×

นาซาพบน้ำพุบนผิวดวงจันทร์ยูโรปา ต่อยอดการค้นหาสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลก

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • นาซายืนยันพบน้ำพุพ่นออกมาจากพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี
  • การค้นพบครั้งนี้เป็นอีกหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า โลกไม่ใช่ดาวเคราะห์แห่งเดียวที่มีของเหลวและมีองค์ประกอบทางเคมีที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
  • นำไปสู่การวางแผนพัฒนาภารกิจยูโรปาคลิปเปอร์หลังปี 2563 เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา แถลงข่าวยืนยันการพบน้ำพุพ่นออกมาจากพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปา โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่วิเคราะห์ข้อมูลจากยานกาลิเลโอที่บันทึกไว้เมื่อ 21 ปีก่อน และภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลประกอบกัน คาดอาจส่งผลให้การสำรวจเก็บตัวอย่างน้ำและอนุภาคต่างๆ บนดวงจันทร์ยูโรปาเป็นไปได้ง่ายขึ้น เตรียมส่งยานสำรวจประมาณปี 2563 เป็นต้นไป

เมื่อปี 2555 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้บันทึกภาพดวงจันทร์ยูโรปาที่กำลังพ่นบางสิ่งออกไปในอวกาศเป็นระยะทางถึง 200 กิโลเมตร นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นน้ำจากใต้ผิวน้ำแข็งที่ถูกพ่นออกมา แต่ด้วยขีดจำกัดทางเครื่องมือ ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่กำลังพวยพุ่งออกมาจากพื้นผิวของมันคืออะไร


การวิจัยในครั้งนี้นำทีมโดย ดร.เซียนจือ เจีย นักฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า มีน้ำพุพุ่งออกมาจากผิวของดวงจันทร์ยูโรปาจริง โดยใช้ข้อมูลจากยานกาลิเลโอที่บันทึกไว้เมื่อ 21 ปีที่แล้ว

ภารกิจของยานกาลิเลโอเป็นภารกิจสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารระหว่างปี 2538 ถึง 2546 ซึ่งดร.เซียนจือ เจีย พบว่า ในปี 2540 ยานกาลิเลโอได้บินเข้าใกล้ดวงจันทร์ยูโรปาที่ระยะห่างเพียง 200 กิโลเมตร ข้อมูลที่ยานกาลิเลโอบันทึกไว้เป็นค่าสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์ยูโรปา พบตำแหน่งที่มีการแปรปรวนของข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งการแปรปรวนของข้อมูลในลักษณะนี้เป็นแบบเดียวกันกับที่พบในการสำรวจน้ำพุของดวงจันทร์เอนซาลาดัสของดาวเสาร์ จึงนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย ประกอบกับภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เมื่อปี 2555 ทำให้ได้ผลสรุปที่ชัดเจนว่าพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปามีน้ำพุพ่นออกมา

การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากน้ำจากภายในชั้นมหาสมุทรใต้ผิวน้ำแข็งหนาทึบสามารถพุ่งออกมาภายนอกได้ การจะสำรวจและเก็บตัวอย่างของน้ำก็จะเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเจาะลงไปถึงชั้นมหาสมุทร อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีข้อมูลอีกมากมายที่รอการตรวจสอบและค้นพบ หากนำเทคโนโลยีและวิธีการที่ทันสมัยมาใช้ในการวิเคราะห์ก็อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากในอดีตได้

นาซาจะเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาอีกครั้งภายใต้ชื่อภารกิจว่า ยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) ประมาณปี 2563 เป็นต้นไป วางแผนให้ยานอวกาศเข้าใกล้ดวงจันทร์ยูโรปาถึง 40 ครั้ง มีระยะห่างตั้งแต่ 100 กิโลเมตรจนถึง 15 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการบินเฉียดที่ใกล้ที่สุดและจงใจให้บินผ่านตำแหน่งที่มีการพ่นน้ำออกมา เพื่อเก็บตัวอย่างของน้ำและอนุภาคต่างๆ นำมาวิเคราะห์ต่อไป


ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การค้นพบน้ำพุบนดวงจันทร์ยูโรปาครั้งนี้เป็นอีกหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า โลกไม่ใช่ดาวเคราะห์แห่งเดียวที่มีของเหลวและมีองค์ประกอบทางเคมีที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับการค้นพบร่องรอยของแหล่งน้ำบนดาวอังคารและมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาวิเคราะห์และวางแผนการสำรวจเกี่ยวกับตำแหน่งของน้ำพุและการโคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปา นำไปสู่การวางแผนพัฒนาภารกิจยูโรปาคลิปเปอร์หลังปี 2563 เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

 

สำหรับดวงจันทร์ยูโรปา เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย พื้นผิวเป็นน้ำแข็งที่มีความเรียบมาก ความเรียบในระดับนี้บ่งชี้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาทำให้ร่องรอยอุกกาบาตต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นเลือนหายไป (ในขณะที่ดวงจันทร์ของโลกเราไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยาใดๆ ทำให้รอยอุกกาบาตที่เกิดขึ้นไม่เลือนหายไป) นอกจากนี้หลักฐานจำนวนมาก เช่น ลักษณะของเปลือกที่เป็นน้ำแข็ง น้ำพุที่พุ่งออกมาจากผิวที่ความสูงกว่า 200 กิโลเมตรจากพื้นผิว ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งประมาณ 170 กิโลเมตร มีชั้นของมหาสมุทรอยู่ ดวงจันทร์ยูโรปาถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2153 โดยสุดยอดนักดาราศาสตร์โลกชาวอิตาลี กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

อ้างอิง:

 

ข้อมูลโดย:  ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

เผยแพร่โดย: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
(ภาพ : NASA)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising