×

EU จับมือ UN ดันโครงการ ‘PROTECT’ คุ้มครองแรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กในอาเซียน

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2024
  • LOADING...

สหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ทุนสนับสนุนกว่า 13 ล้านยูโร (ราว 500 ล้านบาท) แก่องค์การสหประชาชาติ (UN) ภายใต้โครงการความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อว่า ‘PROTECT’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

 

เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้คนทั่วโลกถูกบีบบังคับให้ต้องทิ้งบ้าน เพื่อเสาะหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม ในการเดินทางข้ามพรมแดน และที่จุดหมายปลายทาง แรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กมีความเสี่ยงที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ 

 

“สหภาพยุโรปมีความภาคภูมิใจที่จะสนับสนุนภาคีสหประชาชาติในโครงการใหม่ที่มุ่งแก้ปัญหาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกนี้ในระดับภูมิภาค เราจะทำงานร่วมกับประเทศไทยและประเทศภาคีอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงและเด็ก เสริมสร้างการบริหารจัดการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นแรงงาน แก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ รวมถึงพัฒนาช่องทางทางกฎหมาย สำหรับนโยบายการย้ายถิ่นของแรงงานที่ยั่งยืน”

 

ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีผู้ย้ายถิ่นประมาณ 10.6 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และอีก 1.3 ล้านคนเป็นเด็ก แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ได้รับค่าจ้างต่ำเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ ความรุนแรง และการคุกคาม 

 

แรงงานหญิงข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมักเป็นงานชั่วคราวและได้รับการคุ้มครองทางสังคมเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมเลย ขณะที่เด็กๆ ที่ติดตามแรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับการละเมิด การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการค้ามนุษย์ รวมถึงการเข้าถึงการบริการเพื่อการคุ้มครองเด็กที่ไม่เพียงพอ

 

โครงการ PROTECT ดำเนินงานภายใต้ 4 หน่วยงานของ UN ไม่ว่าจะเป็นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), UN Women, UNODC และ UNICEF ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยจะมุ่งส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและลดความเปราะบางของกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วยการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การป้องกันและการรับมือกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก การค้ามนุษย์ และการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ

 

กีต้า ซับฮาร์วาล ผู้ประสานงานประจำ UN ชี้ว่า ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย, EU และ UN ถือว่าเป็น ‘หลักสำคัญ’ ด้านสิทธิของผู้ย้ายถิ่น ขณะที่ ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการ ILO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า “การย้ายถิ่นของแรงงานถือเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง สร้างประโยชน์ให้กับแรงงานข้ามชาติ ชุมชน และนายจ้าง”

 

ด้าน อาเลีย เอล-ยาสซีร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก UN Women ระบุว่า “เราจะส่งเสริมสิทธิต่างๆ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติหญิงผ่านโครงการความร่วมมือนี้ เพื่ออนาคตที่แรงงานข้ามชาติหญิงทุกคนสามารถใช้ชีวิตและทำงานโดยปราศจากความหวาดกลัวและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ส่วน เดโบรา โคมินี ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก UNICEF ชี้ว่า “เด็กข้ามชาติมีความเปราะบางอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการย้ายถิ่นของแรงงาน เด็กทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าสถานภาพด้านการย้ายถิ่นของเด็กเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร” 

 

มาซุด คาริมิพัวร์ ผู้แทน UNODC เน้นย้ำว่า “เพื่อทำลายวงจรการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและการละเมิด การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติที่ถูกลักลอบพาเข้าเมืองก่อนและระหว่างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาถือเป็นสิ่งสำคัญ”

 

โครงการ PROTECT จะดำเนินการจนถึงเดือนธันวาคม 2026 โดยต่อยอดจากผลการดำเนินโครงการและบทเรียนต่างๆ จากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก EU ในปีที่ผ่านๆ มาสองโครงการ ได้แก่ โครงการ ‘ปลอดภัยและยุติธรรม: การทำให้สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติหญิงเป็นจริงในภูมิภาคอาเซียน’ ที่ดำเนินโครงการโดย ILO, UN Women, UNODC ระหว่างปี 2018-2023 และ ‘การคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง’ ที่ดำเนินโครงการโดย UNICEF ระหว่างปี 2018-2022

 

แฟ้มภาพ: Catastrophe_OL / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X