×

ยูโร 2020: ‘ปิร์โลแห่งยอร์กเชียร์’ คาลวิน ฟิ​ลลิปส์ ดาวเด่นคนใหม่แห่งทีมสิงโตคำราม

14.06.2021
  • LOADING...
คาลวิน ฟิ​ลลิปส์

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ในเกมที่สิงโตคำรามสามารถล้างตาโครเอเชีย คู่ปรับเก่าจากรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2018 ได้สำเร็จ ชื่อของ คาลวิน ฟิลลิปส์ กองกลางตัวรับ ซึ่งเป็นคนจ่ายบอลให้สเตอร์ลิงหลุดเข้าไปยิงประตูชัย
  • สิ่งที่หลายคนรวมถึงเจ้าตัวอาจไม่รู้มาก่อนคือ การที่ฟิลลิปส์นั้นเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่ ‘เอล โลโค’ หรือคนบ้าอย่าง มาร์เซโล บิเอลซา ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจในการขัดเกลาเด็กคนนี้ขึ้นมา

ว่ากันว่าทีมชาติอังกฤษชุดลุยยูโร 2020 น่าจะเป็นชุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปีเมื่อมีดาวเด่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี เคน, ราฮีม สเตอร์ลิง, มาร์คัส แรชฟอร์ด ไปจนถึงกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงสุดๆ อย่าง เมสัน เมาท์ และ ฟิล โฟเดน, ดีแคลน ไรซ์​ และ จูด เบลลิงแฮม

 

โดยที่ยังไม่ได้นับเสาหลักอย่าง แฮร์รี แม็กไกวร์ และ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ที่ติดทีมมาด้วย แม้ว่าสภาพร่างกายจะยังไม่พร้อมเต็มร้อยก็ตาม โดยเฉพาะรายหลังที่พักการเล่นมาตั้งแต่เดือนมกราคม และเพิ่งจะกลับมาเล่นในเกมอุ่นเครื่องก่อนทัวร์นาเมนต์เท่านั้น

 

แต่ชื่อที่ถูกกล่าวถึงด้วยความตื่นเต้นมากที่สุดหลังจบเกมนัดแรกที่สิงโตคำรามสามารถล้างตาโครเอเชีย คู่ปรับเก่าจากรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2018 ได้สำเร็จกลับเป็น คาลวิน ฟิลลิปส์ กองกลางตัวรับ ซึ่งเป็นคนจ่ายบอลให้สเตอร์ลิงหลุดเข้าไปยิงประตูชัย

 

ฟิลลิปส์ลงสนามในบทกองกลางเล่นร่วมกับ ดีแคลน ไรซ์ และ เมสัน เมาท์ และช่วยสะกดเกมแดนกลางซึ่งเป็นจุดแข็งของโครเอเชียที่มีนักเตะระดับแถวหน้าอย่าง ลูกา โมดริช, มาเตโอ โควาซิช และ มาร์เซโล โบรโซวิช ได้อย่างน่าประทับใจ

 

มีหลายจังหวะที่กองกลางวัย 25 ปี เดินหน้าไล่บด ไล่ชน จนนักเตะโครแอตแตกพ่าย แต่ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะฟิลลิปส์ยังมีพลังไดนามิกที่สามารถขับเคลื่อนทีมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งประตูชัยที่อังกฤษได้มาก็เกิดจากการที่เขาวิ่งเติมไปรับบอลจ่ายจาก  ไคล์ วอล์กเกอร์ ก่อนที่จะพาบอลจี้เข้าหากรอบเขตโทษ และจ่ายตัดหลังด้วยน้ำหนักและทิศทางที่สมบูรณ์แบบให้สเตอร์ลิงจบสกอร์

 

สถิติของฟิลลิปส์ในเกมนี้ยังยอดเยี่มมมากด้วยเช่นกัน โดยในช่วงครึ่งแรกเขาจ่ายบอลเข้าเป้าทุกลูกเต็มร้อย และเมื่อจบเกมแล้วตัวเลขการจ่ายบอลสำเร็จยังสูงที่สุดถึง 93.9 % สูงกว่าใครในทีม ไม่นับสถิติอื่นๆ เช่น การช่วยไล่บอล, จังหวะตัดบอล, โอกาสยิงเข้ากรอบ ที่เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมกับทีมในทุกบทบาท

 

“ผมรู้สึกดีมากๆ ที่สามารถทำแอสซิสต์และคว้า 3 คะแนนในเกมนี้ได้” ฟิลลิปส์กล่าวหลังจบเกม

 

“ปกติผมเป็นคนนิ่งๆ ไม่ได้สนใจว่าจะต้องเผชิญกับอะไร ผมแค่จะพยายามและทำให้ได้ตามแบบของตัวผมเอง ถ้าผมไม่มีเพื่อนร่วมทีมดีๆ รวมถึงสตาฟฟ์โค้ชที่ช่วยทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น ผมก็คงคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้แน่ๆ”

 

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ผู้บรรยายเกมในสถานีโทรทัศน์ที่อิตาลีเรียกเขาว่า ‘ปิร์โลแห่งยอร์กเชียร์’ และมันกลายเป็นฉายาที่ถูกจดจำไปแล้วจากแฟนบอล (แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าเล่นแบบนี้มันควรจะเป็น ‘ก็องเตแห่งยอร์กเชียร์’ มากกว่า!)

 

ทำไมถึงเป็นปิร์โลนะ?

 

 

 

กำเนิดปิร์โลแห่งยอร์กเชียร์

ความจริงฟิลลิปส์เคยเกือบที่จะย้ายออกจากถิ่นเอลแลนด์ โรด แล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

 

ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงหลังจบฤดูกาล 2017/18 โดยช่วงนั้นลีดส์ ยูไนเต็ด ยังอยู่ในระดับเดอะแชมเปียนชิป ผลงานไม่ใคร่จะสู้ดีนัก และทีมกำลังพิจารณาที่จะปล่อย 1 ใน 2 นักเตะจากอคาเดมีที่อยู่ในเกณฑ์ผู้เล่น Homegrown (HG) ออกไป

 

คนแรกคือ โรนัลโด วิเอรา ซึ่งเป็นดาวเด่นของทีมที่ฉายแสงนับตั้งแต่ลงประเดิมสนามครั้งแรกในปี 2016 และเป็นผู้เล่นระดับหลักของทีมชาติอังกฤษ ชุดอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนอีกคนคือ คาลวิน ฟิลลิปส์ ไอ้หนุ่มที่แม้จะมีส่วนช่วยให้ทีมได้ประตูเยอะ แต่ฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ เอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยที่แฟนๆ ส่วนใหญ่อยากให้สโมสรขายฟิลลิปส์ออกไปมากกว่า

 

แต่สุดท้ายแล้วเป็นวิเอราที่ย้ายออกไปซามพ์โดเรีย ทำเงินให้สโมสรได้ 8 ล้านยูโร ปล่อยให้ฟิลลิปส์ยังอยู่ที่เอลแลนด์ โรด ต่อไป

 

หลังจากนั้นลีดส์ได้มีการแต่งตั้ง มาร์เซโล บิเอลซา โค้ชระดับปรมาจารย์ของวงการลูกหนังที่มีคนฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมาย หนึ่งในนั้นคือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา แห่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งการมาของกุนซือชาวอาร์เจนตินาได้เปลี่ยนชีวิตของฟิลิลปส์ไปอย่างสิ้นเชิง

 

ในช่วงแรกที่บิเอลซามาคุมทีมได้มีการเรียกประชุมผู้เล่นทุกคนเพื่อมอบหมายเลขเสื้อที่จะได้สวมใส่ โดยในแต่ละหมายเลขก็จะสื่อถึงบทบาทที่แตกต่างกันออกไปด้วย และฟิลลิปส์ก็ต้องประหลาดใจกับหมายเลขที่เขาได้รับ

 

“จริงๆ ผมคิดว่าผมน่าจะได้เบอร์ 8 หรือเลขอื่นในทำนองนั้น แต่พอถึงชื่อผม เขาประกาศว่าผมจะได้ใส่เบอร์ 4 มันทำให้ผมประหลาดใจมาก เพราะผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะต้องเล่นตรงนั้น (หมายเลข 4 คือตำแหน่งตัวรับ)

 

“หลังการประชุมเขาบอกกับผมว่า เขาต้องการที่จะให้ผมเป็นกองกลางตัวรับ และผมจะต้องเล่นเกมรับรวมถึงลูกกลางอากาศได้ดีขึ้น ซึ่งตลอดมาผมคิดว่าตัวเองเป็นผู้เล่น Box-to-Box มาโดยตลอด

 

“ผมไม่ได้เป็นกองหลัง และผมไม่คิดว่าผมจะเป็นแบบนั้นด้วย ผมยิงประตูได้นิดหน่อยในฤดูกาลก่อนหน้า พอผมรู้ว่าผมต้องเล่นเป็นกองกลางตัวรับ ผมก็คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นี่เนี่ย”

 

ในช่วงแรกที่บิเอลซาคุมทีมเป็นช่วงที่ฟิลลิปส์ทรมานมากที่สุด เขาถูกเปลี่ยนตัวออกกลางคันในระหว่างพักครึ่งถึง 2 ครั้ง เพราะยังไม่เข้าใจกับบทบาทการเล่นได้ว่าโค้ชต้องการอะไรจากเขา

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มเข้าใจกับบทบาทใหม่และกลายเป็นกำลังสำคัญในทีมในฐานะ ‘กันชน’ อยู่หน้าแนวรับ แต่สามารถเติมไปช่วยเกมรุกได้ และยังผ่านบอลได้อย่างแม่นยำ รวมถึงยิงฟรีคิกได้แม่นยำด้วย และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แฟนบอลเริ่มเรียกเขาว่า ‘ปิร์โลแห่งยอร์กเชียร์’

 

แม้ว่าสุดท้ายแล้วลีดส์จะอกหักพลาดหวังในการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้นด้วยการพ่ายต่อดาร์บี เคาน์ตี ในเกมเพลย์ออฟ แต่เขาได้รับการเรียกตัวจาก แกเร็ธ เซาท์เกต ให้ติดทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เล่นของลีดส์คนแรกที่ติดทีมนับตั้งแต่ อลัน สมิธ เมื่อปี 2004 รวมถึงยังมีข้อเสนอจากแอสตัน วิลลา ที่อยากได้ตัวเขาเสริมทัพด้วย

 

นั่นเป็นครั้งที่ 2 ที่ฟิลลิปส์เกือบที่จะย้ายออกจากทีม 

 

“บอกตรงๆ ผมอยู่ในสถานการณ์ที่ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดี ผมเกือบจะย้ายออกไปแล้ว ผมเกือบจะพูดแล้วว่าผมอยากจะย้าย แต่ในเวลาเดียวกันผมก็ไม่อยากจะพูดออกไป

 

“แอสตัน วิลลา ติดต่อมา และพวกเขาก็ได้ขึ้นสู่ชั้นพรีเมียร์ลีก ผมรู้ว่าถ้าผมไป ผมก็จะได้เล่นในพรีเมียร์ลีก ซึ่งการที่ทีมของเราแพ้ ตกรอบเพลย์ออฟ มันเป็นเรื่องยากที่ผมจะยอมรับได้

 

“วันหนึ่งผมมาที่สโมสร แล้ว บิกตอร์ ออร์ตา ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอล บอกกับผมว่า ‘ฟังนะ ถ้าคุณอยากจะย้ายก็ขอแค่บอกให้รู้ ถ้าอยากจะไปให้บอกมาเลยตอนนี้ แล้วผมจะขายคุณออกไป’ แต่ผมบอกไปว่า ‘ผมไม่รู้’ พอตอบแบบนี้ บิกตอร์เลยบอกว่า ‘ถ้าคุณยังไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมก็ยังไม่ขายคุณ’”

 

ความลังเลของฟิลลิปส์ในวันนั้น กลายเป็นความลังเลที่ดีที่สุด เพราะมันทำให้เขายังมีโค้ชที่ชื่อ มาร์เซโล บิเอลซา คอยชี้แนะแนวทางให้ จนสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ไกลกว่าเดิมมาก

 

ฟิลลิปส์พาทีมขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในฤดูกาลต่อมา แม้จะมีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน จนพลาดเกมไปพอสมควร แต่ก็กลับมาปักหลักเป็นปิร์โลเวอร์ชันไดนาโมให้ลีดส์ทำผลงานร้อนแรงในช่วงปลายฤดูกาล

 

ผลงานดังกล่าวทำให้เซาท์เกต ซึ่งพักอาศัยใกล้ๆ แฮร์โรเกต อดไม่ไหวที่จะไปติดตามฟอร์มของกองกลางรายนี้บ่อยๆ โดยขณะที่ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน หรือ แฮร์รี วิงค์ส ถูกสลับปรับบทบาทไปเรื่อยๆ แต่ฟิลลิปส์ยังคงเล่นเป็น ‘ปิร์โล’ ให้ลีดส์ในทีมของบิเอลซาเสมอ

 

 

ผลงานมาสเตอร์พีซของ ‘คนบ้า’

สิ่งที่หลายคนรวมถึงตัวเจ้าอาจไม่รู้มาก่อนคือ การที่ฟิลลิปส์นั้นเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่ ‘เอล โลโค’ หรือคนบ้าอย่าง มาร์เซโล บิเอลซา ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจในการขัดเกลาเด็กคนนี้ขึ้นมา

 

ปกติแล้วบิเอลซามีความสามารถในการมองเห็นสิ่งดีๆ ในตัวลูกทีมเสมอ และรู้วิธีที่จะขัดเกลาให้เด็กๆ เหล่านั้นเก่งขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง

 

เหมือนตัวอย่างของ เบน ไวท์ กองหลังที่ดูไม่น่ามีแววเอาเสียเลยในตอนแรก แต่ถูก ออร์ตาบอกให้ดึงตัวมาเพื่อทดแทน พอนตุส แยนส์สัน กองหลังที่สร้างปัญหาให้แก่บิเอลซาในการทำงานมากเกินไป

 

บิเอลซาได้เห็นเด็กคนนี้ และรู้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นแค่กองหลังที่เก่ง แต่ยังสามารถเป็นผู้เล่นสารพัดประโยชน์ได้ด้วย และขัดเกลาด้วยวิธีการใช้ความท้าทาย โดยในการซ้อมที่จริงจัง เข้มข้น เหมือนนัดชิงฯ ฟุตบอลถ้วยทุกวัน ไวท์จะต้องไปประกบผู้เล่นที่สูงที่สุดในทีม บางวันก็โดนจับไปเล่นเป็นกองกลาง โดยมีฟิลลิปส์เป็นคู่ประคอง และทำให้เขาสามารถเล่นได้ทั้งกองหลังตัวกลาง แบ็กขวา และกองกลางตัวรับ ได้อย่างไม่ขัดเขิน

 

ไวท์เป็นหนึ่งในนักเตะของทีมที่บิเอลซาจะใช้เวลา 15 นาทีในการสอนเป็นการส่วนตัวในการประชุมก่อนเกม แต่ฟิลลิปส์นั้นมีความหมายกับเขามากกว่านั้น

 

ฟิลลิปส์คือโปรเจกต์ส่วนตัวของบิเอลซา ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการแค่เพียงที่จะเปลี่ยนให้เป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดี มีอนาคตไกลเท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายในการที่จะเปลี่ยนให้เด็กที่เคยเป็นเด็กมีปัญหากลายเป็นคนที่ดีให้ได้ด้วย

 

ในเรื่องของฟุตบอล ฟิลลิปส์เป็นคนที่ถูกบิเอลซาเคี่ยวกรำมากที่สุด ในการซ้อมทุกวันจะถูกกดดันอย่างหนักให้ทำผลงานที่ดีที่สุดออกมาให้ได้ และจะมีการมอบ ‘การบ้านพิเศษ’ ให้ไปซ้อมเพิ่ม เช่น การขี่จักรยาน โดยมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ไม่นับเรื่องของ ‘น้ำหนัก’ ที่เป็นสิ่งที่กุนซือชาวอาร์เจนไตน์ซีเรียสอย่างมาก โดยทุกเช้าผู้เล่นจะต้องถูกตรวจโดยเครื่อง DEXA ว่ามีน้ำหนักเท่าไร มวลร่างกายแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ซึ่งหากพบว่ามีอะไรที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน นั่นหมายถึงงานเข้าแล้วสำหรับนักเตะ ซึ่งฟิลลิปส์ก็มีช่วงที่งานเข้าเหมือนกัน

 

การเคี่ยวกรำนี้เป็นเพราะบิเอลซาอยากให้เขาเล่นในบท ‘หมายเลข 4’ ที่มีพลังความอึดมากพอที่จะวิ่งครอบคลุมพื้นที่สนามได้ และยังต้องมีพลังที่จะสามารถระเบิดความเร็วในการวิ่งระยะสั้น เพื่อที่จะฉีกตัวไปรับบอลและเพิ่มความเร็วในจังหวะการเซ็ตอัพของทีม

 

ก่อนเกมทุกนัด บิเอลซาจะใช้เวลากับฟิลลิปส์มากกว่าคนอื่น โดยบางครั้งมีการพบมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่ออธิบายอย่างละเอียดถึงวิธีการวิ่ง การเคลื่อนไหว และสิ่งที่เขาควรมองเห็นระหว่างเกม

 

มีหลายครั้งที่ฟิลลิปส์เล่นไม่ได้ดั่งใจ และบิเอลซาดูฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดอย่างมากจนชวนคิดว่าคงจะไม่รอดแล้ว แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้น กุนซือชาวอาร์เจนไตน์ก็ลืมเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานหมดแล้ว เพราะสำหรับเขา ลูกทีมไม่ใช่แค่นักฟุตบอล แต่เหมือนลูกในครอบครัว และโดยเฉพาะฟิลลิปส์ที่เป็นเหมือนลูกรัก

 

ถึงจะหนักหนาสาหัส แต่ฟิลลิปส์ก็ค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่บิเอลซาพยายามพร่ำสอน ซึ่งแม้มันจะเป็นหลักวิธีแบบโบราณที่ ‘สอนด้วยไม้เรียว’ แต่มันก็ทำให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ไม่ใช่แค่การเป็นกองกลางระดับแถวหน้าของพรีเมียร์ลีก วันนี้เขากลายเป็นกองกลางขวัญใจชาวอังกฤษที่มีโอกาสจะกลายเป็นเสาหลักของทีมในอีกหลายปีข้างหน้า

 

แต่มากกว่านั้นคือการที่เขากลายเป็นคนที่ดีขึ้น และวันนี้ฟิลลิปส์กำลังกลายเป็น ‘ไอดอล’ ของเด็กๆ ในอคาเดมีของสโมสร

 

ปกติในการซ้อมของทีมลีดส์ บิเอลซาต้องการผู้เล่นรวมทั้งหมด 33 คน เพื่อกระจายไปใน 3 สนามซ้อม ซึ่งทุกครั้งที่มีเด็กจากทีมรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ 23 ปี ขึ้นมาเล่น ฟิลลิปส์จะเป็น ‘พี่ใหญ่’ ที่คอยกระตุ้นและให้คำแนะนำแก่เด็กๆ อย่างจริงจังและจริงใจ

 

เพราะเขารู้ดีว่าหากทุกคนตั้งใจก็มีโอกาสที่จะกลายเป็น คาลวิน ฟิลลิปส์ คนต่อไป เหมือนที่เขาได้รับการขัดเกลาจากบิเอลซาจนกลายเป็นคนใหม่

 

และจากฟอร์มของเขาในเกมแรกของฟุตบอลยูโร คงไม่มีใครจะมีความสุขไปมากกว่า ‘เอล โลโค’ อีกแล้ว 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X