วานนี้ (6 ธันวาคม) สหภาพยุโรป (EU) เห็นพ้องที่จะออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่ามาจำหน่ายในตลาด EU
ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ บริษัทต่างๆ จะต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นว่า ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการตัดไม้ทำลายป่า ก่อนที่จะจัดส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในยุโรป หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก หรือสูงสุด 4% ของผลกำไรบริษัท โดยกฎหมายนี้จะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ หนังสัตว์ ช็อกโกแลต และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
คริสตอฟ แฮนเซน หัวหน้าคณะเจรจาของรัฐสภายุโรป กล่าวว่า “ผมหวังว่ากฎระเบียบใหม่นี้จะสร้างแรงผลักดันในการปกป้องผืนป่าทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในการประชุม COP15”
หลังจากนี้ประเทศสมาชิก EU และรัฐสภายุโรป จะต้องอนุมัติการบัญญัติกฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะส่งผลให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในอีก 20 วันต่อมา โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีเวลาอีก 18 เดือนในการเตรียมตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ส่วนบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าจะได้รับการผ่อนผันให้มีเวลาเตรียมตัวนานกว่าที่ 24 เดือน
ทั้งนี้ ต้นไม้ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกรวน เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ฉะนั้นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยสำนักข่าว Reuters รายงานว่า ประเด็นเรื่องการทำลายผืนป่านั้นจะเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุม COP15 ในสัปดาห์นี้ ซึ่งประเทศต่างๆ จะร่วมกันแสวงหาข้อตกลง เพื่อปกป้องธรรมชาติบนโลกของเราต่อไป
อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่จ่อได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย มองว่า พวกเขาต้องรับภาระหนักขึ้นและอาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้การตรวจสอบเอกสารรับรองก็ทำได้ยาก เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของสินค้าบางชนิดอาจกระจายไปยังหลายประเทศ
แฟ้มภาพ: Marten_House Via Shutterstock
อ้างอิง: