×

สรุป ‘ปรากฏการณ์ขวาจัด’ และ ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป

10.06.2024
  • LOADING...
การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป

การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี และรอบนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญและมีส่วนในการกำหนดทิศทางนโยบายของสหภาพยุโรป (EU) ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือนโยบายผู้อพยพ โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะสามารถส่งผู้แทนจากพรรคการเมืองท้องถิ่นของตน (โควตาตามจำนวนประชากร) เพื่อลงสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกรัฐสภายุโรป (Members of the European Parliament: MEP) ที่มีจำนวนทั้งหมด 720 ที่นั่ง

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือผลการนับคะแนนหน้าคูหาหรือเอ็กซิตโพลที่ปรากฏออกมากลายเป็นประเด็นร้อนทันที เมื่อผู้สมัครจากพรรคขวาจัดในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และเยอรมนี มีแนวโน้มว่าจะสร้างปรากฏการณ์ครองที่นั่ง MEP ได้สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งอาจมากถึง 150 ที่นั่ง สะท้อนถึงกระแสความนิยมฝ่ายขวาจัดหรือแนวคิดชาตินิยมใน EU ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ถึงขั้นประกาศยุบสภาและเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังผู้สมัครจากพรรคสายกลางของเขาพ่ายแก่พรรคคู่แข่งฝ่ายขวาจัดด้วยคะแนนเสียงตามหลังกว่า 2 เท่า

 

ส่วนเบลเยียม นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ประกาศลาออก ภายหลังผู้สมัครจากพรรค Open Vld ของเขา พ่ายแก่พรรคขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพอย่างพรรค Vlaams Belang ไปแบบขาดลอย 10% ต่อ 22%

 

เช่นเดียวกับเยอรมนี ผู้สมัครจากพรรค Social Democratic (SPD) ของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ก็ทำผลงานได้แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และพ่ายให้แก่พรรคขวาจัด AfD

 

สำหรับมหาอำนาจใน EU ผลเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่ออกมา อาจเหมือน ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ที่สะเทือนอำนาจในการขับเคลื่อนนโยบายภายในกลุ่ม

 

อีกนัยหนึ่งก็สามารถมองได้ว่า นี่เป็นการ ‘ลงประชามติโดยพฤตินัย’ ต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศยุโรป ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อวิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูง และปัญหาจากนโยบายการเปิดรับผู้อพยพ ซึ่งแน่นอนว่าอาจกระทบถึงการเมืองในประเทศด้วย โดยฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2027 ส่วนเยอรมนีจะมีการจัดเลือกตั้งใหญ่ของเยอรมนีในปีหน้า 

 

ขวาจัดมาแรง

 

ประธานาธิบดีมาครงประกาศยุบสภาและเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่รอบแรกในวันที่ 30 มิถุนายน และรอบสองในวันที่ 7 กรกฎาคม หลังความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น โดยเอ็กซิตโพลชี้ว่า ผู้สมัครจากพรรคคู่แข่งฝ่ายขวาจัดที่มีนโยบายต่อต้านการเปิดรับผู้อพยพอย่างพรรค National Rally (Rassemblement National: RN) ของ มารีน เลอ แปน ได้คะแนนเสียงไป 31.5% ซึ่งมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้สมัครจากพรรค Renaissance พรรคสายกลางของเขาที่ได้คะแนนเสียง 15.2%

 

ผลสำรวจของ Ipsos ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ RN เอาชนะ มาจากปัญหาผู้อพยพและวิกฤตค่าครองชีพที่กำลังลุกลามทั้งในฝรั่งเศสและหลายประเทศยุโรป

 

จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) สมาชิกรัฐสภายุโรปและประธานพรรค RN กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘ความพ่ายแพ้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของรัฐบาลฝรั่งเศสชุดปัจจุบัน’

 

ขณะที่มาครงแถลงต่อประชาชนว่า “เขาไม่อาจเพิกเฉยต่อคำเตือนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” และชี้ว่าผู้สมัครจากพรรคขวาจัดทั้งหมดในฝรั่งเศสได้รับคะแนนเสียงไปเกือบ 40% 

 

“นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการชี้แจง ผมได้ยินข้อความของคุณ ความกังวลของคุณ และผมจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ไม่ได้รับคำตอบ ฝรั่งเศสต้องการเสียงข้างมากที่ชัดเจนเพื่อดำเนินการด้วยความสงบและความสามัคคี”

 

ด้าน เลอ แปน ที่เป็นรองแชมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 ครั้งล่าสุด กล่าวว่า “เราพร้อมที่จะครองอำนาจหากชาวฝรั่งเศสเชื่อมั่นในตัวเราในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมาถึง เราพร้อมที่จะนำประเทศกลับมายืนหยัดอีกครั้ง”

 

ผลเลือกตั้งที่คาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันนี้ (10 มิถุนายน) หมายความว่าฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง EU จะได้สมาชิกรัฐสภายุโรปกลุ่มใหญ่ที่สุดในหมู่สมาชิก 27 ประเทศ

 

ขณะที่กระแสความนิยมของแนวคิดขวาจัดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพรรค RN มีคะแนนเสียงสูงที่สุดในการเลือกตั้งทั้งในปี 2014 และ 2019 

 

เช่นเดียวกับมาครง นายกรัฐมนตรีโชลซ์ก็สั่นสะเทือนกับผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งพรรค Social Democratic ของเขาทำผลงานได้แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยคะแนนเสียง 14%

 

ในขณะที่พรรค Christian Democratic Union of Germany (CDU) ซึ่งเป็นพรรคสายกลาง-ขวาได้คะแนนเสียงมากที่สุดอยู่ที่ 29.5% และอันดับ 2 เป็นพรรคขวาจัด AfD ที่ได้ 16.5%

 

ทั้งนี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเมืองในยุโรปปรากฏชัดขึ้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปครั้งล่าสุดในปี 2019 ตามด้วยกรณี Brexit ที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU ในปี 2020 และกรณีรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรปตกอยู่ในภาวะสงครามและความขัดแย้ง 

 

โดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปครั้งนี้ว่า 

 

“แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ โลกรอบตัวเรากำลังวุ่นวาย กองกำลังจากภายนอกและจากภายในกำลังพยายามทำให้สังคมของเราไม่มั่นคง และพวกเขากำลังพยายามทำให้ยุโรปอ่อนแอลง”

 

ปัจจัยความกังวลของชาวยุโรป

 

สมาชิกรัฐสภายุโรปประกอบด้วยหลายกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดต่างกัน โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและคาดว่าจะได้ที่นั่งสมาชิกรัฐสภายุโรปมากที่สุดคือกลุ่ม EPP (European People’s Party Group) ซึ่งสนับสนุนแนวคิดกลาง-ขวา และมีสมาชิกเป็นพรรคการเมืองกว่า 80 พรรคจากหลายประเทศ โดยเอ็กซิตโพลชี้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ EPP อาจได้สมาชิกรัฐสภายุโรปถึง 189 ที่นั่ง

 

ส่วนกลุ่มการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 คือกลุ่ม Socialists and Democrats (S&D) ซึ่งส่งเสริมแนวคิดกลาง-ซ้าย คาดว่าจะได้ที่นั่งสมาชิกรัฐสภายุโรป 135 ที่นั่ง ซึ่งลดลงจากปี 2019 4 ที่นั่ง

 

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่า การเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งรอบนี้ที่เอนเอียงไปยังแนวคิดฝ่ายขวามากขึ้น หลักๆ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับผู้อพยพ สงครามในยูเครน และการเปลี่ยนผ่านในนโยบายสีเขียวเพื่อรับมือภาวะโลกรวน

 

บาส ไอค์เฮาต์ (Bas Eickhout) ผู้สมัครหลักของกลุ่มการเมือง European Green Party หรือพรรค Green ที่สนับสนุนแนวคิดการเมืองสีเขียว หรือการเมืองที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตอบคำถาม Reuters ที่ถามว่าทำไมฝ่ายขวาจัดถึงทำได้ดีมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “ผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากกำลังรู้สึกว่ายุโรปไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างให้กับประชาชน แต่แค่กำลังควบคุมประชาชน และผมคิดว่าตอนนี้เราจำเป็นต้องได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้น เราจะมีแต่เดินหน้าไปทางขวาจัดมากขึ้นเท่านั้น” 

 

เอ็กซิตโพลคาดการณ์ว่าพรรคกลางขวา, กลางซ้าย, เสรีนิยม และพรรค Green จะยังครองที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภายุโรปไว้ได้ 460 ที่นั่ง แต่ถือว่าน้อยลงเมื่อเทียบกับ 488 ที่นั่งในปี 2019 ขณะที่คาดว่าพรรค Green จะได้สมาชิกรัฐสภายุโรปลดลงจาก 71 ที่นั่งเป็น 53 ที่นั่ง

 

เลือกตั้งครั้งแรกหลัง Brexit สะท้อนยุโรปปั่นป่วน

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปที่เกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ Brexit โดยชี้ถึงสิ่งที่เกิดว่าเป็นภาพสะท้อนความปั่นป่วนของ EU 

 

เขามองว่า แม้ฝ่ายขวากลางจะยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรป แต่ก็จะทำให้การผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เปิดกว้างตามยุทธศาสตร์โลก (EU Global Strategy) ทำได้ยากขึ้น

 

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอน คือนโยบายช่วยเหลือผู้อพยพและงบประมาณช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของ EU จะลดลง

 

รศ.ดร.ปิติ ยังชี้ว่า อีกประเด็นที่ต้องจับตามองจากทิศทางความเปลี่ยนแปลงในรัฐสภายุโรป คือกรณีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-EU ที่อาจชะงักหรือล่าช้าลง

 

ส่วนนโยบายของ EU ต่ออาเซียน โดยเฉพาะการยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnerships) ตลอดจนการขอเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) และ ADMM+ ที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง น่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป แต่กระบวนการอาจล่าช้าและมีความซับซ้อน

 

นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ที่เงินสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่อาเซียนเคยได้รับการสนับสนุนจาก EU เช่น โครงการส่งเสริมขีดความสามารถต่างๆ อาจลดลงด้วย

 

ภาพ: SINA SCHULDT/dpa/AFP via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising