบฏ’ ของ 12 สโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำของยุโรป (และของโลก) ที่ประกาศก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาที่ชื่อว่า ‘The Super League’ หรือเป็นที่เรียกกันมาโดยตลอดว่ายูโรเปียนซูเปอร์ลีก (European Super League)
12 สโมสรที่เป็นกบฏต่อโลกฟุตบอลที่แฟนๆ ควรจำให้ดีมีดังนี้ครับ
เอซี มิลาน, แอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา, อินเตอร์ มิลาน, ยูเวนตุส, เรอัล มาดริด และอีก 6 สโมสรของอังกฤษได้แก่ อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และท็อตแนม ฮอตสเปอร์
โดย ‘ทีมลับ’ อีก 3 ทีมที่คาดว่าจะเข้าร่วมด้วยเร็วๆ นี้คือ บาเยิร์น มิวนิก, แอร์เบ ไลป์ซิก และเอฟซี ปอร์โต้
สำหรับยูโรเปียนซูเปอร์ลีกฉบับนี้ วิธีทำความเข้าใจโดยง่ายที่สุดคือ ให้คิดถึงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่มีทีมระดับชั้นนำของยุโรปร่วมแข่งขันเหมือนเดิม เราจะได้ดูบาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, ยูเวนตุสที่เป็น ‘ขาประจำ’ ในฟุตบอลถ้วยระดับสูงสุดอยู่แล้ว
สิ่งที่แตกต่างไปคือจำนวนทีมและระบบการแข่งขัน ที่จะเปลี่ยนจาก 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม รวมแล้ว 32 ทีม ก็จะเหลือแค่ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม ทุกทีมจะเล่นแบบพบกันหมด (หรือแข่งทั้งหมด 18 นัด) เพื่อหา 3 ทีมที่ทำผลงานดีที่สุดเข้ารอบต่อไป บวกกับอีก 2 ทีมที่จะให้อันดับ 4 และ 5 มาเพลย์ออฟกัน
8 ทีมที่ได้ผ่านเข้ารอบ จะแข่งกันในระบบน็อกเอาต์เหย้า-เยือน และจบที่นัดชิงชนะเลิศแบบเกมเดียวรู้ผลที่สนามเป็นกลาง ไม่ได้แตกต่างอะไรจากแชมเปียนส์ลีกในเวลานี้
แต่นั่นเองที่กลายเป็นปัญหา ที่สามารถกล่าวได้ว่าสะเทือนถึง ‘แก่น’ ของเกมฟุตบอลเลยทีเดียว
ปัญหาอย่างแรกคือ ‘หลักการ’ (Principle) ใน 20 ทีมนี้ จะมี 15 ทีมที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันตลอดไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม และจะเหลือที่ว่างให้อีก 5 ทีมที่จะต้องผ่านการคัดเลือกเข้ามา
สิ่งที่โลกตั้งคำถามคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คิดว่าทั้ง 15 สโมสร (ปัจจุบันเปิดเผยตัวแค่ 12 สโมสร) คิดว่าพวกเขาควรจะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในรายการนี้ตลอดไป อะไรที่ทำให้พวกเขาคิดว่าพวกเขายิ่งใหญ่เหนือกว่าสโมสรอื่น
และการที่ทั้ง 15 สโมสรนั้นจะเป็นสมาชิกถาวรของการแข่งขัน นั่นหมายความว่านี่ไม่ใช่ ‘การแข่งขัน’ จริงๆ เพราะผลการแข่งขันไม่มีผลอะไร ต่อให้พวกเขาส่งเด็กเล่นทุกนัดจบอันดับบ๊วยก็ยังจะได้สิทธิ์ต่อไป ไม่มีความ Competitive อีก
ดังนั้นยูโรเปียนซูเปอร์ลีกคือ ‘Content’ ไม่ใช่ ‘Competition’
คำถามต่อมาคือ อีก 5 ทีมที่จะต้องคัดเลือก – หรือความจริงอาจจะเรียกว่า ‘ได้รับเชิญ’ – เข้ามาจะใช้เกณฑ์ใด
จะมีทัวร์นาเมนต์คัดเลือกเป็น Qualifiers หรือจะดูจากยอด Follow บนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อคาดหวังจำนวนผู้ที่จะจ่ายเงินเพื่อดู Content นี้?
และนี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลอยากดูจริงๆ หรือเป็นแค่สิ่งที่ผู้บริหารและนักการตลาดเชื่อว่าพวกเขาจะอยากดู
ยูโรเปียนซูเปอร์ลีกยังถูกมองว่าเป็นตัว ‘ทำลาย’ วงการฟุตบอลได้อย่างเลวร้ายที่สุด ซึ่งหากอิงจากแถลงการณ์ของพรีเมียร์ลีกเองจะมีการระบุว่า ปกติแล้วรายการฟุตบอลในระดับสูงสุดอย่างแชมเปียนส์ลีกนั้นคือ ‘ความฝัน’ ของผู้คน
แฟนบอลฝันอยากจะเห็นทีมได้ไปดวลกับทีมคู่แข่งที่อยู่บนจุดสูงสุดของยุโรป
นักฟุตบอลเองก็ฝันอยากจะมีโอกาสได้เล่นในรายการระดับนี้สักครั้งในชีวิต หรือหากเป็นไปได้ มีโอกาสได้สัมผัสกับโทรฟีเกียรติยศก็จะเป็นความทรงจำที่ยากจะลืม
ความฝันทำให้ทุกคนพยายาม แต่ยูโรเปียนซูเปอร์ลีกคือสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวทำลายความฝันนั้น มันจะมีประโยชน์อะไรให้พยายาม ในเมื่อทุกกลางสัปดาห์ทีมใหญ่ 15 ทีมหน้าเดิมๆ ก็จะลงสนามอยู่แบบนั้น
ไม่นับการที่ยูโรเปียนซูเปอร์ลีกจะทำลายระบบของเกมฟุตบอล ตั้งแต่ฐานรากที่จะขาดน้ำหล่อเลี้ยง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากส่วนแบ่งของเงินรายได้ที่รายการฟุตบอลระดับแชมเปียนส์ลีกที่ได้รับปีหนึ่งสูงถึงกว่า 3 พันล้านยูโร จะแบ่งปันให้ฟุตบอลระดับรากหญ้าได้นำไปใช้เพื่อพัฒนา ไม่ว่าจะระบบสาธารณูปโภคหรืออื่นๆ
ไม่แปลกครับที่ปฏิกริยาของคนที่รักฟุตบอลจะผิดหวังต่อการจัดตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีก โดยเฉพาะ แกรี เนวิลล์ ที่แสดงความรู้สึกผิดหวังออกมาแบบไม่มีเกรงใจ ในระหว่างการวิเคราะห์เกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทางสถานี Sky Sports
สำหรับคนอย่างเนวิลล์ การที่เขาบอกความรู้สึกว่า ‘ขยะแขยง’ กับการกระทำของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนถึงขั้นอยากให้มีการลงโทษถึงขั้นปรับตกชั้นไปเลย น่าจะบ่งบอกอะไรได้ดีอยู่ครับ
มีอีกหลายคนที่เหน็บแนมอย่างเจ็บแสบ เช่น บางทีมที่ไม่เคยได้แชมป์มานานหลายสิบปี กล้าดีอย่างไรเรียกตัวเองว่า Big Six และจะเรียกชื่อรายการว่าเป็นยูโรเปียนได้อย่างไร ในเมื่อมีแค่ 3 ประเทศที่เข้าร่วมตอนนี้
คนดีๆ ที่ไหนเขาทำแบบนี้กัน
อย่างไรก็ดี หากมองในอีกมุม – การออกมาประกาศจัดตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีกครั้งนี้ไม่ใช่สงครามระหว่างความดีกับความเลว ไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่าง ‘หลักการ’ กับ ‘เงิน’
ที่สุดแล้วมันคือเรื่องของ ‘เงิน’ ต่อ ‘เงิน’
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลครับ
ภาพ: L’Équipe
เกมอำนาจลูกหนัง กงล้อประวัติศาสตร์ที่วนกลับมาอีกครั้ง
‘สงครามคนรวย’ เป็นพาดหัวข่าวตัวไม้บนหน้าหนังสือพิมพ์ L’Équipe
โดยบนปกหนังสือพิมพ์เป็นภาพของโทรฟียูฟ่าแชมเปียนส์ลีกตรงกลาง ข้างซ้ายเป็น ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด และ อันเดรีย อันเญลลี ประธานสโมสรยูเวนตุส ส่วนข้างขวาเป็น คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิก และ นาสเซอร์ อัล-เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง
ภาพนี้เป็นภาพที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนหมู่มาก ที่มองเรื่องของยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเป็นความขัดแย้งระหว่าง 12 สโมสรใหญ่กับยูฟ่า ในฐานะผู้กำกับดูแลการแข่งขัน และผลประโยชน์ของศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
เบื้องหลังแนวคิดภาพปกดังกล่าวเป็นการแบ่งให้เห็นขั้วอำนาจ 3 ขั้วด้วยกันครับ
ฝั่งซ้ายคือกลุ่มมหาอำนาจเดิมที่ขอแต่งหน้าแต่งตัวกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ ตรงกลางคือยูฟ่า ในฐานะผู้คุมกฎและผลประโยชน์ และฝั่งขวาคือกลุ่มมหาอำนาจเดิมที่ยังภักดีต่อระบบเก่า
เรื่องก็มีอยู่เท่านี้ครับ คือเรื่องของผลประโยชน์ที่จัดสรรกันไม่ลงตัว ไม่เป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย จนนำไปสู่การตัดสินใจ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’ ของ 12 สโมสรเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของแนวคิดการก่อตั้ง ‘ซูเปอร์ลีก’ นั้นใช่จะเป็นสิ่งที่คิดอ่านกันตอนนี้เสียเมื่อไรครับ
ในทางตรงกันข้าม เรื่องนี้มีการพูดคุยและวางแผนกันมายาวนานร่วมทศวรรษ
ย้อนหลังกลับไปใกล้หน่อยในช่วงเดือนตุลาคมปีกลาย – คล้อยหลังจากที่เกิดเรื่องความพยายามในการปฏิรูปฟุตบอลอังกฤษของสโมสรใหญ่อย่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในโครงการ ‘Project Big Picture’ – ก็มีเรื่องของยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเกิดขึ้นตามมาทันที
และดูเหมือนรายละเอียดที่ปรากฏขึ้นในตอนนั้นก็ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เกือบทั้งหมด
ลีกใหม่นี้เกิดจากความต้องการของเหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่ที่ต้องการจะแยกตัวออกไปก่อตั้งรายการใหม่แยกตัวออกจากยูฟ่า โดยในเวลานั้นมีการระบุว่า “จะมีทีมเข้าร่วม 16-18 ทีม เล่นระบบเหย้าเยือนตลอดช่วงฤดูกาลปกติ อาจจะมีการตัดสินด้วยการเล่นเพลย์ออฟ ในลีกจะมีทีมผู้ร่วมก่อตั้งราว 12 ทีมที่จะได้รับการปกป้องไม่ให้เผชิญความยากลำบากจากการตกชั้น”
คนที่เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้คนแรก Der Spiegel สื่อจอมขุดคุ้ยจากเยอรมนี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก รุย ปินโต หรือ Football Leaks ก่อนจะแฉเรื่องราวในปี 2018 ว่ามีแผนที่จะจัดตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีก โดยมีจำนวน 16 ทีม มีทีมก่อตั้ง 11 ทีม และอีก 5 ทีมรับเชิญ
จากนั้นในปีที่แล้ว ฆัวกิน เอร์นานเดซ ผู้สื่อข่าวธุรกิจของเว็บไซต์ Voz Populi ซึ่งอยู่ประจำการอยู่ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
โดยในบทความของเอร์นานเดซระบุว่า มี 3 ทีมจากลาลีกาที่ต้องการจะแยกตัวคือ แอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด
ขณะที่รูปแบบการแข่งขัน ทางด้านเอร์นานเดซระบุว่าจะเป็นแบบ ‘NBA-Style’ ก็คือเป็นการแข่งขันปิดไม่มีการตกชั้น และจุดที่สำคัญที่สุดในเรื่องคืองานนี้มีแบ็กอัพระดับ ‘ก็อดซิลลา’ อย่าง J.P. Morgan ยักษ์ใหญ่ทางการเงินของโลกที่เข้ามาร่วมวงด้วย
The New York Times เคยมีสกู๊ปพิเศษรายงานเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันใหม่ ซึ่งทางด้าน ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานเรอัล มาดริด ได้พบกับ จานนี อินฟานติโน ประธาน FIFA โดยมีแผนการที่จะจัดการแข่งขันในยุโรปแบบปิด (ใช่ครับแบบปิด) แต่จะมี 2 ดิวิชันซึ่งจะนำสโมสรเหล่านี้ออกจากการควบคุมของยูฟ่า และการแข่งขันภายในประเทศ โดยที่รายการใหม่นี้จะเชื่อมโยงไปสู่รายการชิงแชมป์สโมสรโลกที่ฟีฟ่าพยายามจะปรับโฉมใหม่เช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีการพูดคุยกันใน ‘ทางลับ’ มาโดยตลอด และมีข่าวแพร่งพรายออกมาบ้างตามที่ ‘พวกเขา’ ต้องการส่งสัญญาณถึงสังคมภายนอก
และในอดีต โลกลูกหนังก็เคยเจอเหตุการณ์คล้ายคลึงกันแบบนี้มาก่อน
ในวงการฟุตบอลยุโรปก็มีการพูดถึง ‘ซูเปอร์ลีก’ กันมาตั้งแต่ยุคปี 1980 แล้ว โดยผู้เป็นต้นคิดคือ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี เจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ในอิตาลี ที่มองเห็นหนทางในการทำเงินให้มากกว่าเดิม
ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลยูโรเปียนคัพ – รายการระดับสูงสุดของยุโรปเดิม – ที่เริ่มจากการแข่งแบบพบกันหมด (Round-robin) ในปี 1991 ก่อนจะมีการ ‘รีแบรนด์’ เป็นแชมเปียนส์ลีกในปีต่อมา
การต่อสู้ระหว่างสโมสรและยูฟ่ายังมีขึ้นตลอดเวลา ในปี 1997 เป็นอีกครั้งที่มีการข่มขู่ที่จะแยกตัวออกมา ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแชมเปียนส์ลีก ที่จากเดิมจะให้สิทธิ์เฉพาะทีมแชมป์ของแต่ละประเทศ ให้เพิ่มทีมรองแชมป์เข้าไปด้วย
และในเวลาต่อมาก็คือรูปแบบปัจจุบันที่ให้สิทธิ์ชาติมหาอำนาจได้ 4-5 ทีม (การได้สิทธิ์ 5 ทีมก็เกิดขึ้นเพราะลิเวอร์พูลได้แชมป์ในปี 2005 แต่กลับจบด้วยอันดับ 5 ซึ่งแต่เดิมไม่เคยให้สิทธิ์แชมป์เก่าเข้าแข่ง) การแข่งขันเป็นแบบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะเข้าสู่รอบน็อกเอาต์
ในปี 2008 กลุ่มทีมมหาอำนาจในนาม G-14 ก็ยังคงขู่จะแยกตัวเหมือนเดิม ซึ่งมีทีมทั่วยุโรปเข้าร่วมขบวนการด้วย ก่อนที่เรื่องจะจบลงด้วยความสงบเมื่อทุกฝ่ายพอใจในผลประโยชน์ที่ได้รับ
สำหรับในอังกฤษ – ซึ่งทุกคนกำลังประณามทีม Big Six อยู่ในเวลานี้นั้น – ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ เมื่อกลุ่มสโมสรใหญ่ 5 ทีมในนาม Big Five อันประกอบไปด้วยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, เอฟเวอร์ตัน และอาร์เซนอล รวมตัวกันต่อสู้เพื่อขอสิทธิ์ในการเจรจาส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ของพวกเขาเอง และต้องการ ‘แยกลีก’ ออกมา
โดยสาเหตุนั้นมาจากความไม่พอใจของกลุ่มสโมสรชั้นนำในดิวิชัน 1 ซึ่งเป็นลีกสูงสุดที่เปรียบเหมือนแม่เหล็กของวงการจะต้องแบ่งเงินรายได้กับอีก 3 ดิวิชันที่เหลือ จึงต้องการแยกตัวออกมาเพื่อลดตัวหารลงจาก 92 เหลือแค่ 22 ทีม
การต่อสู้ครั้งนั้นจบลงด้วยการกำเนิดรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในปี 1992 และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการต่อสู้ครั้งนั้นคือ BSkyB หรือ Sky Sports (ที่เนวิลล์ด่ากราดเรื่องความละโมบของสโมสร) ที่ปั้นพรีเมียร์ลีกจนโด่งดัง แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมฟุตบอลของชาวอังกฤษจนไม่มีวันเหมือนเดิมอีกตลอดกาลก็ตาม
Sky ใช้คำโฆษณาในเวลานั้นว่า ‘A whole new ball game’ ซึ่งไม่ผิดไปจากนั้นเลยครับ
ในปีที่แล้วก็มีเรื่อง Project Big Picture ที่จะปฏิวัติวงการฟุตบอลอังกฤษในทุกระดับ โดยที่อำนาจในการบริหารจัดการอยู่ในมือของกลุ่มสโมสรใหญ่ แต่ที่สุดแล้วถูกกระแสต่อต้านและตีตกไป
ดังนั้น ความพยายามในการแยกตัวหรือการช่วงชิงอำนาจระหว่างสโมสรกับองค์กรฟุตบอลไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตลอด เพราะเป้าหมายคือผลประโยชน์ที่หอมหวล คือเงินทองที่หอมหวาน คือความมั่งคั่งที่น่าหลงใหล
พรีเมียร์ลีกเองก็เกิดจากการก่อกบฏของ Big Five เช่นกัน
การ Disruption วงการฟุตบอลครั้งใหญ่ที่สุด
ตามความคาดหมายนะครับ ที่แฟนฟุตบอลของ 12 สโมสรกบฏจะออกมาต่อต้านการกระทำอันน่าอับอายจากทีมรักของพวกเขา
‘เดอะ ค็อป’ แฟนลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะเป็นสโมสรที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นที่สุดระหว่างทีมและแฟนบอล ซึ่งคำตอบของพวกเขาที่มีต่อการตัดสินใจของสโมสรคือ การนำป้ายไวนิลขนาดไม่ใหญ่มากแต่มีใจความที่ชัดเจนไปติดไว้ที่รั้วด้านนอกสนามใกล้ประตูแชงคลีย์ เกต
“แฟนลิเวอร์พูลขอต่อต้านซูเปอร์ลีก”
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมนำป้ายผ้าที่เปรียบเสมือนตัวแทนจิตวิญญาณของพวกเขา ที่ถูกติดตั้งไว้บนอัฒจันทร์ฝั่งค็อปเอนด์กลับออกมาด้วย เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่างานนี้พวกเขาไม่ขอเดินเคียงข้างสโมสรที่มีเจ้าของจอมละโมบ
ฟากฝั่งแฟนปีศาจแดงก็มีการออกมารวมตัวกันออกแถลงการณ์ในข้อความที่อ่านแล้วสะเทือนใจ
พวกเขาบอกว่าสโมสรแห่งนี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากโศกนาฏกรรม (ที่มิวนิก 1958) ก่อนจะพิชิตแชมป์ยุโรปในอีก 10 ปีต่อมาอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของสโมสรที่ปัจจุบันยังเป็นทีมที่ได้แชมป์ลีกสูงสุดมากที่สุด 20 สมัย
การกระทำของสโมสรในคราวนี้เป็นเหมือนการเอาเท้าลบประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นก่อนสร้างมาด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา
นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลพอจะทำได้ในยามนี้ โดยที่เรายังไม่สามารถคาดเดาได้ครับว่าจะมีปฏิกริยาหรือการตอบโต้อะไรที่มากกว่านี้ไหม
แต่สำหรับ 12 สโมสรผู้ร่วมก่อตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีกแล้ว เรื่องพวกนี้อยู่ในการคาดเดาอยู่แล้ว และในความคิดของพวกเขาก็เชื่อว่า ต่อให้จะมีการต่อต้านในช่วงแรก แต่ที่สุดแล้วแฟนฟุตบอลก็จะยังคงติดตามเหมือนเดิม
เช่นเดียวกับสปอนเซอร์ ที่หากรายการยังมีคนดูทั่วโลก ก็ไม่มีสปอนเซอร์รายใดที่จะไม่สนใจสนับสนุนรายการที่มีจำนวนยอดแฟนบอลติดตามรวมกันมากถึงหลัก ‘พันล้าน’ คนทั่วโลก ตามที่มีการกล่าวอ้างของผู้ก่อตั้งซูเปอร์ลีก
ทั้งนี้ สิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเร็วขึ้นคือ วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล
โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยูฟ่าได้ส่งจดหมายถึง 55 สมาคมที่เป็นสมาชิก เพื่อแจ้งว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของแชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีก มากกว่า 500 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2019/20 และนั่นหมายถึงการที่ทุกสโมสรที่เข้าร่วมแข่งขันจะมีรายได้น้อยลงจากที่มีการประเมินไว้ราว 4 เปอร์เซ็นต์ในอีก 5 ฤดูกาลข้างหน้า
รายได้ที่ลดลงนั้นสวนทางกับรายจ่ายที่มากมายมหาศาล ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ว่าแชมเปียนส์ลีกจะให้ผลตอบแทนมากแค่ไหนก็ตาม มันไม่เคยพอสำหรับเหล่าสโมสรระดับชั้นนำที่จะต้องลงทุนในการซื้อผู้เล่นระดับสตาร์เข้ามา ทั้งเพื่อโอกาสในการแข่งขันและเพื่อดึงดูดแฟนฟุตบอล โดยที่ค่าเหนื่อยก็มหาศาล ไม่นับเงินที่ต้องจ่ายให้กับเอเจนต์อีก
ความตึงเปรี๊ยะของการเงินทำให้พวกเขาต้องการที่จะหาทางเพื่อทำเงินรายได้ให้มากกว่าเดิม จึงเข้าสูตรของการแยกตัวเพื่อหารายได้เพิ่ม และดูเหมือนมันจะมาถึงจุดที่พวกเขาเองคิดว่าการปล่อยให้ ‘คนกลาง’ อย่างยูฟ่ามาบริหารจัดการผลประโยชน์ให้นั้น อาจจะไม่ทำให้พวกเขาได้ในสิ่งที่ต้องการ
ทั้งนีทั้งสองฝ่ายมีความพยายามที่จะหารือกัน โดยเฉพาะทางยูฟ่าที่มีการล็อบบี้สโมสรเหล่านี้ผ่านทาง European Club Association โดยได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกให้เป็นรูปแบบใหม่
รูปแบบเป็นอย่างไร
- เพิ่มจำนวนทีมเป็น 36 ทีม แข่งขันในระบบ Swiss Model
- แต่ละทีมจะได้แข่งอย่างน้อย 10 นัด ซึ่งหมายถึงจำนวนการถ่ายทอดสดนั้นเพิ่มจาก 6 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม เป็น 10 นัดในระบบใหม่ และมากกว่านั้นหากผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ และทั้งหมดคือเงินส่วนแบ่งที่จะได้รับเพิ่มเติม
การเจรจาที่เริ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเหมือนจะเป็นไปด้วยดี จนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางด้านยูฟ่าเตรียมจะประกาศรับรองการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของแชมเปียนส์ลีก แต่ก่อนหน้าจะถึงวันประชุมของคณะกรรมการบริหารกลับมีข่าวว่าเรื่องถูกพักเอาไว้ก่อน
สาเหตุเกิดจากการที่ทางฝ่ายสโมสรและยูฟ่าไม่สามารถตกลงเรื่องผลประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิ์ในการบริหารจัดการเรื่องการตลาด และลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ฝ่ายสโมสรต้องการจะได้มากกว่าที่ได้รับการเสนอมา
เรื่องถูกตีตกไปโดยที่ยังไม่มีใครได้ทันระแคะระคายว่านี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง
ก่อนที่จะมีการก่อกบฏในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจคือ การประกาศยูโรเปียนซูเปอร์ลีกนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าวันประชุมใหญ่ของยูฟ่าเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
เป็นการชิงประกาศตัดหน้าแผนปฏิรูปฟุตบอลแชมเปียนส์ลีกอย่าง ‘จงใจ’
คิดแบบคนใจร้ายนิดๆ ก็เรียกว่าเป็นการหักหน้า หักด้ามพร้าด้วยเข่า
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของ 12 สโมสร นี่อาจเป็น ‘โอกาสเดียว’ ที่พวกเขาจะสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ โอกาสแบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นไปอีกหลายปี หากปล่อยให้แผนการปฏิรูปแชมเปียนส์ลีกสำเร็จตามความต้องการของยูฟ่า
ระบบใหม่จะมีจำนวนเกมรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 นัด และการจะได้แชมป์อาจจะต้องเล่นสูงสุดถึง 17 นัด มากกว่าระบบปัจจุบัน 4 นัด
ไม่นับการที่ยูฟ่าเองมีแผนจะเปิดตัวรายการใหม่ที่จะเป็น Tier 3 ของยุโรปคือ คอนเฟอเรนซ์ลีก ที่จะรองลงมาจากยูโรปาลีกอีกทอด
และฟีฟ่าเองก็มีแผนปรับโฉมรายการชิงแชมป์สโมสรโลกใหม่ รวมถึงความจริงพวกเขาเองก็เคยมีแผนที่จะตั้ง ‘ยูโรเปียนพรีเมียร์ลีก’ ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กับยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเหมือนกัน
สำหรับสโมสรเหล่านี้แล้ว จำนวนเกมที่เพิ่ม การแข่งขันที่เพิ่ม ล้วนแต่เป็น ‘ภาระ’ ทั้งสิ้น ซึ่งในเมื่อต้องเล่นมากกว่าเดิม (ระบบปัจจุบัน) แต่กลับได้รายได้มากกว่าเดิมนิดหน่อย ได้ไม่คุ้มเสีย สู้แยกตัวไปแข่งกันเองรับเงินเข้ากระเป๋าเองเต็มๆ บริหารกันเองจะง่ายกว่าไหม
เพราะอย่างไรเสีย ช้าหรือเร็วโลกฟุตบอลก็จะเปลี่ยนแปลง บังเอิญที่พวกเขาอยู่ตรงทางแยก และมองเห็นทางข้างหน้าที่ชัดเจนและสวยงามกว่า
นี่คือมุมมองของสโมสรครับ
Financial Times มีการประเมินตัวเลขคร่าวๆ เอาไว้ครับว่า ซูเปอร์ลีกนั้นจะทำรายได้ให้แก่สโมสรที่เข้าร่วมราว 300 ล้านปอนด์ต่อปี
ตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขรายรับสูงสุดที่จะได้จากยูฟ่า ในฐานะแชมป์ของแชมเปียนส์ลีก ซึ่งจะได้สูงสุดประมาณ 111 ล้านปอนด์ค่อนข้างมาก
โดยที่พวกเขามีแบ็กอัพใหญ่มาก 2 รายด้วยกัน
- J.P. Morgan บริษัทหลักทรัพย์ระดับโลก ซึ่งกำลังมองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ และสนใจเกมกีฬาที่มีฐานแฟนฟุตบอลทั่วโลก และสโมสรเองก็มีโอกาสจะเป็นลูกค้าของพวกเขาด้วย ที่พร้อมลงทุนด้วยในระดับ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- DAZN ยักษ์ใหญ่ตนใหม่ เจ้าของสมญา Netflix แห่งวงการกีฬา ซึ่งมีข่าวว่าพร้อมจะลงทุนให้ 3.5 พันล้านยูโร เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รวมถึงการถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาเองบน OTT (นึกภาพ Netflix ที่มีฟุตบอลซูเปอร์ลีก และรายการอื่นๆ ให้ดู)
เอาแค่หากซูเปอร์ลีกเริ่มต้นคิกออฟได้ สโมสรที่เข้าร่วมจะได้รับเงินก้อนใหญ่ 3.5 พันล้านปอนด์ทันที โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงสนาม ปรับปรุงสนามซ้อม (สองข้อนี้เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน) หรือเพื่อซื้อนักเตะ หรือเอาไปทำแมวน้ำอะไรก็แล้วแต่ ได้ทั้งนั้น
และในอนาคต ยูโรเปียนซูเปอร์ลีกมีโอกาสทำรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืนไปจนถึงหลัก 1 หมื่นล้านยูโรภายใน 23 ปีข้างหน้า ด้วยเชื่อว่ามาตรฐานของการแข่งขัน ด้วยชื่อชั้นของทีมที่แข่งขัน อย่างไรเสีย เรอัล มาดริด พบ ลิเวอร์พูล ก็น่าดูว่าเรอัล มาดริด พบ บาเซิล หรือลิเวอร์พูล พบ สลาเวีย ปรากเป็นไหนๆ
เพราะแบ็กอัพใหญ่และตัวเลขเงินที่สูงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ 12 สโมสรในเวลานี้ตัดสินใจ ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ ก่อการไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ในปฏิบัติการ Disruption วงการฟุตบอลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ดี คำถามที่สำคัญที่สุดคือ
เรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างไรต่อเกมฟุตบอล
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแฟนฟุตบอล – ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสมอในเกมอำนาจนี้
บทสรุปที่ยากจะคาดเดาของสงครามลูกหนัง
“เกมฟุตบอลตายแล้ว”
นี่คือสิ่งที่ไม่ว่าจะนักเขียน นักวิเคราะห์ หรือแฟนฟุตบอลที่รักและผูกพันกับกีฬาชนิดนี้มายาวนานคิดคล้ายๆ กันทั้งหมด
เพราะสำหรับพวกเขา ฟุตบอลไม่ใช่แค่เกมกีฬาที่แข่งกันเอาเงิน มันมีความฝันอยู่ในนั้น มันมีหัวใจที่ร้อนแรงอยู่ในนั้น และมันมีความผูกพันอยู่ในนั้น
การตัดสินใจตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีก สำหรับพวกเขาคือการทรยศที่ร้ายกาจที่สุด เพราะในการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กลับไม่มีแฟนฟุตบอลคนใดที่ได้ออกสิทธิ์ออกเสียงหรือให้ความเห็นเลย
แม้กระทั่งสโมสรอย่างบาร์เซโลนา ที่มีแฟนฟุตบอลเป็นเจ้าของสโมสรอย่างเต็มร้อยในระบบ ‘โซซิโอ’
ลิเวอร์พูล – ทีมที่ แกรี เนวิลล์ บอกว่านี่คือสโมสรของผู้คน (People’s Club) – หักหลังแฟนๆ ทุกคน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พร่ำบอกตลอดว่าคิดถึงเหล่าเดอะ ค็อปที่หายไปจากสนามมากแค่ไหน
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในที่สุดแฟนๆ ก็ได้ยินอะไรบ้างจากปากของ โจเอล เกลเซอร์ เจ้าของสโมสร ที่เขียนข้อความถึงพวกเขาเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยที่แทบไม่เคยปรากฏตัวต่อหน้าแฟนของตัวเองที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเลย
เป็นตลกร้ายที่ร้ายกาจที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วแฟนฟุตบอลก็ถูกมองเป็นเพียงแค่ ‘ของตาย’ สำหรับนายทุนเหล่านี้ ที่ไม่เห็นอะไรสำคัญกว่าตัวเลขในบัญชี
ความฝันของแฟนบอลที่จะเฝ้าเชียร์ทีมรักให้ก้าวขึ้นไปเล่นในรายการระดับสูงสุดสลายไป เช่นเดียวกับความฝันของนักฟุตบอลที่ร้อยทั้งร้อยอยากจะมีโอกาสได้เล่นในแชมเปียนส์ลีกสักครั้งกันทุกคน
จะมีประโยชน์อะไรจากนี้ ในเมื่อพยายามให้ตาย ทีม Elite ที่พวกเขาฝันถึงนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อมไปแล้ว และต่อให้แชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีกยังคงอยู่ การปราศจากทีมเหล่านี้ก็ทำให้มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผลกระทบร้ายแรงต่อมาคือ ความตายของเกมฟุตบอลที่หวั่นว่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสโมสรใหญ่เหล่านี้มีส่วนช่วยค้ำชูวงการฟุตบอลในทางอ้อมผ่านเงินรายได้ส่วนหนึ่ง ที่จะถูกจำหน่ายจ่ายแจกลงมาถึงกลุ่มฟุตบอลในระดับล่าง
การปราศจากทีมระดับแม่เหล็กอาจส่งผลกระทบต่อยอดคนดูรวมทั้งหมด รวมถึงสปอนเซอร์ เมื่อรายได้ลด เงินที่จะช่วยเหลือทำนุบำรุงวงการฟุตบอลก็ย่อมลดลง
อย่างไรก็ดี เราต้องจับตาดูการต่อสู้ในสงครามครั้งนี้กันต่ออีกสักพักครับ เมื่อทางด้านยูฟ่านั้นแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพวกเขาคัดค้าน และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางในเรื่องนี้
รวมถึงการลงโทษแบนทุกระดับ และตัวแปรสำคัญคือการลงโทษแบนนักฟุตบอลไม่ให้เล่นในนามทีมชาติ
เรื่องนี้จึงใช่แต่จะมีแค่แฟนบอลที่ถูกจับเป็นตัวประกัน แต่ยังมีนักฟุตบอลโดนจับเป็นตัวประกันด้วย
การประกาศก่อตั้งซูเปอร์ลีกเป็นเพียงห่ากระสุนปืนใหญ่ชุดแรกที่ถล่มลงมาใส่ยูฟ่าและโลกฟุตบอลครับ หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการต่อสู้กันอีกสักพักใหญ่
คนกลางที่ผมคาดเดาเอาไว้ยังคงเป็นฟีฟ่า ที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง ที่อาจจะช่วยเกลี้ยกล่อมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
แต่อย่าคาดหวังว่าเรื่องจะจบด้วยการกลับไปเล่นแชมเปียนส์ลีกกันเหมือนเดิม และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อ่านเกมแล้วครั้งนี้ไม่ได้ง่ายแบบนั้นครับ เพราะคราวนี้บรรดาสโมสรชั้นนำทั้งหมดค่อนข้างมั่นใจในพลังและอำนาจของตัวเองมากพอสมควร
มีโอกาสที่พวกเขาจะตัดสินใจก้าวเดินต่ออย่างเด็ดเดี่ยวโดยทิ้งทุกอย่างเอาไว้ข้างหลัง และหวังว่าเมื่อถึงวันนั้น – ซึ่งคาดว่าพวกเขาจะพยายามเริ่มแข่งภายในเดือนสิงหาคมปีนี้เลย! – แฟนฟุตบอลจะหวนกลับมาหาพวกเขาเหมือนเดิม ในโลกฟุตบอลแบบใหม่
ส่วนโลกฟุตบอลแบบเก่าก็อาจจะมีอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือถูกทิ้งเอาไว้ตรงนั้น และรอความตายอย่างช้าๆ
นี่คือโลกทัศน์ใหม่ของวงการฟุตบอลในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่จินตนาการครับ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://theathletic.com/news/european-super-league-manchester-united-liverpool-arsenal-relegated-neville/1nlvyVT3mMNt
- https://theathletic.com/2337741/2021/01/22/explained-why-uefa-is-rattled-over-the-latest-european-super-league-plan/
- https://theathletic.com/2154735/2020/10/23/european-super-league/
- https://theathletic.com/2527261/2021/04/19/european-super-league-explained-the-contracts-plots-and-threats-that-shook-football-to-its-core/
- https://theathletic.com/news/european-super-league-confirmed-latest/oZNUFvMCU06R
- https://www.theguardian.com/football/2021/apr/19/bayern-munich-and-borussia-dortmund-not-joining-european-super-league
- https://www.theguardian.com/business/2021/apr/19/jp-morgan-european-super-league
- https://www.telegraph.co.uk/football/2021/04/19/super-league-clubs-may-kicked-years-uefa-competitions-president/
- https://thestandard.co/goaloflife-25th-premierleague/
- ปฏิกิริยาจากโลกฟุตบอล มีการต่อต้านบ้างแล้วจากบาเยิร์น มิวนิก, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และวงการฟุตบอลเยอรมนี รวมถึงในฝรั่งเศส
- อันเดร์ เอร์เรรา เป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงคนแรกที่ออกมาต่อต้านยูโรเปียนซูเปอร์ลีก
- พรีเมียร์ลีกขู่ว่าจะมีการไล่ 6 สโมสรกบฏออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุด