×

กูรูมองข้อตกลงกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติของ EU ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริง

21.12.2022
  • LOADING...

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ชาติสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงในการกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบของภาคครัวเรือนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้หากราคาสัญญาก๊าซพุ่งขึ้นเกินระดับ 180 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วัน และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 เป็นต้นไป

 

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงเปิดช่องให้การกำหนดราคาเพดานก๊าซดังกล่าวสามารถถูกยกเลิกได้ทันที หากมีการประเมินว่าก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศสมาชิก เช่น การหยุดชะงักของแหล่งอุปทาน กระทบต่อกลไกสนับสนุนก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศ หรือกระเทือนต่อแผนความพยายามลดการใช้ก๊าซในยุโรป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ก่อนหน้านี้กลุ่ม EU เคยพูดคุยกันว่าจะกำหนดเพดานราคาก๊าซไว้ที่ 275 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง แต่แผนดังกล่าวถูกคัดค้านจากสเปน โปแลนด์ และกรีซ ที่มองว่าตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไป จนมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ 180 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในที่สุดหลังมีการหารืออย่างเข้มข้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

 

แผนการดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากเยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค ก่อนที่จะกลับมายกมือผ่านแผนกำหนดเพดานราคาก๊าซ โดยมีเงื่อนไขที่เปิดทางให้ EU สามารถยุติการใช้เพดานราคาก๊าซตามที่ระบุไว้ได้ ขณะที่ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ของดออกเสียง โดยให้เหตุผลว่าแผนการดังกล่าวเสี่ยงกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงทางซัพพลายพลังงานของประเทศ 

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่ากลไกที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ และอาจไม่สามารถต้านทานความเป็นจริงของวิกฤตอุปทานก๊าซในปี 2023 ขณะที่ชาติสมาชิกส่วนใหญ่ของ EU ยังคงกังวลว่าประเทศของตนอาจจะดำเนินการอย่างยากลำบากในการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตอื่นๆ มาเติมคลังก๊าซสำรองรองรับการใช้งานในฤดูหนาวปีหน้า

 

Rob Jetten รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า กลไกดังกล่าวยังคง “ไม่ปลอดภัย” แม้ว่าจะมีการปรับปรุงล่าสุดก็ตาม พร้อมฟันธงว่ามาตรการดังกล่าวนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานของยุโรป เสี่ยงต่อความมั่นคงของอุปทาน และมีผลกระทบทางการเงินในวงกว้าง 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถของกลไกในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดย Nathan Piper หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันและก๊าซของ Investec ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายระหว่างการกำหนดเงื่อนไขและบังคับใช้ กับความเป็นจริงของความมั่นคงของอุปทานพลังงาน เพราะในความเป็นจริงแล้วหากจำเป็นต้องใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจริงๆ สมาชิก EU ย่อมยินดีที่จะควักเงินจ่าย ไม่ว่าราคาพลังงานดังกล่าวจะอยู่ที่เท่าใดก็ตาม 

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ในระหว่างที่ยุโรปแสวงหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ ยุโรปก็ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค เช่น จีน ที่เร่งหาแหล่งพลังงานป้อนเข้าประเทศเช่นกัน โดยทั้ง EU และจีน ต่างก็เป็นชาติที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากกว่า 70% ของพลังงานทั้งหมด

 

ด้าน Janko Lukac นักวิเคราะห์อาวุโสของ Moody’s Investors Service เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า ประสิทธิภาพของการจำกัดราคาซื้อจากสหภาพยุโรปฝ่ายเดียวนั้นไม่แน่นอนอย่างมาก ซึ่ง Lukac มองว่าตลาด LNG ทั่วโลกและเชิงโครงสร้างจะอยู่ภาวะช็อตในอีก2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้นหากผู้ซื้อจากต่างประเทศยินดีจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ยุโรปก็จะเสี่ยงที่จะเสียปริมาณการซื้อขายพลังงานดังกล่าวไปให้กับผู้ซื้อรายอื่นที่พร้อมจ่ายแพงกว่า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising