สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (EEA) เปิดเผยรายงานที่น่าตกใจว่า คุณภาพอากาศย่ำแย่เป็นสาเหตุทำให้เด็กๆ เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควรอย่างน้อย 1,200 คนต่อปีเฉพาะในยุโรป ขณะที่มีเด็กอีกหลายพันคนต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางกายและทางจิต ซึ่งอาจเป็นผลกระทบที่จะอยู่กับพวกเขาไปตลอดชีวิต
เกราร์โด ซานเชซ มาร์ติเนซ (Gerardo Sanchez Martinez) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ EEA กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศนั้นอันตรายกับเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กจะได้รับมลพิษมากกว่า ซ้ำร้ายคือเด็กในยุคปัจจุบันได้รับมลพิษตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขาเริ่มเติบโตขึ้นตามช่วงวัย
รายงานระบุว่า เด็กๆ นั้นมีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศที่สกปรกเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถรับเอาอากาศสกปรกเข้าไปในร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีอัตราการหายใจที่รวดเร็วกว่า อีกทั้งความสูงของเด็กยังทำให้พวกเขาอยู่ห่างจากฝุ่นที่พื้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ และใช้เวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่าด้วย จากการศึกษาของ EEA ที่เผยแพร่ออกมานั้นระบุว่า ปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรของผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีทั่วยุโรปต่อปีอยู่ที่ 110,000 ปีสุขภาวะ
มลพิษทางอากาศสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้อย่างถาวร ที่ผ่านมานั้นมีหลายงานวิจัยที่ระบุตรงกันว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบอนุภาคมลพิษทางอากาศในปอดและเยื่อสมองของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ และหากมนุษย์ได้รับมลพิษทางอากาศสะสมมากๆ ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ก็จะส่งผลกระทบต่อความจุปอด ซึ่งจะทำให้เกิดโรคหอบหืด และนำไปสู่โรคทางเดินหายใจและการติดเชื้อในหูที่รุนแรงขึ้นตามมา อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ และยังอาจส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองอีกด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกมาตรการควบคุมระดับมลพิษทางอากาศให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อปกป้องพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด โดยเสนอแนะให้มีการลดแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ เช่น การจราจรบนท้องถนน การเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงแข็ง รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังควรมีการจัดตั้ง ‘โซนอากาศสะอาด’ รอบบริเวณโรงเรียน ตลอดจนการปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่มเติม การปลูกไม้เลื้อยตามผนัง และใช้พุ่มไม้มาทำแนวรั้วกั้นรอบสนามเด็กเล่น
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญยังเสนอแนะให้เปลี่ยนมาใช้การเดินไปโรงเรียนสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเสนอให้ปรับโครงสร้างการออกแบบโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กเล็ก โดยต้องปรับให้สามารถระบายอากาศได้ดีขึ้นและต้องมีตัวกรองอากาศ เพื่อลดโอกาสที่เด็กๆ จะสัมผัสกับฝุ่นพิษให้น้อยลงกว่าเดิม
แฟ้มภาพ: L Julia via Shutterstock
อ้างอิง: