×

ยุโรปเสริมเขี้ยวเล็บ ไม่พึ่งสหรัฐฯ ความมั่นคงไทยควรไปทางไหนในโลกที่ผันผวน?

28.03.2025
  • LOADING...
ผู้นำยุโรปร่วมกันยกระดับความมั่นคงภายในภูมิภาค ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์

นโยบายที่ผันผวนของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ปรับเปลี่ยนท่าทีและหันไปใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งถือเป็น ‘ภัยคุกคามอันดับ 1 ร่วมกัน’ ของทั้งยุโรป ทำให้บรรดาประเทศในยุโรปต่างกังวลใจและหันมายกระดับความมั่นคงภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติด้านเทคโนโลยีและงบประมาณด้านกลาโหม เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งกำลังหันไปให้ความสำคัญกับปัญหาภายในประเทศ ตามนโยบาย America First หรือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

 

’ร่มนิวเคลียร์’ ฝรั่งเศส กับอนาคตความมั่นคงยุโรป

 

หนึ่งในแผนความมั่นคงของยุโรปที่ผลักดันโดยฝรั่งเศสคือ ร่มนิวเคลียร์ ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับความพยายามที่จะแผ่ขยาย ‘ร่มนิวเคลียร์ฝรั่งเศส’ (French Nuclear Umbrella) ซึ่งเป็นแนวทาง ‘การป้องปรามทางนิวเคลียร์’ (Nuclear Deterrence) ที่ฝรั่งเศสใช้เพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง ให้ขยายขอบเขตในการ ‘ปกป้อง’ ให้ครอบคลุมประเทศอื่นๆ ภายในยุโรป จากภัยคุกคามต่างๆ 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการจะลดบทบาทสหรัฐฯ ใน NATO และละทิ้งบทบาทของสหรัฐฯ ที่เคยทำหน้าที่ ‘ผู้ค้ำประกันความมั่นคงสูงสุดของยุโรป’ มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ฝรั่งเศสเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของยุโรปที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง จึงทำให้ฝรั่งเศสเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มี ‘อำนาจนิวเคลียร์อิสระ’ (Independent Nuclear Power) ซึ่งสามารถพัฒนา ควบคุม และใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ โดย ‘ไม่ต้องพึ่งพา’ และ ‘ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม’ ของสหรัฐฯ หรือ NATO อย่างสมบูรณ์ ซึ่ง ‘แตกต่าง’ จากประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่อยู่ภายใต้ร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ผ่านองค์การ NATO

 

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เชิญผู้นำยุโรปหารือถึง ‘โอกาสและความเป็นไปได้’ ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสว่า จะสามารถนำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือยับยั้ง’ การรุกรานของรัสเซียในอนาคตได้หรือไม่ และจะมีแนวทางการใช้อย่างไร

 

โดย ‘ร่มนิวเคลียร์ฝรั่งเศส’ จะทำงานในฐานะกลไก ‘การป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์’ (Strategic Deterrence) ป้องปรามศัตรู ‘ไม่ให้โจมตี’ ฝรั่งเศสหรือพันธมิตร เพราะอาจถูกฝรั่งเศสตอบโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ตามหลักการ ‘กำลังตอบโต้’ (Force de Frappe) ซึ่งฝรั่งเศสเคยประกาศว่า อาวุธนิวเคลียร์มีไว้เพื่อ ‘ป้องปราม’ (Deterrence) และใช้ใน ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ เท่านั้น

 

บรรดาผู้นำยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและโปแลนด์ เริ่มหารือถึง ความเป็นไปได้ในการขอความคุ้มครองจากร่มนิวเคลียร์ฝรั่งเศส และอาจรวมถึงร่มนิวเคลียร์อังกฤษ ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองและมี ‘อำนาจนิวเคลียร์อิสระ’ คล้ายกับฝรั่งเศส โดยอังกฤษได้รับมอบหมายให้ปกป้องยุโรปผ่านกลไกของ NATO

 

ในกรณีของโปแลนด์นั้นถึงขั้นพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความมั่นคงโลกที่กำลังถูกสั่นคลอนอยู่ในช่วงเวลานี้

 

  • ทำไมยุโรปอาจ ‘ไม่สามารถ’ พึ่งพาร่มนิวเคลียร์ฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียวได้?

 

แต่ก็มีคำถามว่า ร่มนิวเคลียร์เป็นหลักประกันความมั่นคงได้แค่ไหน

 

เวลานี้ฝรั่งเศสมีอาวุธนิวเคลียร์เพียง 300 หัวรบ ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐฯ (5,000 หัวรบ) และรัสเซีย (5,580 หัวรบ) เป็นอย่างมาก ทำให้ ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับการป้องกันยุโรปทั้งภูมิภาค

 

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังขาด ‘อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี’ (Tactical Nuclear Weapons – TNWs) ซึ่งมี ‘พลังทำลายล้างน้อยกว่า’ และ ‘มีพิสัยการโจมตีสั้นกว่า’ เป็นอาวุธที่ออกแบบมา สำหรับใช้ใน ‘สนามรบโดยตรง’

 

ขณะนี้ฝรั่งเศสมีเพียง ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์’ (Strategic Nuclear Weapons – SNWs) สำหรับการโจมตีเป้าหมายสำคัญหรือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยอานุภาพการทำลายล้างสูง ทำให้ฝรั่งเศสดูเหมือนจะมีทางเลือกในการเพิ่มระดับความรุนแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป ‘น้อยกว่า’ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย

 

  • ทางเลือกของฝรั่งเศสในมุมนักวิเคราะห์

 

มาริยง เมสเมอร์ (Marion Messmer) Think Tank และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศจาก Chatham House ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของอังกฤษ กล่าวว่า วิธีการที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด สำหรับฝรั่งเศสในการเสริมสร้างความสามารถด้านการป้องปรามภัยคุกคามต่างๆ ให้กับยุโรปนั้นคือ การ​​เข้าร่วม NATO Nuclear Planning Group (NPG) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนโยบายและยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของ NATO เพื่อหารือถึงแนวทางในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ‘เพื่อการป้องกันร่วมกัน’ ซึ่งที่ผ่านมา ฝรั่งเศส ‘ไม่ได้​​เข้าร่วม NPG’ เนื่องจากมีนโยบาย ‘อิสระด้านนิวเคลียร์’ และ ‘ไม่ได้อยู่’ ในโครงสร้างนิวเคลียร์ของ NATO

 

เมสเมอร์ยังมองอีกว่า การกระทำดังกล่าว จะทำให้ ‘หลักการด้านนิวเคลียร์’ (Nuclear Doctrine) ของทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ‘สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น’ เพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงยุโรปผ่านกลไกของ NATO โดยเป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสที่มีต่อยุโรป และแสดงให้เห็นว่า NATO ของยุโรป จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป แม้ว่าสหรัฐฯ อาจจะถอนตัวในอนาคตก็ตาม

 

การตัดสินใจของฝรั่งเศสที่อาจจะเข้าร่วมกับกลุ่ม NPG ของ NATO ในอนาคต อาจทำให้แนวนโยบาย ‘อิสระด้านอาวุธนิวเคลียร์’ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ต้องยุติลง โดยมาครงยืนยันว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะเป็น ‘ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย’ ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสและอังกฤษ เมื่อรวมกันแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้รัสเซียต้องคิดทบทวนให้ดีก่อนที่จะโจมตี อย่างไรก็ตาม แม้ยุโรปจะเสริมศักยภาพนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น แต่ ‘สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัสเซียมากที่สุด’ ยังคงเป็น ‘อำนาจการป้องปรามของสหรัฐฯ’

 

หากยุโรปต้องการเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ให้ทัดเทียมสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลา ‘อย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ’ และลงทุนประมาณ 6-7% ของ GDP

 

ก่อนหน้านี้ในปี 1995 ฝรั่งเศสและอังกฤษเคยออก ‘แถลงการณ์ร่วมเชกเกอร์ส’ (Chequers Declaration) โดยระบุว่า ทั้งสองประเทศจะถือ ‘ผลประโยชน์สำคัญ’ (Vital Interests) ของตนเชื่อมโยงกัน เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า หากประเทศใดถูกคุกคาม ฝ่ายตรงข้ามอาจต้องเผชิญกับการตอบโต้จากทั้งสองประเทศนี้

 

ฝรั่งเศสอาจใช้แนวทางที่คล้ายกันนี้ในปัจจุบัน โดยออก แถลงการณ์ร่วม กับประเทศพันธมิตร หรืออาจผูกโยงกับ มาตรการป้องกันร่วมของสหภาพยุโรป (EU Mutual Defence Clause)

 

ทางด้าน บรูโน แตร-แทร (Bruno Tertrais) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์ เสนอผ่านงานเขียนใน (เลอ ม็องด์) Le Monde ว่า ฝรั่งเศสอาจส่งสัญญาณเชิงยุทธศาสตร์โดยการส่งเครื่องบินรบ ราฟาล (Rafale) ไปประจำการชั่วคราวในประเทศที่วิตกกังวล เช่น โปแลนด์ แม้ว่าจะไม่มีหัวรบนิวเคลียร์ติดตั้งก็ตาม

 

อีกทั้งฝรั่งเศสอาจพิจารณาเข้าร่วม NATO Nuclear Planning Group (NPG) ในฐานะ ‘ผู้สังเกตการณ์’ (Observer) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรยุโรป อย่างไรก็ตาม การขยายบทบาทด้านนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในระดับที่ใหญ่ขึ้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สหรัฐฯ ถอนตัวจากยุโรปโดยสมบูรณ์

 

‘เยอรมนี’ เพิ่มงบกลาโหมสูงสุดนับตั้งแต่สงครามเย็น

 

ทางฟากฝั่งของเยอรมนี อีกหนึ่งเสาหลักของยุโรปก็กำลัง ‘ปลดล็อก’ งบประมาณมหาศาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการทหารในช่วงเวลาสำคัญของยุโรป สิ่งนี้สะท้อนว่าเยอรมนีก็ต้องการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น

 

ฟรีดริช แมร์ซ (Friedrich Merz) ว่าที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุว่า นี่คือ ‘ช่วงเวลาสำคัญ’ ที่เยอรมนีต้องลงทุนในกองทัพด้วยระดับ ‘งบประมาณที่ไม่เคยมีมาก่อน’ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

 

อัตราการใช้จ่ายทางทหารของเยอรมนีเมื่อเทียบกับ GDP ‘ลดลงอย่างมาก’ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยแตะ ‘ระดับสูงสุด’ ที่ 4.9% ในปี 1963 และลดลงสู่ ‘ระดับต่ำสุด’ ที่ 1.1% ในปี 2005 จนกระทั่งเมื่อปี 2024 เยอรมนีสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ของ NATO ที่กำหนดให้สมาชิกแต่ละประเทศใช้จ่ายด้านกลาโหม ‘อย่างน้อย 2%’ ของ GDP ได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดย CNN คาดการณ์ว่า หากเยอรมนีใช้จ่ายด้านกลาโหม 3.5% ของ GDP ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะคิดเป็นมูลค่ารวม 600,000 ล้านยูโร (ราว 22 ล้านล้านบาท)

 

แมร์ซเชื่อว่า เขาจะนำพาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นคงและความรุ่งเรืองในอนาคต พร้อมประกาศว่า “เยอรมนีกลับมาแล้ว” และ “เยอรมนีกำลังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเสรีภาพและสันติภาพในยุโรป” ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องทรัมป์ และรัสเซีย

 

EU เสนอแผนระดมทุนด้านกลาโหม ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ยุโรปพยายามผนึกกำลังกันในด้านความมั่นคงคือ การที่สหภาพยุโรป (EU) เสนอ ‘แผนสนับสนุนเงินทุนด้านกลาโหม’ มูลค่า 150,000 ล้านยูโร (ราว 5,480,000 ล้านบาท) เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้ออาวุธและพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของยุโรป

 

แผนระดมทุนด้านความมั่นคงนี้บ่งชี้ว่า EU พยายามลดอิทธิพลและการพึ่งพาสหรัฐฯ ลง โดยกีดกันบริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศนอกสมาชิก EU อื่นๆ อย่างเช่น อังกฤษ และตุรกี ออกจากแผนความมั่นคงนี้ หากไม่ลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมและความมั่นคงกับ EU

 

แผนความมั่นคงนี้จะ ‘ไม่ครอบคลุม’ ถึงระบบอาวุธขั้นสูงใดๆ ที่ประเทศที่สาม ‘มีอำนาจในการออกแบบ’ (Design Authority) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการผลิต การใช้ส่วนประกอบบางอย่าง หรือการควบคุมการใช้งานขั้นสุดท้ายของระบบอาวุธนั้นๆ เช่น ระบบป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธ Patriot ของสหรัฐฯ ‘ถูกตัดออกจากแผนการนี้’

 

แผนความมั่นคงนี้ถือเป็นชัยชนะของ ‘ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศ’ ที่เรียกร้องให้ใช้แนวทาง ‘ซื้อของยุโรป อุดหนุนของยุโรป’ (Buy European) ท่ามกลาง ‘ความไม่แน่นอน’ และ ‘ยากจะคาดเดา’ ของทรัมป์ที่มีต่อ NATO และยุโรป

 

โดยอย่างน้อย 65% ของเงินทุนสนับสนุน ต้องถูกใช้จ่ายภายใน ‘สหภาพยุโรป นอร์เวย์ และยูเครน’ ส่วนที่เหลือสามารถใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์จาก ‘ประเทศที่สามที่ได้ลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคง’ ขณะที่อังกฤษชี้ว่า แผนการนี้เป็น ‘ประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง’ อีกทั้งอังกฤษควรถูกมองว่า ‘เป็นส่วนหนึ่งของยุโรป’ แต่ถ้าหาก EU เดินหน้าใช้แนวทางนี้ก็อาจบ่อนทำลาย ‘เอกภาพและความร่วมมือกัน’ ในด้านกลาโหมและความมั่นคงของยุโรป

 

​​แผนความมั่นคงนี้ยังต้องผ่านการอนุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกใน EU ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งอาจเผชิญแรงต้านจากเยอรมนี อิตาลี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศนอก EU

 

Saab ดันประเทศนอร์ดิกใช้เครื่องบินตรวจการณ์ร่วม 

 

นอกจากความเคลื่อนไหวในระดับรัฐแล้ว บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของสวีเดนอย่าง Saab ก็กำลังออกมาผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านในแถบนอร์ดิกใช้เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศแบบ GlobalEye ในการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน

 

Saab ระบุว่า GlobalEye สามารถติดตามเป้าหมายทางอากาศในรัศมี 650 กิโลเมตร และเป้าหมายภาคพื้นดินในระยะ 425 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับโดรนได้จากระยะ 100 ถึง 600 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเป้าหมาย โดย GlobalEye 4 ลำน่าจะสามารถลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของแถบนอร์ดิกได้ (ซึ่งขณะนี้สวีเดนมีเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศรุ่นนี้แล้ว 3 ลำ และกำลังพิจารณาสั่งซื้อลำที่ 4)

 

ประเทศนอร์ดิก 4 ประเทศนี้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านเครื่องบินรบอยู่แล้ว โดยสวีเดนมี Gripen ของ Saab ขณะที่เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ใช้ F-35 ซึ่งผลิตโดย Lockheed Martin ของสหรัฐฯ Saab จึงเสนอตัวเป็น ‘ทางเลือก’ เพื่อลดการพึ่งพาบริษัทด้านกลาโหมของสหรัฐฯในอนาคต โดยเดนมาร์กและฟินแลนด์ดูเหมือนจะส่งสัญญาณเชิงบวกต่อข้อเสนอของ Saab

 

ถึงแม้ว่า Saab จะสามารถผลิตเครื่องบิน GlobalEye ได้เพียงไม่กี่ลำต่อปี แต่ Saab กำลังเดินหน้ายื่นข้อเสนอจัดหาเครื่องบินแจ้งเตือนทางอากาศนี้ให้กับฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และแคนาดา รวมถึงกำลังลงทุนพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นต่อไปต่อจาก Gripen อีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมของการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมด้านกลาโหมที่มีแนวโน้มดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากทางฟากฝั่งของยุโรป

 

หลายประเทศ ยกเลิก/ลดคำสั่งซื้อ F-35 ของสหรัฐฯ

 

พูดถึง F-35 แล้ว ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวสำคัญที่สะท้อนว่าพันธมิตรสหรัฐฯ เริ่มไม่ไว้ใจในนโยบายที่ผันผวนของทรัมป์ โดยมีหลายประเทศรวมถึงประเทศในยุโรปที่พิจารณายกเลิก หรือปรับลดคำสั่งซื้อ F-35 ที่ถือเป็น ‘เครื่องมือการทูตของสหรัฐฯ’ 

 

แคนาดาซึ่งลงนามจัดหา F-35 จำนวน 88 ลำมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 627,000 ล้านบาท) ออกมาประกาศว่า แคนาดาอาจจำเป็นต้องยกเลิกการจัดหา F-35 บางส่วน เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ โดยจะพิจารณาผู้ผลิตรายอื่นเพิ่มเติม

 

โปรตุเกสตัดสินใจจะไม่ซื้อเครื่องบิน F-35 เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดในการเข้าถึงส่วนประกอบสำคัญและซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังระบุว่า เครื่องบินรบใหม่ที่จะมาทดแทน F-16 ควรจะต้องพิจารณาเครื่องบินรบจากยุโรปก่อนสหรัฐฯ เนื่องจากไม่แน่ใจในท่าทีของพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

 

ขณะที่เยอรมนีเองก็เผชิญกระแสเรียกร้องให้พิจารณา ‘ยกเลิก’ การจัดหา F-35 เพิ่มเติมในอนาคต เพราะกังวลว่าสหรัฐฯ อาจมีขีดความสามารถในการสั่งให้เครื่องบินหยุดทำงานได้ ถ้าเยอรมนีไม่ปฏิบัติตามสหรัฐฯ โดยกลัวว่าเครื่องบินจะมี ‘Kill Switch’ ซึ่งทางผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin ก็ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง และไม่มีการฝังระบบอะไรแบบนี้ในเครื่องบินรบอย่างแน่นอน

 

อนาลโย กอสกุล นักสังเกตการณ์การทหารอิสระ ระบุว่า การพลิกกลับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อยุโรปในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ สั่นคลอนความมั่นใจของยุโรปต่อสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และเหยื่อของเรื่องนี้ก็คือ โครงการพัฒนาอาวุธที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ‘เครื่องบินขับไล่ F-35’ ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมจะขายให้กับประเทศที่พร้อมยอมรับและคล้อยตามการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เท่านั้น จึงมีหลายครั้งที่ประเทศที่สั่งซื้อ F-35 ต้องเผชิญกับตัวเลือกที่ยากลำบากในการตัดสินใจ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันยุโรปจะมีเครื่องบินรบที่พัฒนาขึ้นเองอย่าง Rafale ของฝรั่งเศส, Eurofighter Typhoon ของอังกฤษ สเปน เยอรมนี และอิตาลี รวมถึง Gripen ของสวีเดน แต่เครื่องบินทั้งสามแบบ ล้วนเป็น ‘เครื่องบินยุคที่ 4.5’ ซึ่งเก่ากว่า F-35 ของสหรัฐฯ ที่เป็น ‘เครื่องบินยุคที่ 5’ ทำให้ F-35 น่าจะยังเป็นกระดูกสันหลังของความมั่นคงของยุโรปในอีก 10 ปีนับจากนี้ ถึงแม้ยุโรปมองว่า F-35 ‘ไม่มั่นคงอีกแล้ว’ ภายใต้ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็ตาม

 

สหรัฐฯ เปิดตัว ‘เครื่องบินรบยุค 6’ – ยุโรปมีแผนพัฒนาเอง

 

สุดสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดตัวภาพ ‘เครื่องบินรบยุค 6’ ของกองทัพอากาศ ที่ตั้งชื่อว่า F-47 ภายใต้โครงการ Next Generation Air Dominance (NGAD) โดยผู้ชนะโครงการนี้คือ Boeing ที่โค่นคู่แข่งอย่าง Lockheed Martin ไปได้ โดยกองทัพเปิดเผยว่าต้นแบบของ F-47 นั้นขึ้นบินและทดสอบมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาถือเป็นโครงการลับสุดยอด และมีรายละเอียดออกมาน้อยมาก โครงการนี้วางแผนที่จะพัฒนาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทน F-22 ภายในทศวรรษที่ 2030 ซึ่งจะกลายมาเป็น ‘เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุด’ 

 

เมื่อการพัฒนาเสร็จเรียบร้อย F-47 ซึ่งมีนักบินจะทำหน้าที่เป็น ‘ยานแม่’ ที่ควบคุมโดรน ​​เพื่อให้ทำภารกิจบางอย่างแทน ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวน การปล่อยอาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศหรืออากาศสู่พื้น หรือภารกิจการข่าวอื่นๆ ทำให้นักบินและเครื่องบินขับไล่ ‘เพียงแค่ลำเดียว’ สามารถสร้างอำนาจการยิงและปฏิบัติภารกิจได้เหมือน ‘เครื่องบินหลายลำ’ ซึ่งนี่คือคุณสมบัติแรกของ F-47 และเป็น ‘คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด’ ของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6

 

อีกคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ ‘คุณสมบัติตรวจจับได้ยาก’ (Stealth) ซึ่งจะต้องมี ‘มากกว่า’ เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 อย่าง F-22 หรือ F-35

 

ส่วนคำถามที่ว่า สหรัฐฯ จะขาย F-47 ให้ต่างชาติหรือไม่ ทรัมป์แย้มว่า อาจจะพิจารณาขาย F-47 ให้กับประเทศพันธมิตร แต่จะต้องเป็นรุ่นที่ ‘ลดคุณสมบัติ’ ให้ไม่เท่ากับที่สหรัฐฯ มี หรืออาจจะลดสเปกลงราว 10% เพราะไม่แน่ใจว่าพันธมิตรเหล่านั้นจะเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไปเรื่อยๆ หรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจทำให้พันธมิตรเกิดความหวาดระแวงได้เช่นกัน

 

คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่ F-47 จะเข้าประจำการ แต่ทรัมป์ต้องการที่จะเปิดตัว F-47 ต่อสายตาคนทั้งโลก ก่อนที่เขาจะหมดวาระลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เพื่อส่งสัญญาณไปยังประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ มีการพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารที่ก้าวหน้ากว่าใคร และยังเป็น ‘เบอร์ 1 ของโลก’ ในด้านกองทัพ

 

สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 นั้น นอกจากสหรัฐฯ และจีนแล้ว อย่างที่กล่าวไปแล้ว บรรดากลุ่มประเทศในยุโรปก็เริ่มเดินหน้าพัฒนา ‘เครื่องบินในยุคที่ 6’ ของตัวเองเช่นกัน ซึ่งก็สะท้อนว่ายุโรปและชาติอื่นๆ ก็พยายามยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

โดยฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จับมือกันพัฒนาโครงการ Future Combat Air System หรือชื่อย่อว่า FCAS ขณะที่ อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมมือกันพัฒนาโครงการ Global Combat Air Programme หรือ GCAP ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ

 

ไทยกับเทรนด์ลดการพึ่งพามหาอำนาจ

 

การที่หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ลง และหันมายกระดับการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของบรรดาชาติมหาอำนาจ อาจส่งผลกระทบต่อไทยในหลายมิติ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และนโยบายการต่างประเทศ

 

โดยไทยอาจเผชิญแรงกดดันให้ต้องเลือกข้างมากยิ่งขึ้น จากความเสี่ยงของสงครามในรูปแบบต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงซัพพลายเออร์อาวุธที่หลากหลายขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเองด้วยเช่นกัน

 

ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาเฉพาะหน้าในภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป น่าจะยังไม่กระทบกับความมั่นคงไทย เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับยุโรป แต่ปัญหาจากตัวแบบยุโรปก็ท้าทายให้ผู้กำหนดนโยบายด้านการทหารของไทยต้องคิดต่อว่า จะจัดความสัมพันธ์ของไทยกับรัฐมหาอำนาจในเรื่องอาวุธอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และความยุ่งยาก

 

อาจารย์ระบุว่า อุตสาหกรรมทหารของไทยมี ‘ขีดความสามารถในระดับต่ำ’ ถ้าจะพิจารณาปัญหาเรื่องนี้จากสิ่งที่เกิดในยุโรป ก็อาจต้องเริ่มมีการทบทวนนโยบายเรื่องอุตสาหกรรมทหารให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้น้อยมากๆ

 

สิ่งที่เกิดจาก Trump Effects กับความมั่นคงด้านอาวุธของยุโรป อาจ ‘ช่วยกระตุ้น’ ให้ผู้นำไทยที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้น และจะต้องกำหนดให้ชัดว่า ‘กองทัพไทย’ จะเป็น ‘ผู้ซื้อที่ฉลาด’ (Smart Buyer) ไม่ใช่ซื้อจาก ‘ปัจจัยอื่นๆ’ ที่ไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยในยุคของทรัมป์ ผู้นำไทยอาจต้องนำเอาเรื่องการซื้ออาวุธมาเป็น ‘เครื่องมือต่อรอง’ กับแรงกดดันด้านภาษีของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะคิดซื้อ ‘แบบไม่มีทิศทาง’ เช่น กองทัพอากาศไทยควรซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐฯ ไม่ใช่จากสวีเดน เพื่อให้อาวุธเป็นเครื่องมือ ‘ช่วยพยุงตลาดไทย’ ในสหรัฐฯ

 

ทั้งหมดนี้ บอกกับเราว่า ผู้นำไทยต้องคิดที่จะ ‘ดีล’ กับทรัมป์ เพราะผู้นำสหรัฐฯ ต้องการให้เราซื้ออาวุธจากเขา และไทยต้องต่อรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ การซื้ออาวุธสหรัฐฯ จะช่วยในการสู้กับกำแพงภาษีของทรัมป์ ไม่ใช่การซื้อโดยไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรองรับ

 

ทางด้าน พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ (สอป.) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบ และกำลังก้าวสู่ยุคไอทีขั้นสูง โดยปัญหาใหญ่ของไทยคือ อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากยังใช้ซอฟต์แวร์หรือระบบควบคุมที่เป็น ‘ของต่างชาติ’ โดยประเทศต้นทางอาจสามารถควบคุมหรือหยุดการทำงานของระบบเหล่านี้ได้ แม้จะอยู่คนละทวีป

 

พล.อ.อ. มานัต ระบุว่า ไทยมีความเข้าใจในประเด็นนี้มานาน แต่ ‘ข้อจำกัดด้านขีดความสามารถ’ ยังคงเป็นอุปสรรค ส่วนแนวทางสู่ความเป็นอิสระคือ การพัฒนาอาวุธและซอฟต์แวร์ของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ และป้องกัน ‘การสูญเสียอธิปไตยทางเทคโนโลยี’

 

ตัวอย่างแนวทางเชิงปฏิบัติ แต่ละเหล่าทัพเริ่มเดินหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ตาม ‘สมุดปกขาว’ ของตนเองแล้ว ภายใน 5 ปี คาดว่าจะสามารถผลิตได้บางส่วนในประเทศ หากมีการแปลงแผนให้เป็นรูปธรรมได้ โดยจะเน้นการพัฒนาแบบ ‘Purchase + Development’ ซื้อบางส่วน แล้วร่วมกันพัฒนาภายในประเทศในระยะ 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์ครบถ้วน พร้อมเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าร่วมลงทุน และกำหนดเป้าหมายชัดเจนเรื่อง ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยี’ (Technology Transfer) ให้กับไทย

 

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ของสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น ไทยออกกฎหมายบังคับใช้: หน่วยงานภาครัฐและกองทัพต้องจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรก, จัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ: สนับสนุนเงินทุน R&D สำหรับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย, สร้างระบบประเมินภัยคุกคามในประเทศ: เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดว่าอาวุธชนิดใด “สมเหตุสมผล” ต่อการจัดซื้อ

 

พล.อ.อ. มานัต มองว่า แนวทางเหล่านี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ทั้งยังเชื่อว่า กลุ่ม SME และบุคลากรจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่าน สามารถปรับตัวมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคงได้ในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพา และการตกเป็นเครื่องมือของบรรดาชาติมหาอำนาจ

 

นอกจากการพึ่งพาอาวุธหรือการเลือกซื้ออาวุธ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Geopolitic แล้ว การซ้อมรบร่วมก็สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการพึ่งพาด้านความมั่นคงเช่นกัน

 

การฝึก Cobra Gold ในไทยที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับการซ้อมรบร่วมกับไทย ซึ่ง Cobra Gold นี้ มีจีนเข้าร่วมด้วย แต่เป็นการเข้าร่วมแบบจำกัด (Limited Participating Nation)

 

มีคำถามว่า จีนต้องการขยับสถานะขึ้นมาเป็นชาติที่เข้าร่วมฝึกเต็มรูปแบบเหมือนกับสหรัฐฯ หรือไม่ หรือไทยพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตอบ THE STANDARD ว่า ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้ไทยอยากที่จะคงสถานะการฝึกของจีนในระดับ ‘การเข้าร่วมแบบจำกัด’ เอาไว้ก่อน

 

สำหรับ Cobra Gold นั้น มี 7 ประเทศที่ ‘เข้าร่วมฝึกเต็มรูปแบบ’ (Fully Participating Nation) ได้แก่ ไทย สหรัฐฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

พล.อ. ทรงวิทย์ ระบุว่า การคงสถานะเดิมไว้จะ ‘ตอบโจทย์ประเทศไทยมากที่สุด’ เพราะหากมีการขยับสถานะให้ประเทศใด ก็จะมีประเทศอื่นอยากขยับด้วย หากจีนต้องการฝึกร่วม ก็สามารถฝึกกับไทยแยกต่างหากในรูปแบบ Bilateral หรือทวิภาคีได้

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา กองทัพเรือไทย-จีน เพิ่งเปิดฉาก ‘การซ้อมรบร่วม’ ทางทะเลภายใต้รหัส Blue-Strike 2025 บริเวณฐานทัพเรือในเมืองจ้านเจียง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว

 

รายงานระบุว่านี่เป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลระหว่างไทยกับจีน ซึ่งมี ‘การขยายขอบเขต’ การซ้อมรบจากระดับกองนาวิกโยธินสู่ระดับกองทัพเรือ โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือเชิงปฏิบัติ เพิ่มขีดความสามารถปฏิบัติการร่วม และมีส่วนส่งเสริมความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค โดยทั้งการซ้อมรบ Cobra Gold และการซ้อมรบร่วมกับจีน ต่างสะท้อนถึงความพยายามของไทยในการที่จะสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศมหาอำนาจ

 

ไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในประเด็นเรื่องความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ ‘อย่างรอบด้าน’ บริหารจัดการความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับแรก ท่ามกลางความผันผวนของโลกในยุคปัจจุบัน

 

ภาพ: NTB / Javad Parsa / Reuters / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising