×

นโยบายวัคซีน EU จุดแข็ง จุดอ่อน กับเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนกันยายน 2021

25.01.2021
  • LOADING...
นโยบายวัคซีน EU

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • สหภาพยุโรปสั่งซื้อวัคซีนร่วมกันในนามกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทผู้ผลิต และรับประกันว่าประชาชนใน 27 ประเทศสมาชิกจะได้วัคซีนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายหลายอย่างจะมีจุดแข็ง แต่ก็พบอุปสรรคไม่น้อยในขั้นตอนการแจกจ่ายวัคซีน ไปดูกันว่ามีอะไรที่เป็นกรณีศึกษาได้บ้าง โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐ ซึ่งขาดไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) ประกาศตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปลายเดือนกันยายน 2021 โจทย์นี้ไม่ยากเกินไปสำหรับสหภาพยุโรปที่มีศักยภาพในการคิดค้นและผลิตวัคซีน แต่ก็ใช่ว่าจะง่าย เมื่อยุโรปดูจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ ไปจนถึงการแจกจ่ายและฉีดวัคซีน จึงเป็นที่น่าวิเคราะห์ว่าจุดแข็งและจุดอ่อนในนโยบายวัคซีนของสหภาพยุโรปอยู่ตรงไหน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมการฉีดวัคซีนของไทยได้ไม่มากก็น้อย  

 

การจัดซื้อวัคซีนร่วมในนามสหภาพยุโรป

ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ตัดสินใจจัดซื้อวัคซีนร่วมกันในนามของสหภาพยุโรป โดยมองว่า การจัดซื้อร่วมดีกว่าที่แต่ละประเทศจะต้องไปเจรจากับบริษัทวัคซีนเอง กล่าวคือสามารถใช้งบประมาณของสหภาพยุโรปเพื่อสนับสนุนการวิจัยของบริษัท ภายใต้เงื่อนไขว่า หากวัคซีนสำเร็จ สหภาพยุโรปจะได้วัคซีนเป็นอันดับแรกๆ 

 

นอกจากนี้การสั่งซื้อออร์เดอร์ใหญ่ทำให้สหภาพยุโรปมีอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้น และทำให้มั่นใจว่าประชาชนในทั้ง 27 ประเทศสมาชิกจะได้รับวัคซีนพร้อมกันอย่างทั่วถึง และสามารถออกจากวิกฤตการแพร่ระบาดได้พร้อมๆ กัน เพราะหากมีเพียงประเทศใหญ่ที่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้เร็ว แต่ประเทศเล็กยังไม่ได้วัคซีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคที่ไร้พรมแดนอย่างยุโรป ก็จะไม่สามารถยุติได้ การจัดซื้อวัคซีนร่วมของสหภาพยุโรปจึงถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตในอนาคต

 

สหภาพยุโรปได้สั่งจองวัคซีนไว้กับบริษัททั้งหมด 6 ราย ได้แก่ BioNTech-Pfizer, Moderna, AstraZeneca, Sanofi-GSK, Johnson & Johnson, CureVac นอกจากนี้กำลังเจรจากับอีก 2 บริษัท คือ Novavax และ Valneva 

 

โดย อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “จะมีใครรู้ได้ว่าวัคซีนตัวใดจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงได้เลือกจองวัคซีนไว้หลายตัวตั้งแต่เริ่มแรก” 

 

และหลังจากที่วัคซีน BioNTech-Pfizer ได้รับอนุมัติเป็นตัวแรก สหภาพยุโรปได้เพิ่มออร์เดอร์วัคซีนของ BioNTech-Pfizer ขึ้นอีก 300 ล้านโดส รวมวัคซีนที่สหภาพยุโรปสั่งจองไว้ทั้งหมดแล้วจำนวนกว่า 2.3 พันล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอกับจำนวนประชากร 447 ล้านคนอย่างแน่นอน และน่าจะสามารถบริจาคให้กับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้ กล่าวอีกนัยคือสามารถใช้เป็นเครื่องมือการทูตวัคซีนหรือ Vaccine Diplomacy ต่อไป      

 

BioNTech-Pfizer วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก คิดค้นในเยอรมนี ผลิตในเบลเยียม

บริษัท BioNTech เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมัน ซึ่งเชี่ยวชาญงานวิจัยโรคมะเร็ง แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ก็ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยี mRNA ซึ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง มาปรับใช้เพื่อผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 โดย BioNTech ได้รับเงินสนับสนุนทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสหภาพยุโรปเพื่อการวิจัยกว่า 150 ล้านยูโร (5.4 พันล้านบาท) 

 

การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐถือว่ามีความสำคัญยิ่งในงานวิจัยด้านการแพทย์ที่นักลงทุนเอกชนอาจลังเล เนื่องจากต้องใช้เงินทุนสูง และความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ก็สูงด้วย การคิดค้นวัคซีนครั้งนี้ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาปกติประมาณ 10 ปี โดย BioNTech ได้จับมือกับบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Pfizer ซึ่งเข้ามาดูแลด้านการทดลองทางคลินิกและผลิตวัคซีน นอกจากนี้ความสำเร็จของ BioNTech ยังสะท้อนภาพเชิงบวกของผู้อพยพและความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากซีอีโอบริษัท BioNTech เป็นคู่สามีภรรยาชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี

 

โรงงานผลิตวัคซีน BioNTech-Pfizer ตั้งอยู่ที่ Puurs ประเทศเบลเยียม ซึ่ง ฟาน เดน ฮอยเวล นายกเทศมนตรีเมือง เล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงปัจจัยดึงดูดให้เมืองขนาดจิ๋ว ซึ่งมีประชากรอยู่เพียง 17,000 คน กลายเป็นศูนย์กลางคลัสเตอร์อุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่สำคัญของยุโรปมากว่า 50 ปี ประการแรกคือตำแหน่งที่ตั้งของเมือง ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสนามบินบรัสเซลส์กับท่าเรือเมืองแอนต์เวิร์ป มีเส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมอย่างดี ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวก ประการที่ 2 คือนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างชาติของรัฐบาลเบลเยียมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วยดึงดูดบริษัทสหรัฐฯ เข้ามาตั้งโรงงาน และประการที่ 3 คือการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ที่ทำให้เมืองเล็กๆ อย่าง Puurs สามารถรักษาสถานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ของยุโรปมาได้ตลอด 50 ปี  

 

การแจกจ่ายและฉีดวัคซีน

จนถึงปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้อนุมัติวัคซีนของ 2 บริษัทแล้ว คือ BioNTech-Pfizer และ Moderna หลังจากนี้คาดว่า สหภาพยุโรปจะอนุมัติวัคซีนของ AstraZeneca ในปลายเดือนมกราคม และวัคซีน Johnson & Johnson ในเดือนกุมภาพันธ์  อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระบวนการอนุมัติวัคซีนของสหภาพยุโรปมีความยุ่งยากทางเอกสารที่ทำให้การอนุมัติวัคซีนล่าช้ากว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ  

 

สหภาพยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2020 โดยไม่คิดค่าวัคซีน และการฉีดวัคซีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ อย่างไรก็ดี การแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมีประเด็นท้าทายเชิงโลจิสติกส์หลายประการ เช่น การเก็บรักษาวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม การจัดเตรียมระบบ IT เพื่อวางแผนและลงทะเบียนประชาชนที่มีสิทธิ์เข้ารับวัคซีนตามลำดับก่อนหลัง การสร้างศูนย์ฉีดวัคซีนขึ้นใหม่เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้เข้ารับบริการ (ไม่พึ่งพาเฉพาะแต่โรงพยาบาล) การระดมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน เป็นต้น 

 

โดยในช่วงเริ่มต้นหลายประเทศในยุโรปประสบปัญหา เช่น เนเธอร์แลนด์ใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนก่อนจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนได้ เพราะยังเตรียมระบบลงทะเบียนไม่เสร็จ หลายประเทศประสบปัญหาเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนของ BioNTech-Pfizer ที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิ -70 องศา หรือปัญหาความล่าช้าในการเริ่มฉีดวัคซีนให้คนชรา ซึ่งเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนไปยังบ้านพักคนชราแต่ละหลังต้องใช้เวลามากกว่าการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เพื่อให้คนเดินทางมารับบริการด้วยตนเอง ทั้งนี้ ท่ามกลางปัญหามากมาย ก็มีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน เช่น การค้นพบว่าหากใช้เข็มฉีดยาประเภท Low Dead Space Syringe (เข็มฉีดยาไม่มีเข็ม) วัคซีนของ BioNTech-Pfizer 1 ขวด จะฉีดได้ถึง 6 โดส (เพิ่มจากที่บริษัทแจ้งไว้ที่ 5 โดส) และการอาสาเข้ามาช่วยบริหารจัดการการฉีดวัคซีน เช่น การลงทะเบียนและการจัดสถานที่โดยกลุ่มอุตสาหกรรมจัดงานอีเวนต์

 

ปัญหาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลคือ กรอบเวลาการจัดส่งวัคซีนของบริษัทที่มีความไม่แน่นอนสูง เมื่อกลางเดือนมกราคม บริษัท BioNTech-Pfizer แจ้งว่าจะจัดส่งวัคซีนได้ล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากกำลังปรับปรุงโรงงานเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากขึ้น ต่อมาบริษัท AstraZeneca ก็แจ้งว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้สหภาพยุโรปได้เพียง 31 ล้านโดสภายในเดือนมีนาคม จากเดิมที่สัญญาไว้ที่ 80 ล้านโดส (ลดลงกว่าร้อยละ 60) และบริษัท Johnson & Jonson ประกาศว่าแผนที่จะผลิตวัคซีนให้ได้ 12 ล้านโดสภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะต้องขยายออกไปอีก 2 เดือนจนถึงเมษายน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและทั่วโลกฝากความหวังไว้กับวัคซีนสองตัวหลังมาก เพราะวัคซีนของ AstraZeneca มีราคาถูกและเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ในขณะที่วัคซีน Johnson & Johnson ต้องฉีดเพียง 1 โดสเท่านั้น (ต่างจากวัคซีนตัวอื่นที่ต้องฉีด 2 โดส)

 

ดังนั้นขั้นตอนการวางแผนและเตรียมการสำหรับการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้ประชาชนจึงมีความสำคัญมาก รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย และความพร้อมที่จะปรับตัวและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา

 

สภายุโรปเรียกร้องความโปร่งใสของสัญญาสั่งซื้อวัคซีน

อีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในยุโรปคือ เรื่องความโปร่งใสของการจัดทำสัญญาระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป (หน่วยงานฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป) กับบริษัทวัคซีน โดยสภายุโรปในฐานะผู้แทนประชาชนเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยเนื้อหาสัญญาที่ทำกับบริษัท รวมทั้งกระบวนการพิจารณาคัดเลือกบริษัท ปาสกาล ก็องแฟง ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของสภายุโรป กล่าวว่า ตนไม่ได้ขอให้มีการเปิดเผยสัญญาทั้งฉบับ แต่เห็นว่ามีข้อมูล 5 เรื่องที่ภาครัฐควรเปิดเผยแก่ประชาชน ได้แก่ ราคาวัคซีน สถานที่ผลิต ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อบทเรื่องความรับผิด และกรอบเวลาการจัดส่งวัคซีน ซึ่งฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรปตอบว่าจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทวัคซีนจึงจะเปิดเผยสัญญาได้ หลังการถกเถียงมาหลายเดือน ในที่สุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม บริษัท CureVac เป็นบริษัทแรกที่ยอมเปิดเผยสัญญา โดยให้ ส.ส. ยุโรป เข้าอ่านสัญญาได้ในห้องที่จัดไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องและต้องเซ็นสัญญาเก็บรักษาความลับก่อนเข้าห้อง และให้เวลาอ่าน 45 นาที ก็องแฟงกล่าวภายหลังได้อ่านสัญญาของ Curevac ว่า แม้ว่าเอกสารที่ตนได้อ่านจะยังไม่มีข้อมูลครบตามที่ต้องการ แต่ตนก็รู้สึกขอบคุณ Curevac ที่เป็นบริษัทแรกที่ยอมเปิดเผยสัญญา และนี่เป็นเพียงก้าวแรกแต่ยังไม่ใช่ก้าวสุดท้าย ต่อมาสัญญาของบริษัท Curevac ได้ถูกนำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว และบริษัท BioNTech-Pfizer ได้ประกาศว่าจะเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะเช่นกัน  

 

มองไปข้างหน้า งานใหญ่ของสหภาพยุโรปคือการทำงานร่วมกับบริษัทผลิตวัคซีนเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการจัดทำสมุดวัคซีนเพื่อให้บุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี มีหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มออกสมุดวัคซีน เพื่อไม่สร้างความรู้สึกเหลื่อมล้ำให้แก่กลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมทั้งประเด็นการบริจาควัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนา หรือเรียกว่าการทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือส่งเสริมบทบาทของสหภาพยุโรปในเวทีโลก แข่งกับมหาอำนาจอื่น เช่น จีน ที่จะใช้การทูตวัคซีนเช่นเดียวกัน

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

ภาพ: peterschreiber.media Via ShutterStock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising